เป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วที่คนไทยต้องดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางการระบาดของโรค “COVID-19” ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบของโรคดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาภายนอกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือผลกระทบจากตัวโรคโดยตรง ซึ่งจะนำมาซึ่งความเครียดหรือความไม่สบายใจอย่างมาก

จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค “COVID-19” นั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว มีความรู้สึกต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในใจของคนเรา ตั้งแต่เศร้า กังวล กลัว โกรธ หงุดหงิด ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเครียด โดยที่บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่มีอิสระเหมือนเดิม ไม่สามารถทำงานที่เคยทำ ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้เหมือนเดิม จนทำให้รู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่มีคุณค่า หรือไม่มีความหมาย รู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่ สังคมไม่น่าอยู่ เพราะมีโรคระบาดเกิดขึ้น มีปัญหาต่างๆ มากมายเต็มไปหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบทางใจที่เกิดขึ้น และอาจนำไปสู่พฤติกรรมในแง่ลบ เช่น การฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง ฯลฯ และจากสถิติของกรมสุขภาพจิตปีที่ผ่านมา ก็พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องกลับมาดูแลสุขภาพใจของเราให้ผ่านสถานการณ์วิกฤตินี้ไปให้ได้ โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

1. ปรับทัศนคติในการใช้ชีวิต

โดยทั่วไปคนมักจะคิดว่า การที่จะมีความสุขได้ขึ้นกับปัจจัยภายนอก เช่น มีเงิน มีงานทำดีๆ มีชื่อเสียง เป็นต้น ซึ่งหากเราเอาความสุขไปขึ้นกับปัจจัยภายนอก ก็ทำให้มีโอกาสที่จะทุกข์ใจ เพราะปัจจัยภายนอกนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเราไม่สามารถควบคุมมันได้

...

ดังนั้น ทัศนคติและความเชื่อที่ทำให้คนเรามีความสุข จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม เราก็สามารถมีความสุขในแบบของเราได้ เพราะความสุข ความทุกข์ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ว่าคุณจะมีชีวิตอย่างไร ก็สามารถมีความสุขได้ เพียงแค่คุณหันมาดูแลใจของคุณให้มีความสุข

2. ใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง

การใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ทำให้เรามีพลังใจในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน และมีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้ชีวิตของเราดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างปกติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างในช่วงโควิด

การใช้ชีวิตอย่างมีความหวังว่าสักวัน สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเรา สักวันมันจะดีขึ้น โรคระบาดก็เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับประชาชนแล้ว คาดว่าไม่นาน สถานการณ์ก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน คนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่มีความหวัง ก็จะทำให้เกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ และอาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ เพราะฉะนั้นการมีทัศคติด้านบวกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

3. รับมือกับความเครียดด้วยการตระหนักรู้

การตระหนักรู้ว่าตอนนี้เรากำลังเครียด และมองให้เห็นว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคน เมื่อตระหนักรู้แล้วก็ต้องถามตัวเองว่าจะจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร เพราะถ้าเราไม่รู้เท่าทันความเครียดของตนเอง เราก็จะโดนความรู้สึกเหล่านี้พาไป เสพข่าวตลอดเวลา ระแวงคนรอบตัว ไม่กล้าใช้ชีวิต ฯลฯ แต่ถ้าเราเริ่มรู้ตัวว่าตอนนี้เราเริ่มกังวลแล้ว ก็จะต้องพาตัวเองออกจากความเครียดเหล่านั้น เช่น เสพข่าวน้อยลง ออกจากข้อมูลที่กังวล เบี่ยงเบนความสนใจไปอยู่กับเรื่องที่ทำให้เราสบายใจขึ้น เป็นต้น

4. การมีคนรับฟัง และอยู่เคียงข้าง

ในยามที่มีความทุกข์ ความไม่สบายใจ หรือความเครียด แล้วมีใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท แฟน พ่อแม่ พี่น้อง ที่คอยรับฟังปัญหาของเรา ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้สบายใจขึ้น

5. การมองหาสิ่งดีๆ ในเรื่องราวร้ายๆ

ท่ามกลางเรื่องราวร้ายๆ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา ถ้าเราลองมองให้ลึกลงไป เราก็จะเห็นว่ามีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน WFH การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งทำให้คนเชี่ยวชาญมากขึ้น เกิดความคล่องตัวและสะดวกสบายในการทำงานมากขึ้น สภาพแวดล้อมต่างๆ ดีขึ้น การจราจรไม่ติดขัด หลายๆ ครอบครัวมีเวลาดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันมากขึ้น เพราะว่าได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นถ้าเรามองเห็นความงดงามภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย ก็จะทำให้มีความสุขมากขึ้น

...

นอกจากการดูแลสุขภาพใจที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย

ส่วนใครที่ทำตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังไม่ดีขึ้น และรู้สึกว่าความเครียดมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ดูแลตัวเองน้อยลง หงุดหงิดง่ายขึ้น เศร้ามากขึ้น มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ต่อคนรอบตัว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณต้องไปพบแพทย์แล้ว เพราะการไปพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลด้านจิตใจ ก็จะช่วยจัดการความเครียดได้ และทำให้กลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ.นพ.พิชัย อิฏฐสกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล