• เพราะความเรียบง่าย ยืดหยุ่น และไม่ยึดติดของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ทำให้เราได้เห็นพระพุทธรูปหรือ ‘ไดบุตสึ’ (Daibutsu) ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนในการเผยแผ่ศาสนาได้หลากหลายวิธี ซึ่งช่วยลบภาพความจริงจังขึงขังในยามที่เรานึกถึงพุทธศาสนาแบบบ้านเรา

  • เราในฐานะนักท่องเที่ยวจึงรู้สึกตื่นตาตื่นใจทุกครั้ง เวลาที่ได้เห็น ‘คุกกี้’ รูปองค์พระใหญ่ไดบุตสึ และขนม ‘มันจู’ สอดไส้ที่ใช้รูปใบหน้าองค์พระเดียวกันในเมืองคามาคุระ หรือ ‘พุดดิ้ง’ ที่ใช้พระใหญ่นาระไดบุตสึมาแปะบนบรรจุภัณฑ์ในเมืองนาระ ...ที่มีแม้กระทั่งรสสาเก!


ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ คงมีหลายคนที่กำลังคิดถึงประเทศญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ บางคนเห็นรูปสถานที่สวยๆ หรือรูปเมนูอาหารน่าอร่อย ก็คงอดไม่ได้ที่จะทำแผนรอไว้เพื่อเตรียมท่องเที่ยวครั้งหน้า

ผู้เขียนเองก็เป็นอีกคนที่วางแผนเดินทางไปญี่ปุ่นเอาไว้ ซึ่งในบรรดาสถานที่ที่อยากไป มีร้านกาแฟร้านหนึ่งที่ทำขนมเป็นรูป ‘พระพุทธรูป’ ที่เมื่อได้เห็นครั้งแรกก็รู้สึกชื่นชมในไอเดียน่ารักช่างคิด และเกิดความอยากรู้อยากเห็นว่า ทำไมศาสนาพุทธในญี่ปุ่นถึงได้ดู ‘ยืดหยุ่น’ เช่นนี้ เพราะเราไม่เพียงจะได้พบกับความสงบร่มเย็นราวกับจะได้ยินเสียงภายในใจของตัวเองชัดเจนยามก้าวย่างเข้าไปในวัดญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยังได้เห็น ‘ตัวแทน’ ของศาสนาอย่างพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ปรากฏบนข้าวของภายใต้ท่วงท่าลีลา ‘ขี้เล่น’ อยู่หลายครั้งหลายหน

ศาสนาพุทธในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดหรือช่วงวัยไหน มักวนเวียนอยู่กับการเข้าวัดหรือศาลเจ้าเพื่ออธิษฐานขอพร บ้างก็นิยมบูชาเครื่องรางสีสันสวยงามที่ปลุกเสกแยกเป็นหมวดหมู่ไว้ เพื่อขอให้หน้าที่การงานรุ่งเรือง ขอให้ความรักสมหวัง หรือขอให้สุขภาพแข็งแรง

...

ส่วนพระสงฆ์ในญี่ปุ่นบางรูปที่เราเห็นกัน ก็สามารถแต่งงานและใช้ชีวิตแบบฆราวาสได้ สืบเนื่องมาจากความเชื่อของนิกายโจโดที่ว่า ‘ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน’ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระสงฆ์ ซึ่งหนทางที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ไปสู่ดินแดนอันบริสุทธิ์ได้ก็คือ ‘ใจที่ศรัทธา’

ขณะที่อีกนิกายหนึ่งที่เป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นได้อย่างแนบสนิท คือนิกาย ‘เซน’ ที่เชื่อว่าเราทุกคนสามารถรู้แจ้งได้ด้วยการเพ่งพิจารณาลึกลงไปในเนื้อแท้ โดยแก่นของเซนก็คือความสงบและเรียบง่าย เราจึงได้เห็นพุทธปรัชญาอันแสนธรรมดานี้ซ่อนตัวอยู่ในชีวิตประจำวันและศิลปวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น

และก็เพราะความเรียบง่าย ยืดหยุ่น และไม่ยึดติดนี่เอง จึงทำให้เราได้เห็นพระพุทธรูปหรือ ‘ไดบุตสึ’ (Daibutsu) ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนในการเผยแผ่ศาสนาได้หลากหลายวิธี ซึ่งช่วยลบภาพความจริงจังขึงขังในยามที่เรานึกถึงพุทธศาสนาแบบบ้านเรา อีกทั้งยังเป็นการเชิญชวนให้เราอยากไปท่องเที่ยวและสัมผัสวิถีแบบพุทธนิกายเซนดูสักครั้ง ดังเช่นบรรดาร้านขนมที่ผู้เขียนจะพาทุกคนไปรู้จักต่อจากนี้...

