พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ หนึ่งในไฮไลต์ของงานที่น่าสนใจเป็นอย่างมากนั่นคือ ราชรถทองคำ ที่มีอายุกว่า 260 ปี
รู้จัก “ราชรถทองคำ” ราชรถในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ราชรถทองคำ หรือ Gold State Coach ถือเป็นราชรถที่มีความเก่าแก่อายุ 260 ปี โดยถือเป็นราชรถที่ใช้งานเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อเดินทางไปเปิดการประชุมของรัฐสภาในปี ค.ศ. 1762 ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ในปี ค.ศ. 1831
ด้านการออกแบบเป็นผลงานของ วิลเลียม แชมเบอร์ส และสร้างโดยซามูเอล บัตเลอร์ ใช้งบประมาณในเวลานั้นประมาณ 7,561 ปอนด์ 18 ชิลลิง และ 11 เพนนี คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านปอนด์
ข้อมูลจำเพาะของราชรถทองคำ มีความยาว 7 เมตร สูง 3.6 เมตร น้ำหนักราว 4 ตัน โดยบริเวณรอบราชรถมีการตกแต่งเป็นจิตรกรรมบนแผ่นไม้ ปิดด้วยทองคำเปลวบางๆ
บริเวณด้านหน้าของราชรถทองคำ มาพร้อมกับรูปสลักไทรทัน (Tritons) ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่งในเทพปกรณัมกรีก โดยเป็นโอรสของโพไซดอน เจ้าสมุทร กับแอมฟิไทรที มารดาแห่งท้องทะเล ทั้งนี้ไทรทันจะทำหน้าที่เป็นผู้แจ้งข่าวแห่งท้องทะเล ลักษณะของร่างกายของไทรทันท่อนบนเป็นมนุษย์ และท่อนล่างเป็นเงือก
ขณะที่ บริเวณหลังคาเป็นรูปสลักของเทวดาน้อยมีปีก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ รวมกันเป็นสหราชอาณาจักร ส่วนการตกแต่งของห้องโดยสารถูกบุด้วยผ้ากำมะหยี่และผ้าซาติน
ตามธรรมเนียมเดิมการใช้งานราชรถทองคำ จะถูกใช้ในขบวนเสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แต่ด้วยความไม่สะดวกของพระราชพาหนะนี้ จึงทำให้ถูกยกเลิกแล้วหันไปใช้ราชรถพัชราภิเษก (Diamond Jubilee State Coach) ที่มีความสะดวกสบายกว่า มีความทันสมัย มาพร้อมกับเครื่องปรับอากาศ กระจกไฟฟ้า และระบบกันสะเทือน อย่างไรก็ตาม ราชรถทองคำยังคงไม่หายไปไหน แต่จะถูกนำไปใช้งานในช่วงหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแทน
...
ย้อนหลังกลับไปในปี 2018 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยให้สัมภาษณ์ในสารคดี โดยทรงบรรยายถึงราชรถทองคำนี้ว่า เป็นประสบการณ์เดินทางที่น่าสยดสยอง (Horrible) น่าอึดอัด (Uncomfortable) และไม่เหมาะสำหรับการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่าราชรถทองคำจะมีข้อเสียจากการที่เป็นพระราชพาหนะที่ไม่สะดวกนัก แต่ถ้ามองในเชิงมุมของศิลปะแล้ว นับเป็นผลงานศิลปะที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะงานแกะสลักที่ปรากฏอยู่โดยรอบราชรถทองคำนั้นมีความประณีตเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นผลงานศิลปะที่ถูกนำมาใช้งานได้จริง และเคลื่อนที่ได้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. นี้ โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษลำดับที่ 40 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1066 เป็นต้นมา
ที่มา: Tatler, BBC, Telegraph (1), Telegraph (2)