“การพูด” เป็นพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยอาศัย “ภาษา” เป็นตัวสื่อความหมายของสิ่งที่พูด เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ และตอบสนองสิ่งที่ผู้พูดต้องการ ดังนั้นหากเกิดปัญหาในการสื่อสาร ซึ่งทำให้ผู้ฟังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ซึ่งในปัจจุบันมี “นักแก้ไขการพูด” ที่จะเข้ามาดูแลและช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ ซึ่งคอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” สัปดาห์นี้จะพาไปรู้จักอาชีพนี้กันให้มากขึ้น
นักแก้ไขการพูด คือใคร?
“นักแก้ไขการพูด” เป็นวิชาชีพหนึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องไปสอบใบประกอบโรคศิลปะ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแก้ไขความผิดปกติของการผิดปกติของการสื่อความหมาย โดยแบ่งออกเป็นนักแก้ไขการพูด และนักแก้ไขการได้ยิน ซึ่งทั้ง 2 อาชีพนี้จะทำงานเกี่ยวข้องกัน แต่หากเลือกเป็นนักแก้ไขการพูด ก็จะไม่ได้ทำงานในส่วนของการได้ยิน
“นักแก้ไขการพูด” จะทำงานในโรงพยาบาล หรือตามโรงเรียน โดยมีหน้าที่คอยดูแลเด็กๆ ที่มีความพิเศษ เช่น เรียนช้า มีความลำบากในการสื่อสารกับคนอื่น นักแก้ไขการพูดก็จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่บริบทของประเทศไทยนั้น นักแก้ไขการพูดจะทำงานในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่
ใครกันบ้างที่ต้องไปพบนักแก้ไขการพูด
ใครก็ตามที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร สามารถมาพบนักแก้ไขการพูดได้ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก
...
ปัญหาการพูดในเด็กที่พบคือ เด็กพูดช้า พูดไม่สมวัย เช่น อายุ 1 ขวบแล้วยังไม่พูด ขวบครึ่งแล้วยังไม่พูดเป็น 2 คำ ยังรวมคำไม่ได้ พูดได้ไม่ถึง 50 คำ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณแล้วว่าต้องมาพบนักแก้ไขการพูด นอกจากนี้ในเด็กที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เช่น พูดติดอ่าง ทำให้คนฟังไม่เข้าใจ มีการซ้ำคำบ่อยๆ จังหวะการพูดไม่ดี ส่งผลให้คนฟังไม่รู้เรื่องว่าจะพูดคำว่าอะไร หรือมีปัญหาพูดไม่ชัด เช่น พูดคำว่าเสือเป็นเตื๋อ นักแก้ไขการพูดก็จะมาช่วยดูแลเด็กๆ ในตรงนี้
ในส่วนของผู้ใหญ่ก็เช่นกัน พบว่าผู้ใหญ่ก็มีปัญหาด้านการสื่อสารด้วยเช่นกัน เช่น เสียงแหบ เสียงเบา จนคนฟังไม่เข้าใจว่าจะพูดคำว่าอะไร ก็สามารถมาพบนักแก้ไขการพูดได้ แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการแก้ไขการพูดในเด็กเท่านั้น
การทำงานของนักแก้ไขการพูด
ก่อนที่จะฝึกพูดนั้น ต้องมั่นใจก่อนว่าเขาได้ยินเสียง ถ้าไม่ได้ยิน หรือมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ก็จะต้องได้รับการแก้ไขตรงนั้นก่อน จากนักแก้ไขการได้ยิน ซึ่งเป็นวิชาชีพร่วมกับนักแก้ไขการพูด ดังที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นอย่างน้อยเด็กๆ ทุกคน อย่างน้อยจะต้องผ่านหมอหู คอ จมูกก่อน เพื่อจะตรวจการได้ยิน การทำงานของหูชั้นกลาง หูชั้นในปกติ หลังจากนั้นค่อยมากระตุ้นภาษากัน เมื่อเด็กๆ ผ่านคุณหมอแล้ว เด็กๆ ได้ยินชัดดี แต่ถ้ามีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ หรือว่ามีโรคอื่นๆ เป็นโรคประจำตัวอื่นๆ ก็ต้องพบกุมารแพทย์ หรือถ้ามีชักร่วมด้วยก็ต้องพบแพทย์ระบบประสาท คือ เป็นการทำงานร่วมกันกับสหวิชาชีพ
หลังจากที่พบแพทย์แล้ว ก็จะมาถึงหน้าที่ของ “นักแก้ไขการพูด” ซึ่งจะทำหน้าที่ประเมิน วินิจฉัยว่าเด็กคนนี้มีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง เช่น พูดไม่ชัด พูดช้า พูดติดอ่าง และวางแผนการฝึกได้เลย ซึ่งการรักษาของโรงพยาบาลรามาธิบดีตอนนี้ ก็จะพยายามให้เด็กๆ เข้าถึงการฝึกพูดได้เร็วขึ้น เพราะในช่วงของการฝึกพูดภาษาของเด็กๆ ในช่วง Golden Period ที่มันจะต้องพัฒนาเร็วคือช่วงขวบครึ่ง 2 ขวบ ถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่ภาษาเขาจะก้าวกระโดดไปได้ไกล หากสังเกตดีๆ ในช่วง 2-3 ขวบ ภาษาของเด็กๆ จะพรั่งพรูออกมาเยอะมากๆ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กๆ ที่มาด้วยปัญหาพูดช้าแล้วมาช่วงเวลานี้ หน้าที่ของนักแก้ไขการพูด ก็จะกระตุ้นให้เขาพูด เพราะหากเลยช่วงเวลานี้ไปเด็กก็จะพูดช้าไปอีก ดังนั้นหากมาพบนักแก้ไขการพูดเร็ว ก็จะทำให้เขาพูดได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวของแนวทางการรักษาการแก้ไขการพูดในเด็ก ผลการรักษาและคำแนะนำเพิ่มเติมอื่นๆ อีก รอติดตามกันนะคะ
@@@@@@@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
คุณปรางทิพย์ ศิริชื่นวิจิตร นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล