ทะเล “ตะรุเตา” มีพื้นที่ทะเลรวมเกาะต่างๆประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร หรือราว 931,250 ไร่ ในเขตจังหวัดสตูล โดยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ทะเลแห่งนี้เคยลี้ลับยากจะเดินทางไปถึง เวลาที่เหมาะสำหรับเดินทางมีเพียง 3 เดือนใน 1 ปี ด้วยว่าทะเลมีความปั่นป่วนจากมรสุมรุนแรงสร้างความสูงคลื่นแต่ละลูกอย่างน้อย 2-3 เมตรขึ้นไป
เรือที่ใช้สัญจรไปมามีเพียงหมู่เรือประมงซึ่งต้องใช้เวลานานค่อนวันค่อนคืนเท่านั้น มนุษย์ที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่บนเกาะกลางท้องทะเลแห่งนั้น มันจึงห่างยิ่งกว่าไกลปืนเที่ยงเสียอีก
นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง...ที่ทำให้เกิดกลุ่ม “โจรสลัด” ขึ้นคอยดักปล้นเรือสำเภาสินค้าจากจีน ที่เข้ามาทำการค้าขายในแผ่นดินสยาม โดยวิธีการปล้นสลัดจะบังคับเรือเป้าหมายเก็บใบด้วยคำสั่ง “โละผ่าง”
เพื่อหยุดเรือมิให้แล่นตามแรงลม แล้วจัดการกวาดทรัพย์สมบัติเสบียงกรังจนหนำใจ ...หากต่อสู้หรือขัดขวาง ประกาศิตมีเพียงอย่างเดียว คือ...ฆ่าทิ้งแล้วเผาเรือจมสู่ก้นทะเลทันที!

...
ปฏิบัติการชั่วโฉดครั้งนั้นร้อนถึงเจ้าอาณา นิคมอังกฤษ ขณะครอบครองดินแดนเพื่อนบ้าน ต้องส่งกองเรือมากวาดล้าง เพราะเดือดร้อนไปทั่วถึงฝั่งมลายู แล้วความจริงก็ถึงถูกเปิดเผย...สลัดที่ว่าคือนักโทษฉกรรจ์ผู้ถูกจองจำอยู่ในคุกธรรมชาติตะรุเตาช่วงปี 2484 ถึง 2487 ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานและอดๆอยากๆจากผู้คุมฉ้อฉลที่คอยเบียดบังข้าวปลาอาหารเลี้ยงนักโทษ
จากนั้นทะเลตะรุเตาก็ปิดฉากการปล้นสะดมเรือสำเภาเหล่าพ่อค้าวาณิช คงเหลือแต่ปัญหานายทุนผู้มีอิทธิพลบุกคืบเข้ามาฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต จาก “เหนือฟ้า” อันเต็มไปด้วยนกนานาชนิด “ใต้บาดาล” ทั้งกุ้งหอยปูปลาแสนจะสมบูรณ์ อีกทั้งป่าไม้แล้วก็สัตว์ป่าใต้ฟ้าเหนือบาดาลกลางทะเลกว้าง
ที่น่าสลดประชากรเต่ากระ เต่ามะเฟืองเต่าตนุ ซึ่งหวั่นๆจะสูญพันธุ์ในเร็ววันจนต้องเร่ง อนุบาลขยายพันธุ์แล้วส่งกลับทะเลบ้านของมัน...จึงควรรู้ “เกาะไข่” เกาะเล็กๆอยู่ระหว่างเกาะอาดัง-ราวี กับหลีเป๊ะซึ่งมีชะง่อนหินรูปโพรงถ้ำครอบชายหาดสวยยิ่งกว่าภาพถ่าย
ที่นี่เคยเป็นแหล่งเต่าขึ้นมาวางไข่ประจำทุกปี...ปัจจุบันน่าเสียดายที่ไม่มีเช่นนั้นอีกแล้ว?
แม้แต่ “กุ้งการัง” หรือ “กุ้งมังกร” ที่เคยชุกชุมตามโขดหินใต้บาดาลก็ถึงวันจางหาย...ที่เห็นขณะนี้ล้วนเป็นกุ้งนำเข้าจากทะเลเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น ปัญหานี้โทษใครไม่ได้...นอกจากบ้านเรามีกฎหมายเหมือนไม่มี ดีไม่ดีมีเจ้าหน้าที่แอบไปเอี่ยวอยู่ด้วย? ไม่เช่นนั้นคงไม่ปล่อยให้ใช้วิธีทำประมงด้วยวัตถุระเบิดอย่างเสรี อีกอย่างขณะนั้นยังไม่มีศาลเจ้าองค์ใดให้เห็นเป็นที่ยำเกรง

