Hightlight :
- "โควิด-19" อาจจะทำให้เราเครียด แต่เราสามารถใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นได้ และหนึ่งในนั้นคือการจัดตู้เสื้อผ้า
- การ "จัดตู้เสื้อผ้า" นอกจากจะทำให้เราได้ "โละ" เสื้อผ้าที่ไม่เวิร์กแล้ว ยังทำให้เราเห็นสไตล์ของตัวเองอย่างชัดเจน
- MIRROR แนะนำ 7 ขั้นตอน "เคลียร์ตู้" เพื่อสร้างสรรค์สไตล์ที่ใช่ให้กับคุณอีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาช่วง "กักตัว" ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
นับเป็นวันที่เท่าไรแล้วคะสำหรับการถูก "กักตัว" ของคุณ MIRROR ขอชื่นชมจากใจจริง เพราะเราเข้าใจว่าการ "ทำงานอยู่บ้าน" หรือ "Work from home" ในช่วงที่ "กักตัว" ให้พ้นภัยจาก "โควิด-19" นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แรกๆ ก็อาจจะชิลดี แต่พอเริ่มนาน ไหนจะงานก็ต้องทำ การสื่อสารก็ไม่ได้ง่ายเหมือนอยู่ออฟฟิศ แถมยังต้องระวังตัว รักษาความสะอาดทุกรูปแบบแม้อยู่บ้าน ทำนานๆ เข้าก็ต้องเบื่อและเฉาเป็นธรรมดาจริงไหมคะ MIRROR เข้าใจถึงเรื่องนี้ดี เพราะทีมของเราก็เจอปัญหาอย่างนี้เช่นกัน เราจึงมาคิดกันดูว่าจะทำอย่างไร ให้ Lady MIRROR ทุกคนมีความสุขมากขึ้นในช่วงนี้ ก็เลยได้คำตอบอย่างเป็นเอกฉันท์แล้วว่า ไหนๆ ก็อยู่บ้านกันแล้ว เอาเวลามาทำอะไรที่ควรจะทำตั้งนานแต่ไม่ค่อยได้ทำกันดีกว่า นั่นก็คือการจัดระเบียบตู้เสื้อผ้ากันค่ะ จัดระเบียบในที่นี้ไม่ได้แปลว่าต้องเรียงให้เรียบร้อยสวยงาม แต่เป็นการรื้อค้นดูว่าเรามีอะไรบ้างในตู้เสื้อผ้า แล้วเราจะสร้างสไตล์ใหม่ๆ ให้ตัวเองจากของที่เรามีได้อย่างไร รับรองว่าถ้าทำตาม 7 ขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว คุณจะรู้สึกเหมือนเพิ่งถอยเสื้อผ้าใหม่มาเมื่อวานนี้เลยละค่ะ

...
ขั้นตอนที่ 1 : สำรวจตรวจค้น
อย่าเพิ่งเอาเสื้อผ้าออกมาจากตู้ทั้งหมด!!! ให้เริ่มจากการสำรวจตรวจค้นจากภาพรวมก่อนว่า เรามีเสื้อผ้าที่วางรวมกันหมกๆ กันไว้ หรือ เรามีเสื้อผ้าจัดเรียงกันเป็นกลุ่มๆ เราใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ เพียงเพราะแค่เสื้อผ้าตัวนั้นถูกวางอยู่ชั้นบนสุด หรือเพียงเพราะเราขี้เกียจรีด กวาดตาดูให้ทั่วค่ะ เราจะเห็นถึงพฤติกรรมการจัดตู้เสื้อผ้าของเรา จากนั้นให้ค่อยๆจัดหมวดหมู่ให้เสื้อผ้าเหล่านั้น โดยดึงออกมาทีละกองนะคะ อาจจะเริ่มจากกองเล็กๆ อย่างกองชุดชั้นใน เสื้อยืด เสื้อกล้าม ลองเลือกว่าชิ้นไหนที่เก่าจนใส่ไม่ได้แล้ว (เป็นผู้หญิงใส่ชั้นในขาดไม่สวยนะเธอ) ให้เก็บทิ้ง เมื่อกองชิ้นเล็กเสร็จแล้ว ให้เริ่มเก็บเสื้อผ้าชิ้นใหญ่ โดยใช้วิธีเดียวกัน ทีนี้คุณจะเริ่มเห็นว่า ตู้เสื้อผ้าของคุณโล่งขึ้น (นิดหนึ่ง) แล้วค่ะ
ขั้นตอนที่ 2 แบ่งพรรค แบ่งพวก