ภาพจาก Instagram: kannon_kamakura
ภาพจาก Instagram: kannon_kamakura


KANNON COFFEE Kamakura

นี่คือร้านกาแฟที่มีสาขามากมายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปรารถนาให้ลูกค้าที่แม้จะมีเวลาอยู่น้อยนิดสามารถมาพักจิบกาแฟได้ ทางร้านจึงตั้งใจทำขนมอร่อยๆ หน้าตาน่ารักดึงดูดใจ เหมาะสำหรับติดมือกลับบ้านไว้ด้วย

และพอมาเปิดสาขาในเมืองคามาคุระ ตรงที่พระใหญ่ไดบุตสึ (The Great Buddha) ประดิษฐานอยู่ ทางร้านก็ได้ทำคุกกี้รูปองค์พระใหญ่ไดบุตสึขึ้นมาจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัย เช่น ข้าวสาลีที่ได้มาตรฐาน, เนยบ่มคุณภาพเยี่ยม และไข่ไก่สดใหม่จากหมู่บ้านทามาโกะ ที่ฟังแค่ชื่อก็รู้แล้วว่าเป็นของดีประจำหมู่บ้าน (ทามาโกะ แปลว่า ไข่ไก่) โดยเราสามารถรับประทานคุกกี้นี้คู่กับกาแฟ ที่แค่ใส่ไซรัปทำเองของร้านลงไปด้วยก็หอมอร่อยมากแล้ว แต่ทางร้านก็ยังเพิ่มเมนูใหม่ๆ ด้วยการใส่คุกกี้ลงไปในของหวานขวัญใจวัยรุ่นอย่าง ‘เครปเย็น’ ที่ใส่ครีมสดเนื้อนุ่ม’ หรือ ‘พาร์เฟต์’ ที่ตกแต่งเป็นชั้นอย่างสวยงาม ซึ่งช่วยเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติให้แวะเวียนไปชิมกันได้ไม่เคยขาด

...

ความพิเศษอีกอย่างคือ ตัวเมนูเองก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน อย่างช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ซากุระบานสะพรั่ง ทางร้านก็ได้นำเสนอเมนูเครปครีมเชอร์รีและถั่วแดง ราดด้วยซอสชาเขียวจากจังหวัดชิซึโอกะ ส่วนท็อปปิ้งก็เป็นคุกกี้ที่ใส่เชอร์รีและกลีบดอกซากุระ หรือเมนูที่เป็นแป้งเครปรสโฮจิฉะ (ชาเขียวคั่ว) ที่ใส่กล้วยและช็อกโกแลต ราดด้วยคุโรมิตสึหรือไซรัปน้ำตาลอ้อยจากโอกินาวะ

3-10-29 Hase, Kamakura City, Kanagawa Prefecture
TEL: +81 467-84-7898

ภาพจาก tabelog.com
ภาพจาก tabelog.com


Tomoya Kamakura

ร้านขนมญี่ปุ่นในเมืองคามาคุระก็ดูจะไม่น้อยหน้า เพราะหยิบเอาขนมญี่ปุ่นที่คุ้นเคยอย่าง ‘มันจู’ ขนมที่ใช้แป้งต่างๆ อย่างแป้งข้าวหรือแป้งโซบะมาสอดไส้ถั่วแดงแล้วนึ่งจนสุก ได้เป็นเนื้อเค้กนุ่มนิ่ม ยิ่งเพิ่งทำเสร็จจากเตาร้อนๆ ก็ยิ่งเหมาะกับอากาศหนาวของญี่ปุ่นได้ดีทีเดียว

...

