"กรดไหลย้อน" โรคชนิดหนึ่งที่รบกวนชีวิตประจำวัน ซึ่งชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต สุรา รวมทั้งการสูบบุหรี่ มีผลกับการเกิดกรดไหลย้อน แล้ว Lady MIRROR คนไหนมีเป็นกรดไหลย้อนบ้างยกมือขึ้น! มาค่ะวันนี้ MIRROR มีเรื่องราวและข้อมูลเกี่ยวกับ "กรดไหลย้อน" ตั้งแต่สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา การเช็กตัวเองว่าเป็นกรดไหลย้อนหรือไม่ รวมไปถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นกรดไหลย้อนมาฝากทุกคน เราไปดูรายละเอียดพร้อมๆ กัน

รู้ลึก "กรดไหลย้อน" หาสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาที่ถูกต้อง

"กรดไหลย้อน" คือ?

"กรดไหลย้อน" โรคชนิดหนึ่งซึ่งถือเป็นภาวะที่ "น้ำย่อย" จากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ โดยอาการสำคัญของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ อาการนี้จะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และการนอนหงาย

...

"กรดไหลย้อน" แตกต่างจากโรคกระเพาะอาหาร

สาวๆ ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดได้ แต่จะไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอกขึ้นมาถึงคอ เหมือนกับผู้ที่เป็น "กรดไหลย้อน" ที่บางคนอาจมีอาการเรอบ่อย และมีน้ำขย้อนขึ้นมาได้บ้างหลังทานอาหารอิ่มใหม่ๆ 

สาเหตุการเกิด "กรดไหลย้อน"

1. ความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งหูรูดของหลอดอาหารเริ่มเสื่อมสภาพ น้ำย่อยและอาหารในกระเพาะจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งมักถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการรับประทานยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่

2. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ส่งผลให้หลอดอาหารบีบตัวไล่น้ำย่อยที่ย้อนขึ้นมาได้น้อยลง ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานขึ้น

3. กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จนไม่สามารถนำอาหารที่ย่อยแล้วลงสู่ลำไส้ได้หมด อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารจนไปดันให้หูรูดเปิดออก อาหารและน้ำย่อยจึงย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร

4. ปัจจัยกระตุ้นซึ่งมีด้วยกันหลายปัจจัย ได้แก่ 

- บุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น รวมถึงกระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงทำให้น้ำย่อยและอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร

- ความเครียดยังส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป จนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรค "กรดไหลย้อน"

- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด ส่งผลให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัว โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง กาเฟอีน แอลกอฮอล์ และเปปเปอร์มินต์

- การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ส้ม มะนาว รวมถึงอาหารรสจัด ทำให้หูรูดเกิดการระคายเคืองได้

- การรับประทานยาบางชนิด อาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน โดยผลข้างเคียงของยาจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์  ไม่ควรหยุดยาหรือซื้อยามารับประทานเอง

- ความอ้วน เนื่องจากคนอ้วนมีความดันในช่องท้องมากกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น

- การตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นความดันในกระเพาะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมีเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น

อาการโรค "กรดไหลย้อน"

- อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย

- มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอ และมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก

...

- ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร

- เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ 

- หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ

- ในเด็กเล็ก อาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ

ตรวจ "กรดไหลย้อน" ด้วยตัวเอง

การเช็กอาการของ "กรดไหลย้อน" ด้วยตัวเองสามารถทำได้เช่นกัน โดยเริ่มต้นกันได้เลยค่ะสาวๆ 

- สังเกตอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ บางครั้งอาจปวดร้าวไปยังลำคอ เหมือนมีก้อนจุกอยู่ กลืนลําบาก แสบคอ คลื่นไส้ เรอบ่อย และมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาจนรู้สึกขมที่คอ

- จุกเสียด แน่นท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย อาจมีกลิ่นปาก หรือเสียวฟันร่วมด้วย

- หลังรับประทานอาหารมักเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรือไอแห้งๆ บ่อยๆ

- เสียงแหบในช่วงเช้า หรือแหบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาทำให้กล่องเสียงอักเสบ

- สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกขณะนอนหลับ

วิธีปฏิบัติตนเมื่อเป็น "กรดไหลย้อน"

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่มาก สามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดังต่อไปนี้

- ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป

- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต

- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

- ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป

- ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง

- ปรับหรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด

นี่คือ...เรื่องราวเกี่ยวกับ "กรดไหลย้อน" สาวๆ เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่า "กรดไหลย้อน" หรือโรคภัยต่างๆ ล้วนมีสาเหตุและอาการที่ไม่ควรมองข้ามทั้งสิ้น ปัจจัยส่วนหนึ่งก็เกิดจากการดูแลตัวเอง พฤติกรรมการบริโภค การเลือกรับประทานสิ่งต่างๆ ก็มีผลไม่น้อย เมื่อรู้ข้อมูลแบบนี้แล้ว เรามีเริ่มต้นดูแลตัวเองกันเถอะค่ะ อ่านบทความเกี่ยวกับ "สุขภาพ" อื่นๆ ได้ ที่นี่