“เย ธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญ จ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโน” คาถาสี่บทนี้...มีคำแปลว่า ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และดับเหตุแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณมีวาทะอย่างนี้
แม้เป็นคาถาแสนสั้น...แต่มานพผู้แสวงหา อย่างอุปติสสะ ก็เข้าใจแจ่มแจ้ง นี่คือคำสอนจากศาสดาองค์จริง...ภาษาชาวพุทธว่าได้ดวงตาเห็นธรรม...
รีบไปชวนเพื่อนมานพโกลิตะ ทั้งยังมีใจไปชวนอาจารย์สัญชัย...แต่อาจารย์ยังติดใจฐานะเจ้าสำนักใหญ่ปฏิเสธ สองมานพขอบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา
โลกรู้จักกันต่อมา พระสารีบุตร เอกอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะ เอกอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า
พระสารีบุตร แสดงธรรมได้ลุ่มลึกทั้งกว้างขวางเจนจบ... พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า “สอนแทนพระองค์ได้” แต่กระนั้น พระสารีบุตร ไม่เคยลืมคำสอนเยธัมมาของพระ “อัสสชิ” อาจารย์คนแรก รู้ว่าอาจารย์อยู่ทางทิศไหน ท่านก็จะหันศีรษะไปทางนั้น
พระอัสสชิ เป็นบุตรของพราหมณ์ทั้ง 8 ที่ทำนายพระลักษณะ เจ้าชายสิทธัตถะ...ถ้าเป็นคฤหัสถ์จะเป็นจักรพรรดิ ถ้าบวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก รู้ข่าวเจ้าชายทิ้งราชสมบัติออกบวช ก็ชวนเพื่อนอีกสามคนตามโกณฑัญญะพราหมณ์ ไปปรนนิบัติ...และเมื่อเจ้าชายตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
...
ก็ทรงตามไปสอนอริยสัจ 4 จนถือเป็นพระปัญจวัคคีย์พระภิกษุในพุทธศาสนากลุ่มแรก
คาถา เย ธัมมา...ที่จริงก็คืออีกสำนวน บอกเนื้อหาอริยสัจ 4 ถือกันว่าเป็นคาถาที่สั้นและขลังกว่าคาถาใดๆ...อีกสามร้อยปีต่อมา พระเจ้าอโศกทรงเผยแผ่พุทธศาสนา...ก็ยังทรงใช้
พระพิมพ์สมัยศรีวิชัยในภาคใต้ หรือสมัยทวารวดีในภาคกลาง...จารึกคาถา “เย ธัมมา...” ยืนยันว่า คำสอนพระอัสสชิ ถูกเลือกไปใช้ แพร่หลาย กว้างไกลไปทั้งโลก
เหตุเกิดจากที่ใด ก็ต้องตามไปดูให้รู้ต้นเหตุและหาวิธีดับที่ต้นเหตุ นี่คือคาถาดับทุกข์ ที่ถูกใช้ดับทุกข์ได้จริง
คำสอนนี้มีที่มาที่ไป “กิเลน ประลองเชิง” บันทึกไว้ในคอลัมน์ “ชักธงรบ” เรื่อง “เย ธัมมา คาถาดับทุกข์” หลายปีมาแล้ว...เท้าความไปในหกสำนักศาสนาใหญ่ สมัยพุทธกาล สำนักของสัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นสำนักใหญ่ บรรดาสาวกได้ชื่อว่า “ปริพาชก” เก่งกาจในทางตอบโต้ปัญหา “อุปติสสมานพ” ถูกนับเป็นสาวกมือหนึ่ง อุปติสสมานพ เป็นลูกคนรวย เบื่อหน่ายชีวิตฟุ้งเฟ้อหรูหรา
...อยู่กับอาจารย์สัญชัยนานจนพบว่า คำสอนอาจารย์ยังดับทุกข์ได้ไม่จริง
เช้าวันหนึ่ง ในเมืองราชคฤห์ อุปติสสะเห็นนักบวชหัวโล้นห่มเหลืองเดินบิณฑบาต คู้เหยียดมือเท้า การเหลียวดูเป็นไปอย่างสงบสำรวม น่าเลื่อมใส ก็สะดุดใจเดินตาม รอจนนักบวชนั้น นั่งฉันอาหารเสร็จ ก็ถาม...“อาจารย์ท่านเป็นใคร อาจารย์ท่านสอนอะไร”
นักบวชผู้นั้นออกตัวว่า บวชได้ไม่นาน ไม่สามารถสอนธรรมโดยพิสดาร อุปติสสะก็บอกว่า ขอแค่ย่อๆก็ได้ดังความข้างต้นที่กล่าวมานี้เอง
@@@@@@
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆว่า “เสด็จเตี่ย”
“เสด็จเตี่ย”...ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งทหารเรือไทย พระองค์ท่านเป็นที่ศรัทธา เคารพรักของเหล่าทหารเรือ ชาวประมง และประชาชนทั่วไป ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นคนที่มีเมตตามาก ทำให้ใครต่อใครต่างก็พากันมาขอพรกับพระรูปกรมหลวงชุมพรกันมากมาย บนบานศาลกล่าวขอกันแทบจะทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน การเงิน การค้าขาย สุขภาพ ความรัก หรือแม้กระทั่งเรื่องการเรียน การสอบเข้าเรียนต่อในสถานศึกษา สถาบันต่างๆ
...