ใครที่มีปัญหาเปิดตู้เสื้อผ้ามาแล้วไม่มีอะไรจะใส่ ขอให้ทำขั้นตอนนี้ให้ดีๆ นะคะ เมื่อคุณได้เลือกเสื้อผ้าที่ใช้ไม่ได้ออกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือให้แบ่งพรรค แบ่งพวกให้กับเสื้อผ้าที่มีอยู่ ทำยังไง? ง่ายมากค่ะ ใครที่เคยแบ่งตามสี แบ่งตามสไตล์เสื้อผ้า ขอให้พักไปก่อนแล้วลองหันมาแบ่งตามการใช้งานดูบ้าง เคลียร์พื้นที่ของคุณให้เรียบร้อย แล้วค่อยๆเลือกเสื้อผ้าออกมาจากตู้ แบ่งเป็น 3 กอง กองที่ 1 คือกองที่มีเยอะ เช่น เสื้อยืดสีขาว 10 ตัว กางเกงยีนส์ 5 ตัว กระโปรง หรือกางเกงทรงเดียวกันที่มีเหมือนกัน แยกไว้หนึ่งกอง กองที่ 2 คือ กองที่ใส่บ่อย เช่น เสื้อผ้าที่ขี้เกียจรีด หรือเสื้อตัวเก่ง ส่วน กองที่ 3 คือ กองที่ไม่ได้ใส่เกิน 6 เดือน เช่น ซื้อมาแล้วไม่กล้าใส่ ซื้อตอน SALE แล้วใส่ไม่ได้เป็นต้น เมื่อแบ่งพรรคแบ่งพวกให้กับกองเสื้อผ้าแล้ว คุณจะเริ่มเห็นภาพรวมของสไตล์ตัวเองที่ชัดเจนขึ้น จากเสื้อผ้าที่คุณมีเยอะ หรือใส่บ่อย จากนั้นให้ทำขั้นตอนต่อไปได้เลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 3 กำจัด "จุดอ่อน" ออกไปเสีย
อะไรที่ไม่เวิร์ก จะเก็บไว้ทำไม ใช่มั้ยคะ? ได้เวลาแล้วที่เราต้องเผชิญหน้ากับความจริง ลองหยิบเสื้อผ้าจากกองต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาทีละกอง คุณจะเห็นว่า เสื้อผ้ากองที่ 1 ที่มีเยอะ คือกองที่จะมีเสื้อผ้าเก่าและใหม่ปะปนกัน เช่น เสื้อยืดขาว 10 ตัว ต้องมีตัวที่คุณใส่ไม่บ่อยบ้าง หรือใส่จนเก่าแล้วบ้าง ให้เลือกทิ้งและเลือกเก็บได้เลย แล้วทำลิสต์ไว้ว่า กองนี้ เราจะไม่ซื้อแบบซ้ำๆ มาเพิ่มแล้วนะ ส่วนกองที่ 2 เป็นกองที่คุณจะรู้ว่าเสื้อผ้าแบบไหน "เวิร์ก" กับเรา ให้ทำลิสต์ใส่กระดาษไว้ เอาไว้เป็น Shopping List ในครั้งต่อไป กองที่ 3 ทำยังไง?? ง่ายมากค่ะ หาเหตุผลว่าเราซื้อแต่ละชิ้นมาทำไม และเพราะอะไรเราถึงไม่ได้ใส่ Lady MIRROR ทุกคนน่าจะรู้คำตอบกันดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นชิ้นไหนที่คิดว่าไม่มีทางจะได้ใส่ จงกำจัดจุดอ่อนไปเลย แต่ถ้าคิดว่า อาจจะใส่ได้บ้าง ถ้าไปแมตช์ดีๆ อันนี้ เก็บไว้ก่อนเลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 4 แยก และคัดกรอง
มาถึงขั้นตอนนี้ เชื่อว่า Lady MIRROR ที่อ่านอยู่ตอนนี้ คงมีที่ว่างในตู้เสื้อผ้ามากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ คราวนี้ ได้เวลาที่เราจะมาแยกเสื้อผ้าตามโอกาสในการใช้ เพราะแน่นอนว่า คุณคงไม่ใส่ชุดราตรีหรือกระโปรงฟูฟ่องอยู่บ้านในช่วงนี้หรอกจริงไหม (ฤดูร้อนอะเนอะ) เพราะฉะนั้น มาค่ะ มาจัดเสื้อผ้าจากกองที่มีกัน 3 กองที่แยกและพร้อมเก็บ เรามาดูกันเป็นรายชิ้นว่า ชิ้นนี้ไปได้กี่โอกาส โอกาสใดบ้าง เช่น เสื้อผ้าชิ้นที่สามารถใส่ "ทำงานอยู่บ้าน" ในช่วงนี้ได้ แยกไว้หนึ่งกอง ย้ำว่า ใส่ทำงานอยู่บ้านนะคะ ไม่ใช่ใส่อยู่บ้าน เพราะฉะนั้น กองนี้อาจจะมีสีสัน หรือดูสุภาพขึ้นมาหน่อย เผื่อต้องประชุม Conference Call กับลูกค้า หรืออาจจะเป็นกองที่สามารถใส่ไปทำงานแบบสบายๆ ได้ เช่น Casual Friday ในบางออฟฟิศ แยกไว้หนึ่งกอง กองที่ไม่ได้จะใส่ในระยะเวลานี้ เช่น สูท หรือ เสื้อหนาว ชุดออกงาน แยกไว้อีกหนึ่งกอง เสื้อผ้าอยู่บ้านเสาร์อาทิตย์อีกหนึ่งกอง ทำแบบนี้ เราจะเห็นภาพรวมของเสื้อผ้าเราที่ชัดเจนมากขึ้น และจะพบว่า ในเสื้อผ้าแต่ละกอง เราต้องมีอะไรเพิ่ม เพื่อที่จะทำให้การแต่งตัวเราสนุกขึ้น โดยเฉพาะกองที่เราต้องใส่ออกไปเจอผู้คน เราก็สามารถใส่สีสันได้เต็มที่ค่ะ
...


ขั้นตอนที่ 5 เลือกเฉพาะตัวที่ "ใช่"
แบ่งกองเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็พักไว้ก่อน ทีนี้ลองมาดูเสื้อผ้าที่เราเลือกดูซิ ว่า "ใช่" จริงหรือเปล่า ง่ายๆ คือลองจับมามิกซ์แอนด์แมตช์กันดู คุณจะพบว่าเสื้อผ้าบางชิ้น จำเป็นมากต่อตู้เสื้อผ้าของคุณ เพราะสามารถแมตช์ได้กับเสื้อผ้าหลายๆ ชิ้นในตู้ แถมยังใช้ได้หลายโอกาสอีก อันนี้ถือว่า เก็บไว้จะคุ้มค่ามาก ในขณะที่เสื้อผ้าบางชิ้น ต่อให้เราเลือกแล้ว แต่ก็อาจจะใช้ได้แค่บางโอกาส ไม่เหมาะสม หรือไม่เข้ากับเราอีกต่อไป ไม่ว่าจะเอาไปแมตช์กับอะไรก็ตาม อันนี้ทราบใช่ไหมคะ ว่าต้องทำยังไง ส่งกลับอยู่กับเพื่อนกองของเก่า หรือของที่ไม่ค่อยได้ใช้ได้เลย ทำแบบนี้คุณจะเห็นเลยว่า สไตล์ของคุณจริงๆ แล้ว เป็นสไตล์ไหนกันแน่ บางคนอาจจะเรียบๆ บางคนอาจจะดูเยอะ หรือบางคนอาจจะสบายเกินไป พอเห็นแบบนี้แล้ว ให้ทำตามขั้นตอนที่ 6 ได้เลย
ขั้นตอนที่ 6 ออกแบบสไตล์ให้ตัวเอง
ก่อนที่จะรู้จักสไตล์ที่ใช่ก็ต้องหาก่อน จริงไหมคะ ลองหาสไตล์ที่เราชอบจากดาราหรือไอดอลที่ชอบ มาแปะบอร์ดเก็บไว้สัก 5 - 10 สไตล์ แล้วลองดูว่าเสื้อผ้าที่เราแบ่งกองไว้ มีเสื้อผ้าเหล่านั้นไหม จากนั้นลองมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าให้ใกล้เคียงกับสไตล์ที่เราหามา ลองดูว่าชุดแบบไหนที่เวิร์กหรือไม่เวิร์ก และจะสร้างสไตล์การแต่งตัวใหม่ๆ แบบไหนให้ตัวเองได้บ้างจากเสื้อผ้าที่เรามีอยู่

ขั้นตอนที่ 7 ทำ Shopping List
เพื่อให้เราได้สไตล์ที่เราต้องการ เราต้องดูจากทรัพย์สินที่เรามี นั่นคือเสื้อผ้ากองที่เราแบ่งไว้ค่ะ ทีนี้ในแต่ละกอง แน่นอนว่าเราอาจจะไม่ได้มีเสื้อผ้าครบตามสไตล์ที่เราแปะบอร์ดไว้ เพราะฉะนั้นเราต้องทราบว่าเราขาดเสื้อผ้าชิ้นไหนบ้าง เช่น บางคนอาจจะขาดแอคเซสเซอรี่ บางคนขาดเสื้อผ้าที่มีสีสัน บางคนขาดเสื้อคลุมหรือแจ็กเก็ต หรือบางคนอาจจะมีกระโปรงน้อยมาก พอเรารู้ว่าเราขาดอะไร ให้ทำช็อปปิ้งลิสต์ในสิ่งที่เราขาด จัดลำดับความสำคัญว่า ชิ้นไหนต้องการด่วน ชิ้นไหนรอได้ ชิ้นไหนต้องลงทุนคือเก็บเงินซื้อ หรือชิ้นไหนที่ไม่ต้องซื้อแล้วเพราะมีเต็มตู้ และวิธีนี้แหละค่ะ เมื่อทำไปนานๆ นอกจากจะทำให้คุณช็อปปิ้งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังทำให้สไตล์ของคุณชัดเจนและเป็นที่น่าจดจำขึ้นอีกด้วย
...

ทำครบ 7 ขั้นตอนนี้ รับรองว่า ชีวิตกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ คุณจะกลายเป็นคนที่มีความสุขและมั่นใจกับการแต่งตัวของตัวเองมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