โควิด-19 ก็กลัว แต่ชีวิตก็ต้องดำรงต่อไป ไม่ว่าจะ Work from Home หรือจะกักตัวอยู่ที่ไหน "อาหาร" การกินก็เป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจาก Lady MIRROR จะสั่งอาหารกับเดลิเวอรี่ทั้งหลายแล้ว เราก็คงต้องกักตุนอาหารไว้บ้าง อย่าง ข้าวสาร ไข่ไก่ (อันนี้แพงเว่อร์) เครื่องกระป๋อง น้ำดื่ม อาหารสด ผัก ผลไม้ บลาๆๆ แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่กักตุนบ้าง อาจจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า กวาดมาให้เรียบด้วยซ้ำ เพื่อเตรียมตัวไว้รองรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโรโคนา หรือ โควิด-19 ในอนาคต ทีนี้เมื่อกักตุน "อาหาร" ไว้มากมายขนาดนี้แล้ว สาวๆ รู้หรือไม่ เราก็ต้องมีวิธีจัด "เก็บอาหาร" หรือ "ถนอมอาหาร" ให้ถูกต้องด้วย เพื่อยืดอายุอาหารให้ได้นานที่สุด โดยไม่ให้เน่าเสียไปก่อน MIRROR จึงอยากมาแนะนำวิธีกักเก็บ "อาหาร" ที่ถูกต้อง เพื่อคงคุณค่าทางโภชนาการไว้
How To เก็บและถนอม "อาหาร" ให้คงคุณค่า และยืดอายุของตุน
3 ส. คอนเซปต์หลัก คง "อาหาร" ให้มีคุณภาพ
...
การเก็บ "อาหาร" หรือการถนอมอาหารไว้ให้รับประทานได้นานที่สุด ไม่ใช่แต่เราจะเก็บอย่างเดียว สิ่งสำคัญเราต้องรักษาคุณภาพ คงคุณค่าวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ไว้ด้วย
1. สะอาดปลอดภัย โดยภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้
2. สัดส่วน เราควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะ ไม่ปะปนกัน
3. สิ่งแวดล้อมเหมาะสม จัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานๆ
How To เก็บ "อาหารสด"
"อาหารสด" ประเภทเนื้อสัตว์ หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อน แล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้น ก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ และสาวๆ ควรแบ่งในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้งด้วย จากนั้นแล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แนะนำว่าให้แยกเป็นสัดส่วนจากอาหารประเภทอื่น เหตุผลที่เราไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ หรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นชิ้นเล็ก ขนาดเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกแช่อยู่ในช่องแช่แข็ง นอกจากนี้เรายังควรหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น เขียนวัน เดือน ปี ไว้ และไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศในตู้เย็นเป็นไปอย่างลำบาก
"ผักสด ผลไม้สด" ต้องเก็บให้ได้นานที่สุด
วิธีการเก็บ "ผักสด ผลไม้สด" ที่ถูกต้อง สาวๆ จะต้องดูประเภทให้ดีก่อนนะคะ เพราะอายุของชนิดนี้ค่อนข้างสั้น ถ้าเราเก็บไม่ดี ก็อาจทำให้เสียเร็ว เทคนิคการเก็บก็ทำได้หลายอย่าง แต่การนำผักเป็นหัว หรือต้นๆ เข้าตู้เย็นเลย ไม่ใช่วิธีการที่ยืดอายุให้นานนะคะ อันนั้นแค่เก็บเพื่อรอนำมาปรุง MIRROR ขอแนะนำว่า เราไม่ควรเก็บผักไว้รวมกัน เพราะจะทำให้เกิดการเน่าเสียและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และการเก็บผักด้วยวิธีแช่น้ำ หรือการแช่น้ำเย็น ไม่ควรแช่ผักลงในน้ำทั้งต้น เพราะจะทำให้วิตามินละลายน้ำไป และสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการด้วย ขั้นตอนแรกที่ควรทำ คือ ควรล้างผักให้สะอาดก่อน แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำจึงเอาเข้าเก็บถุงซิป
ทั้งนี้ผักสามารถแบ่งการเก็บเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผักที่เน่าเสียง่าย เช่น ผักชี ต้มหอม ขึ้นฉ่าย ใบโหระพา ใบกะเพรา ผักประเภทนี้ต้องการการทะนุถนอมเป็นพิเศษ เมื่อซื้อมา ขั้นแรกให้นำไปล้างทำความสะอาด ตัดรากออก แล้วแช่ในน้ำเย็นประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ผักฟื้นคืนชีพกลับมาสดใสเปล่งปลั่งอีกครั้ง จากนั้นใช้กระดาษทิชชูซับให้แห้ง แล้วใส่ถุงนำเข้าตู้เย็น
...
ส่วนกลุ่มผักที่เก็บได้ในระยะเวลาจำกัด เช่น ผักกาด ผักคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ควรเด็ดเป็นใบๆ แล้วนำมาล้างให้สะอาด ซับให้แห้ง เก็บใส่ถุงซิป ก่อนนำเข้าตู้เย็น และสุดท้ายคือกลุ่มผักที่เก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่นๆ เช่น ฟัก แฟง เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น ผักเหล่านี้แม้จะเก็บในตู้เย็นก็ยืดเวลาได้ไม่นานนัก แต่การเก็บที่ดีที่สุดคือใส่ถุงพลาสติกที่สะอาดและแห้ง จะช่วยเก็บไว้ได้นานขึ้น 5-7 วัน
รวมมิตร "อาหารแห้ง"
อาหารที่สาวๆ ตุนไว้ในยามที่ไม่ได้เดินทางออกนอกบ้าน ก็คงหนีไม่พ้น "อาหารแห้ง" หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการอบหรือตากแห้ง เพื่อให้ส่วนที่เป็นน้ำถูกกำจัดออกไป เช่น ข้าวสาร ผลไม้แห้ง เห็ดหอมแห้ง กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง หมูแดดเดียว ถั่วลิสง หอม กระเทียม และอื่นๆ อีกมากมาย อาหารแห้งที่เราซื้อมาปรุงเป็นอาหารนั้น เป็นอีกหนึ่งประเภทของอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่เสีย หรือบูดง่าย การเก็บก็ควรเก็บไว้ในที่แห้ง แต่ต้องระวังมด มอด แมลง แมงสาบ ให้ดี หาภาชนะใส่ให้เหามะสม สำคัญคืออย่าลืมดูวันหมดอายุ เชื้อรา ที่อาจเกิดขึ้นได้ อันตรายเหมือนกันนะคะ ถ้ารับประทานอาหารแห้งที่มีเชื้อราเข้าไป
...
เลือกตุนอาหารกระป๋อง
การเลือกซื้อ "อาหารกระป๋อง" อย่างอาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง ผลไม้ และน้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด โดยต้องมีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. หรือเลข 13 หลักที่กระป๋อง สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยสาวๆ ต้องเลือกลักษณะของกระป๋อง ที่ไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม และสังเกตตะเข็บกระป๋องด้วยนะจ๊ะ ต้องไม่มีรอยรั่วหรือเป็นสนิม แนะนำอีกนิดว่า ก่อนกินอาหารทุกครั้ง ต้องอุ่นด้วยความร้อนให้เดือด เพื่อสุขอนามัยที่ดีด้วย แต่ห้ามนะคะสาวๆ ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบ หรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค และควรเก็บในตู้เย็น.
นอกจากจะถนอมอาหารแล้ว ยังสามารถไปซื้ออาหารสดได้ที่นี่ ส่วนลด Tops ที่เดียว!