เครื่องสักการะที่ต้องเตรียมจะมีธูป 9 ดอก (19 ดอกก็ได้), เทียน 1 คู่, ดอกกุหลาบสีแดงหรือพวงมาลัยดอกมะลิ, หมากพลู, เบียร์, บรั่นดี, บุหรี่, ขนมหวาน...ผลไม้, กับข้าวไทย, ปืนใหญ่ หรือเรือรบจำลอง เป็นต้น
อีกครั้งที่คนใกล้ตัวมีโอกาสแวะสักการะศาลเสด็จเตี่ย บ้านเพ จ.ระยอง อีกที่ซึ่งมีผู้คนศรัทธามากล้นเดินทางเข้ามาแวะกราบไหว้ สักการะด้วยว่ามีเครื่องแก้บนมากมาย แต่ที่มากเป็นพิเศษก็คือรูปปั้นทหารเหล่าต่างๆ ตำรวจ โดยเฉพาะทหารเรือดูจะมากกว่าเพื่อน นับรวมไปถึงรูปปั้นช้าง ม้า ไก่ ปืนโบราณ ก็มีอยู่ไม่น้อย
จุดธูปเทียนบูชาเรียบร้อยแล้วกล่าว พระคาถาบูชาประจำพระองค์ “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ตั้งนะโม 3 จบ “โอมชุมพร จุติ อิทธิกะระนังสุขโข นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะ กะสะ มะอะอุ” (3, 5, 9 จบ)
@@@@@@
“โอมชุมพร จุติ อิทธิกะระนังสุขโข นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะ กะสะ มะอะอุ” คำบูชากรมหลวงชุมพรฯ มีความหมายอย่างยิ่ง นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อธิบายสรุปความเอาไว้ว่า...
“ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระรัตนตรัย ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกกับขอน้อมไหว้บูชา พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย แม้สิ้นพระชนม์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอบูชาด้วยการปฏิบัติตนนอบน้อมพระพุทธองค์...ดำเนินชีวิตด้วยการไม่คบคนพาล สังสรรค์บัณฑิต ทำดีเป็นนิตย์ คิดถึงอนิจจังตลอดไป ขอพระองค์โปรดประทานความสำเร็จ ความสุขสมหวัง แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเทอญ”
...
นาวาเอกทองย้อย ย้ำว่า...รู้ว่าดีแล้วปฏิบัติ ได้ผลชะงัดยิ่งกว่าท่องคำบูชา
วันนี้เสี่ยงเซียมซีสรุปความรวมว่า *ดวงชะตาท่านดีมาก* หนึ่ง...เจ้านายเมตตาเอ็นดู สอง...เริ่มมีโชคแล้ว สาม...คนไข้กำลังป่วยจะทุเลา สี่...คนรักคนนี้ ใช่แล้ว ห้า...บุตรในท้องเป็นชาย หก...การที่คิดไว้จะสำเร็จ
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหนือฟ้าใต้บาดาล" เพิมเติม