อาหารหมักดอง ภูมิปัญญาการถนอมอาหารพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ แต่ละท้องถิ่นต่างมีเทคนิค การผลิตหัวเชื้อ กรรมวิธีการหมักและระยะเวลาการหมักดองที่ต่างกันไป

อาหารหมักดองได้จากเมตาบอลิซึมของจุลินทรีย์ทำให้ได้สารที่มีกลิ่นรสตามต้องการในอาหาร และทำให้เก็บอาหารได้ยาวนานขึ้น วัตถุดิบที่นำมาหมักดอง เช่น ผักกาดดอง กระเทียมดอง หน่อไม้ดอง มะม่วงดอง ฝรั่งดอง องุ่นดอง

ทว่าสมัยก่อนคนไทยจะหมักดองตามกรรมวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาแต่โบราณ สมัยนี้อาจไม่ใช่ เพราะมีผู้ผลิตบางรายมีการเติมสารเคมี เช่น สารกันบูดลงไปด้วย เพื่อให้สามารถเก็บรักษาอาหารหมักดองไว้ขาย หน้าร้านได้นานมากขึ้น ไม่เน่าเสียง่าย

สารกันบูดยอดฮิตที่ใช้ ได้แก่ กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก กรดโปรปิโอนิก กรดอะซิติก ผู้ผลิตสามารถใส่สารกันบูดข้างต้นในอาหารชนิดต่างๆได้

แต่ต้องใส่ตามปริมาณที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น อาหารหมักดองก็เช่นกัน เพราะหากใส่ลงในอาหารปริมาณมากๆ แทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทางการถนอมอาหารอาจกลายเป็นโทษต่อร่างกายได้ เช่น

หากได้รับกรดเบนโซอิกในปริมาณสูงๆ จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน ปวดหัวได้ แต่หากได้รับปริมาณน้อยๆบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดพิษเรื้อรัง

วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำผักดองจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสารกันบูด 2 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก

ผลปรากฏว่าไม่พบกรดซอร์บิกในทุกตัวอย่าง แต่พบกรดเบนโซอิกในน้ำดองผัก 4 ตัวอย่าง และมีอยู่ 2 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 (2559) เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกในผักดองได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

...

เห็นกันอย่างนี้แล้วหากเลี่ยงได้ก็แนะนำให้เลี่ยง หรือเลือกซื้อผักดองที่มีบรรจุภัณฑ์ มีฉลาก ระบุผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ มีเครื่องหมายและเลขสารบบอาหารชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย.