วิกฤติโควิด-19 ทำให้คนทั้งโลกตื่นตัว เรื่องความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยขึ้นหลายเท่าตัว จนก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่ผู้คนหันมาทุ่มเทใส่ใจกับสุขภาพมากกว่าความร่ำรวยเงินทอง สร้างนิยามความมั่งคั่งยุคใหม่ “The first wealth is health” ความมั่งคั่งอันดับแรกคือการมีสุขภาพที่ดี

ก็เพราะโลกยุคหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Healthcare Industry) จึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันยุคทันสมัย ในรายงานของ PwC “Global Top Health Industry Issues 2021” พาไปเจาะ “4 เทรนด์อนาคตธุรกิจมาแรงในภาคบริการสุขภาพ”

...

นำเทรนด์โดย “บริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์” การแพร่ระบาดของโควิดเร่งให้บริการทางการแพทย์เสมือนจริง (Virtual Care) ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวินิจฉัยโรค และให้คำปรึกษาผู้ป่วยผ่านทางออนไลน์ในแบบเรียลไทม์ ทำให้ลดขั้นตอนไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิวที่โรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งของไทย เปิดให้บริการทางการแพทย์เสมือนจริงแล้ว พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน จากการรายงานของ PwC พบว่า 91% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแนวโน้มจะเข้ารับการรักษาในรูปแบบนี้ต่อไปหลังจบโควิด ตอกย้ำชัดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะต้องหันมาใช้นวัตกรรมสุขภาพ และเทคโนโลยีสำหรับสุขภาพแบบครบวงจร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่คนไข้

“ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง” การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับธุรกิจบริการสุขภาพในอนาคต เพื่อช่วยลดต้นทุนการบริหาร, สร้างความผูกพันกับคนไข้ และลดอัตราการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเวชระเบียนที่ใช้บันทึกเก็บรวบรวมประวัติผู้ป่วย, เอกสารอื่นๆที่ใช้ประกอบการตัดสินใจทางการแพทย์ และเอกสารทางการแพทย์ในรูปแบบดิจิทัล โดยรายงานของ PwC พบว่า สถานการณ์แพร่ระบาดได้เร่งให้เกิดการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมากขึ้น เช่น แจ้งเตือนให้คนไข้เข้ารับการรักษาตามเวลานัดหมาย, วางแผนรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมตามประวัติผู้ป่วยและอาการของโรค ตลอดจนใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาใหม่ๆ ซึ่งในบางประเทศ บริหารข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมาก สามารถนำดาต้าเบสเหล่านี้มาช่วยจัดสรรวัคซีนได้อย่างทันท่วงที

...

“การทดลองทางคลินิกจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากขึ้น” นับจากนี้การรับสมัครอาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยหรือติดตามผลการใช้ชุดทดลองจะเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพราะช่องทางดังกล่าวสามารถดึงดูดอาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยได้หลากหลายขึ้น โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องความห่างไกลของระยะทาง ผลสำรวจของ PwC ระบุว่า 66% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยินดีร่วมการทดลองทางคลินิกในรูปแบบดิจิทัล อย่างไรก็ดี ความน่าเชื่อถือและความกังวลด้านสุขภาพ เป็นปัจจัยหลักที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น

...

...

“เร่งพัฒนาความสามารถของห่วงโซ่อุปทานให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว” วิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็น เช่น สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม, เครื่องช่วยหายใจ หรือแม้แต่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในอนาคตผู้ให้บริการด้านสุขภาพจึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่น, เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และพยายามหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค หรือในประเทศตนเองมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง...อย่าแทงม้าตัวเดียว ถึงจะรอดจากวิกฤติ!!