ทางร้านโทโมยะจัดการแปลงโฉมหน้าตาขนมมันจูแบบเดิมๆ ให้กลายมาเป็นองค์พระใหญ่ไดบุตสึ ดาวเด่นดวงเดิมของเมืองคามาคุระ ที่นอกจากจะเรียกเสียงชัตเตอร์ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปอวดลงโซเชียลฯ แล้ว ก็ยังกลายมาเป็นของฝากยอดนิยมยามได้ไปเยือนที่เมืองนี้อีกด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่หน้าตาที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ทางร้านยังเพิ่มไส้ให้หลากหลาย-ดัดแปลงจากขนมมันจูแบบดั้งเดิมที่มีแค่ถั่วแดง-เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ด้วย เช่น ไส้สตรอว์เบอร์รีถั่วแดง, ไส้บลูเบอร์รีครีมชีส และไส้เบคอนชิ้นหนากับชีส - นี่แค่ได้ยินชื่อไส้ก็ท้องร้องแล้ว

1 Chome-6-8 Yukinoshita, Kamakura City, Kanagawa Prefecture
TEL: +81 467-25-2204

ภาพจาก par-ple.jp
ภาพจาก par-ple.jp

...


Purin no Mori Cafe

ข้ามมาที่ฝั่งคันไซ เพื่อเยี่ยมชมขนมในเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่างเมืองนาระกันบ้าง กับเรื่องราวของ ‘พุดดิ้ง’ ที่เคยเป็นเพียงของหวานในร้านพาสต้า แต่ด้วยเนื้อคัสตาร์ดที่เป็นครีมเนียนนุ่ม รสละมุนที่รับรู้ได้ถึงครีมสดที่ถูกเลือกมาใช้เป็นอย่างดี ก็ทำให้ ‘นาระ พุดดิ้ง’ (Nara Pudding) ได้รับรางวัลของฝากยอดเยี่ยมจากจังหวัดนาระไปในปี 2007

ประธาน ฮิโรชิ ทาคากิชิ ผู้ก่อตั้ง จึงได้ตัดสินใจเปิดตัว Purin no Mori ให้เป็นร้านขายพุดดิ้งแห่งเมืองนาระโดยเฉพาะ ซึ่งทางร้านได้เลือกหยิบเอาภาพจำของจังหวัดอย่างเจ้ากวางที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว และพระใหญ่นาระไดบุตสึ (Nara Daibutsu) ให้กลายมาเป็นคาแรกเตอร์บนบรรจุภัณฑ์พุดดิ้งที่ดูน่ารักเป็นมิตร ชวนให้หยิบติดไม้ติดมือกลับบ้าน

นอกจากนี้ ก็ยังได้เพิ่มรสชาติใหม่เข้าไปด้วย เช่น รสช็อกโกแลต, แรร์ชีสเค้ก และเมนูที่เห็นแล้วอยากลิ้มลองมากๆ ก็คือ พุดดิ้งรสสาเกจากเมืองยามาโตะ ของดีอีกหนึ่งอย่างจากจังหวัดนาระ ซึ่งล่าสุด ทางร้านได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นคุกกี้ ที่ยังคงใช้คาแรกเตอร์นาระไดบุตสึที่ชวนให้เห็นแล้วยิ้มตามเช่นเคย

1073 Narazakacho, Nara Prefecture
TEL: +81 742-23-7515


ไม่รู้เมื่อไรเหมือนกันที่เราจะได้กลับมาเดินทางข้ามประเทศอย่างสบายใจได้อีก แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง เราคงได้กลับไปสัมผัสวิถีเซนที่ญี่ปุ่น ได้พูดคุยปลอบโยนตัวเองท่ามกลางความสงบเงียบในวัด ซื้อเครื่องรางขจัดความกังวลใจไปสักชิ้น จากนั้นจึงค่อยออกมาเติมพลังด้วยกาแฟดีๆ กับขนมทรงพระพุทธรูป

แล้วดื่มด่ำไปกับบรรยากาศของบ้านเมืองที่พุทธศาสนาสามารถอยู่ร่วมกับความน่ารักได้อย่างไม่ขัดเขินอีกครั้งหนึ่ง


อ้างอิง: Wikipedia (1, 2, 3, 4), JSRI, BBC, KANNON Coffee (1, 2), Tabelog.com (1, 2), Retty.me, Live Japan, Par-ple.jp