มาถึงคอนเทนต์ที่คนยุคนี้ชอบสร้าง กรณีเมืองไทยฮอตฮิตหาแดนมหัศจรรย์ปั้นเป็นสินค้าขายท่องเที่ยวขายทั้งในและต่างประเทศเชิง “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์” ซึ่งขายดิบขายดีมานาน
ทะเลตะรุเตามี “เกาะหินงาม” ห่างฝั่งสตูล 85 กิโลเมตร ห่างเกาะอาดัง-ราวี 2.5 กิโลเมตร และเกาะหลีเป๊ะ 5.5 กิโลเมตร องค์ประกอบคือ...งดงามน่าพิศวงด้วยเป็นเกาะขนาดเล็ก ประดับด้วยหินก้อนกลมเกลี้ยงสลับเลื่อมลาย ยามใดถูกน้ำทะเลสาดใส่แวววับจับเป็นสีดำคาดน้ำตาลอมเหลือง
ความแปลกตรงเป็นเกาะที่ปราศจากเม็ดทรายเช่นชายหาดทั่วๆไป...
นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า หินชนิดนี้คือ “ออบซิเดียน” ภูเขาไฟ มีซิลิกาทำให้เกิดความหนืด สูงพอที่จะระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อหลายพันปีก่อน และเชื่อว่าลักษณะดังกล่าว...น่าจะมีส่วนเอื้อให้ฉลามเข้ามาป้วนเปี้ยน ด้วยไม่มีเม็ดทรายคอยรบกวนดวงตาของมัน ก่อนปี 2517 ขณะตะรุเตายังไม่มี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติควบคุม เกาะหินงามได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลี้ลับ เวลานั้นเกิดมีข่าวลับๆแพล็มออกมาว่า...หินแสนงามจำนวนหนึ่งได้ถูกบุคคลมากบารมีรายหนึ่ง โกยใส่ลำเรือไปมอบให้คนระดับยอดปิรามิดบ้านเมืองถึงเมืองหลวง เพื่อใช้เป็นเครื่องตกแต่งคฤหาสน์หลังงาม โดยไม่อายต่อผีสางเทวดาที่จับตามอง

...
ครั้งนั้นเช่นกันคนมักคุ้นกับเกาะนี้ ต่างรู้ดีว่าหินแต่ละก้อนมีกฎหมายสงวนแต่ไร้คนดูแล กระนั้นก็มีเทพสถิต ณ แดนต่างมิติพิทักษ์ ที่ไม่ว่าใครหน้าไหนลองหยิบฉวยเอาไป เป็นต้องได้เจอดีไม่เป็นอันกินอันนอน...จนต้องนำไปไถ่บาปไว้กับวัดแทนคืนสู่ทะเล อาการถึงจะทุเลาลง
ต่อเมื่อมีการประกาศยกพื้นที่ทะเลตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย เกาะหินงามมีคุณค่าควรฟูมฟักไม่ต่างไข่ในหิน แต่ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้
โดยห้ามผู้ใดทำลายหรือหยิบฉวยเป็นสมบัติตนเด็ดขาด
นับแต่วันนั้น...ทะเลที่เคยลี้ลับอัศจรรย์โดยธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบ ก็กลายเป็นแหล่งชุมนุมนักท่องเที่ยว เริ่มแต่คุกเก่าตะรุเตาซึ่งประจันหน้าเกาะลังกาวีมาเลเซีย ถึงเกาะอาดัง-ราวี เกาะไข่ เกาะหลีเป๊ะและเกาะหินงาม โดยมีเรือเร็วโดยสารใช้เวลาเดินทางไปเกาะตะรุเตาถึงหลีเป๊ะและหินงามย่นสั้นกว่าแต่ก่อน
แล้วก็เพราะธรรมชาติของหินออบซิเดียนนั้นงามกลมเกลี้ยง ช่างยั่วยวนให้คนมาถึงแอบขโมยกลับออกไป โดยลืมไปว่า...หินแต่ละก้อนนั้นล้วนมีคำสาปซ่อนอยู่ภายใน และไม่สนใจป้ายห้ามเตือนจากอุทยานแห่งชาติ ปาฏิหาริย์...จึงอุบัติตามมาพลันกับคนที่อยากลองดี มีอาการไม่สู้ดียามเดินทางกลับ หรือป่วยไข้ไม่ปกติสุขตลอดเวลาที่ครอบครองหินเหล่านั้น

บ่อยครั้งเวลานั้นหินที่ถูกขโมยมาจะถูกส่งคืนสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ พร้อมคำขอขมาจากถิ่นต่างๆที่ไกลไปถึงประเทศแดนไกล เพื่อนำไปสู่ที่อยู่เดิมคือเกาะหินงามของมัน...กระทั่งปี 2524 ผู้ดูแลพื้นที่อย่างเป็นทางการได้สร้างศาลเจ้าพ่อตะรุเตาขึ้น โดยอัญเชิญวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่จากไปด้วยภารกิจทางทะเลมาสถิต ณ ศาลแห่งนี้ ก็ยิ่งเพิ่มความขลังให้กับเกาะหินงามมากขึ้น อะไรไม่ว่า...จะด้วยปาฏิหาริย์หรือมนต์คำสาปที่มีจริง และแสดงให้เห็นกันช้าหรือเร็วในพิภพนี้ก็ตาม ปรากฏว่า...ได้เกิดข่าวครึกโครมบนหน้าสื่อทุกแขนง ถึงชายผู้มากมีบารมีฝืนท้าทายคำสาปแช่ง ที่นำหินอัคนีจากเกาะหินงามไปบรรณาการบุคคลระดับยอดปิรามิดบ้านเมือง...


...
ถูก...ลอบสังหารต่อหน้าฝูงชนจำนวนมากกลางเมืองใหญ่ภาคใต้
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม