การบูชา “พระพรหม” ในบ้าน มีความเชื่อศรัทธากันว่าเพื่อเสริมสิริมงคลและความสำเร็จ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ต้องการเสริมปัญญา ความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะใน ด้าน “การงาน” และ “ธุรกิจ”
ตำแหน่งและการตั้งหิ้งพระพรหมในบ้าน ผู้รู้แนะนำไว้ว่าให้หันหน้าพระพรหมไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ เชื่อว่าเป็นทิศมงคลที่ช่วยส่งเสริมพลังงานบวก ควรวางไว้สูงกว่าศีรษะห้ามวางต่ำหรือในจุดอับแสง ไม่ควรวางใต้บันไดหรือใกล้ห้องน้ำถือว่าเป็นตำแหน่งอัปมงคล
ที่สำคัญ...ควรแยกหิ้งจากเทพอื่น (ถ้ามี) หรือหากมีพระพุทธรูป ให้วางพระพรหมต่ำกว่าพระพุทธ

วิธีบูชาพระพรหมในบ้าน วันและเวลาที่เหมาะสมคือ “วันพฤหัสบดี”...ถือเป็นวันมงคลของเทพแห่งปัญญา “วันพระ”...เสริมสิริมงคลให้ครอบครัว ให้บูชาช่วงเช้า (ก่อน 9 โมง) หรือช่วงเย็น (หลัง 6 โมงเย็น)
สำหรับเครื่องบูชาพระพรหมก็มีดอกไม้... ดอกบัว 4 ดอก สื่อถึง 4 พักตร์ของพระพรหม ธูป 16 ดอก...เป็นเลขมงคลของพระพรหม เทียน 4 เล่ม...แทน 4 พักตร์ของพระองค์ น้ำสะอาดหรือผลไม้ เช่น มะพร้าว กล้วย หรือผลไม้ที่มีกลิ่นหอม ของหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ขนมไทย
...
คาถาบูชาพระพรหมในบ้าน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวคาถา “โอม ปรเมศวรายะ นะมะฮา โอม พรหมมา พรหมเทวะตายะ นะมะฮา” หรือ “โอม อหัม ปรัชญานัม พรหมา”
ตั้งจิตอธิษฐาน... “ขอพระพรหมโปรดเมตตาประทานปัญญา หนทางที่ถูกต้อง ความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่ข้าพเจ้าและครอบครัว”

ถึงตรงนี้ให้รู้เอาไว้อีกว่าข้อห้ามในการบูชาพระพรหมจะไม่ใช้ของคาว เช่น เนื้อสัตว์ หรือเครื่องเซ่นไหว้ที่มีกลิ่นแรง ไม่วางหิ้งพระ พรหมรวมกับเทพที่เกี่ยวข้องกับการทำลาย เช่น พระศิวะ ไม่บูชาด้วยของเก่าหรือสิ่งที่ไม่สะอาด ห้ามลืมเปลี่ยนน้ำและดอกไม้บูชาเป็นประจำ
“การบูชาพระพรหมในบ้าน เสริมปัญญาและความสำเร็จ สามารถช่วยเสริมพลังบวกให้ชีวิต โดยเฉพาะด้านการศึกษา การงาน ธุรกิจ และการตัดสินใจ หากบูชาอย่างถูกต้องและปฏิบัติตามหลักความเชื่อ พระพรหมจะประทานพรให้ชีวิตราบรื่นและประสบความสำเร็จ”
บูชา...ด้วยศรัทธาและความตั้งใจ จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้บูชา
“พระพรหม”...เทพแห่งการสร้างสรรค์และปัญญา เป็นมหาเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และเป็นหนึ่งในสามมหาเทพสูงสุด (ตรีมูรติ) ร่วมกับ “พระวิษณุ” และ “พระศิวะ” โดยพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง พระวิษณุเป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง และพระศิวะเป็นผู้ทำลายเพื่อให้เกิดการสร้างใหม่

ในประเทศไทย พระพรหมได้รับการเคารพนับถืออย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ “พระพรหมเอราวัณ” ที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความศรัทธาของประชาชน...นักท่องเที่ยวทั่วโลก
ตำนานพระพรหม...ผู้สร้างจักรวาล ตามคัมภีร์ “ปุราณะ” ของศาสนาฮินดู พระพรหมถือกำเนิด จากดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากสะดือของพระวิษณุที่กำลังบรรทมอยู่บนพญานาคอนันตนาคราช
พระพรหมทรงมี “สี่พักตร์” แสดงถึง “สี่ทิศ” และมี “สี่กร” ถือคัมภีร์...สัญลักษณ์แห่งปัญญา, หม้อน้ำ...สัญลักษณ์แห่งชีวิต, ลูกประคำ...แสดงถึงกาลเวลา และดอกบัว... ความบริสุทธิ์และความสงบสุข
ตำนานเล่าว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์คนแรกขึ้นมา และกำหนดให้โลกดำเนินไปตามกฎแห่งธรรมชาติ พระองค์ยังเป็นผู้ประทานสติปัญญาให้แก่มนุษย์ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและพัฒนาโลกต่อไป

...
ตอกย้ำศรัทธาความเชื่อเกี่ยวกับพระพรหมในบ้านเรา ท่านเป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา ความเมตตา และโชคลาภ ผู้ที่กราบไหว้พระพรหมมักเชื่อกันว่าจะได้รับพรในเรื่องต่างๆ ได้แก่
การงานและความสำเร็จ...พระพรหมถือเป็นเทพที่ประทานปัญญาและความสำเร็จแก่ผู้ศรัทธา โชคลาภและความมั่งคั่ง...เชื่อว่าพระ พรหมสามารถประทานความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง การเริ่มต้นใหม่...การบูชาพระพรหมมักกระทำเมื่อเริ่มต้นธุรกิจหรือเริ่มต้นชีวิตใหม่
นับรวมไปถึงการอธิษฐานขอพรเรื่องคู่ครอง...พระพรหมถือเป็นเทพที่ส่งเสริมความรัก และครอบครัวที่มั่นคง
การบูชาพระพรหมภายในบ้าน (การตั้งศาล) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ศรัทธานำมาเสริมสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ครอบครัว อย่างไร ก็ตาม การบูชานี้ควรทำด้วยความเคารพ...ปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง มุ่งหมายเสริมสิริ มงคลในชีวิตและเปิดทางสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เริ่มจาก...สถานที่ตั้ง ควรเลือกบริเวณที่เป็นพื้นดิน ยกสูงขึ้นประมาณ 1 คืบ หลีกเลี่ยงการตั้งศาลในที่ที่มีเงาของบ้านทอดลงมาทับ
ถัดมา...ทิศทาง ไม่ควรตั้งศาลหันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้านหรือใกล้กับห้องน้ำ นับรวมไปถึงความสูง ควรตั้งศาลให้สูงเหนือระดับสายตาเล็กน้อย และรูปแบบศาล แนะนำให้ใช้เทวาลัยที่เปิดออกทั้ง 4 ทิศ

...
การไหว้ควรไหว้ให้ครบทุกพักตร์ โดยเริ่มจากพักตร์แรกแล้วเวียนขวา พักตร์ที่ 1 (ทิศเหนือ)...ขอพรเรื่องการงาน การเรียน อำนาจบารมี พักตร์ที่ 2 (ทิศตะวันออก)...ขอพรเรื่องทรัพย์สิน การเงิน พักตร์ที่ 3 (ทิศใต้)...ขอพรเรื่องครอบครัว สุขภาพ พักตร์ที่ 4 (ทิศตะวันตก)...ขอพรเรื่องโชคลาภ การเสี่ยงดวง
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม