ที่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีบันทึกประวัติศาสตร์ปรากฏใน “นิราศเมืองแกลง” ที่ “สุนทรภู่” ซึ่งต่อมาก็คือ “พระสุนทรโวหาร” ได้เขียนถึงเมื่อครั้งลงเรือจากเมืองหลวงมาเยือนถิ่นที่ “นายพลับ” พ่อบังเกิดเกล้าบวชเป็นพระอยู่ยังวัด ณ แผ่นดินนี้

ต่อมา...เมื่อกวีร้อยกรองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยุคต้น ผู้ซึ่งยูเนสโกยกย่องให้เป็นสุดยอดของโลกด้านวรรณกรรม วายชนม์ลงด้วยวัย 69 ปี ในปี พ.ศ.2398 ก็ได้สร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อไว้บนเนินดิน พร้อมตัวละครบอกเอกลักษณ์ในวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” เพื่อสื่อสู่ลูกหลานได้สักการะกวีเอกท่านนี้ไว้กลางชุมชน

เป็นเรื่องเล่าขานกันว่า...ใครจะมาจากแห่งหนตำบลใดก็ตามที ถ้าได้กราบบูชาแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอสิ่งใดในความก้าวหน้าต่อหน้าที่การงาน...ก็มักได้สิ่งนั้นสมความตั้งใจ

แล้วยังร่ำลือกันในหมู่ผู้ประกอบอาชีพครูอีกว่า เป็นแหล่งวิญญาณ “ปู่ภู่” สิงสถิตอยู่ที่นี่ และมีมิติกุศลแก่คนอาชีพนี้เป็นพิเศษ

...

ดังตัวอย่าง...ที่บ้านกร่ำ อ.แกลง ปัจจุบันคือถิ่นกำเนิดของ “ครู” คนหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นลูกหลาน “ปู่ภู่” โดยแท้ สู้อุตส่าห์สั่งสมสิ่งของรุ่นเก่าเก็บจากทั่วประเทศ แล้วรวบรวมไว้เป็นสมบัติเกินค่า

กระทั่ง...วันหนึ่งในปี 2555 เหมือนมีสิ่งดลใจเกิดขึ้นในบัดดล เมื่อมีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งมาเยือนและพบเห็นสิ่งเหล่านี้เข้า จึงเอ่ยปากถาม “มีของดีมากค่าอย่างนี้จะเก็บไว้ดูคนเดียวได้ยังไง?”

ประโยคดังกล่าวคือแรงบันดาลใจให้ครูคนนี้ ตัดสินใจกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมาลงทุนบูรณะบ้านเรือนไม้ซึ่งเป็นมรดกที่ตนอยู่อาศัยมานาน เป็น “พิพิธภัณฑ์” แสดงของเก่าเก็บเมื่อปี 2556 ได้เริ่มสร้างเรือนหลังใหญ่ทรง 2 ชั้น กับอาคารประกอบอีก 4 หลัง บนเนื้อที่ 2 ไร่ ตรงริมถนนบ้านกร่ำ-อ.แกลง

ห่างอนุสาวรีย์ “ปู่ภู่” 500 เมตร ใช้เงินทั้งสิ้น 4 ล้าน 2 แสนบาท

ได้ฤกษ์เปิดเป็นทางการเมื่อ 1 กรกฎาคม 2558...มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์บ้านครูกัง” อันเป็นชื่อครูเจ้าของบ้าน “บุญเกียรติ บุญช่วยเหลือ” ซึ่งเกษียณจากครูหลวงในปีเดียวกัน โดยหันมาทำหน้าที่ “ภัณฑารักษ์” ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คู่กับภรรยาจนวันนี้

O O O O

“พิพิธภัณฑ์บ้านครูกัง” มีต้นไม้ใหญ่อยู่เคียงข้างและมีตู้ไปรษณีย์โบราณรูปทรงกลมสูง 1.30 เมตร สไตล์ “รอยัล คราวน์ พิลลาร์” ต้นแบบอังกฤษ วางอยู่ปากทางเข้าประตูประดับลายลูกไม้และเรือนไม้ฉลุ ลายอยู่ภายในโถงด้านหน้าจัดแสดงรถเบนซ์เก่ารุ่นโบราณ รถม้า สล่าลำปาง มอเตอร์ไซค์ โดยสารพ่วงหลังศรีราชา สามล้อถีบรับจ้างสมัยคุณย่า จักรยานเก่าทรงจีน ภายในแสดงร้านเสริมสวยสุภาพสตรี ร้านตัดผมชายรุ่นโก๋หลังวัง

ส่วนมุมห้องเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นจำลองเกจิอาจารย์ที่ผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว อาทิ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” วัดช้างไห้ จ.ปัตตานี “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี)” หรือที่สาวกนักเลงพระเรียก “สมเด็จวัดระฆัง” พระมหานิกาย แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี

...

“พระครูภาวนาภิรัต” ที่คนระยองรู้จักในฉายา “หลวงปู่ทิม อิสริโก” วัดละหารไร่ “พระครูวิมลคุณากร” หรือ “หลวงปู่ศุข เกสโร” วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท แล้วยังมีพระผงกับเหรียญบูชาซึ่งได้มาจากแหล่งต่างๆทั่วประเทศมากมาย....ที่ขาดเสียมิได้สำหรับสถานที่นี้ คือรูปหล่อ “ปู่ภู่” ขนาดความสูง 1 ฟุต จำลองมาจากต้นแบบอนุสาวรีย์ และอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย

อีกทั้งยังมีของใช้ในครัวเรือนรุ่นเตาถ่าน เช่น ปิ่นโตเถายาว เครื่องสีข้าว โม่บดแป้งนอกจากนี้เป็นโรงฉายภาพยนตร์จำลองพร้อมเครื่องฉายยุคซีนีมาสโคป เตารีดโบราณ เครื่องคิดเลขแบบลูกคิดรางไม้ รวมสิ่งของเก่าเก็บกว่า 3,000 รายการที่นำมาแสดง...และครูกังใช้เงินลงทุนไปแล้วถึง 7 ล้านบาท

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ วัชรพล สารสอน ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง ส่งเสริมเป็นแหล่งเที่ยวประเภท “อะเมซิ่ง มิวเซียม” ภายใต้ “อันซีน ไทยแลนด์”...เครือข่ายอนุสาวรีย์ “ปู่ภู่”

O O O O

บรรดาของเก่าเก็บแต่ละชิ้นภายใน “พิพิธภัณฑ์บ้านครูกัง” ล้วนเคยมีเจ้าของครอบครองมาก่อนและเชื่อว่าแต่ละชิ้นที่ครูกังหามาได้ คนที่เคยเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในอดีตได้จากลาโลกนี้ไปนาน ทิ้งสิ่งของตามสมัยนิยมขณะนั้น แต่ความเชื่อผู้คนบางส่วนยังผูกติดที่ว่า...วัตถุนั้นย่อมมีจิตวิญญาณผู้ครอบครองเดิมในอีกมิติหนึ่งแฝงอยู่ สามารถสัมผัสได้ด้วยกระแสจิตของคนที่มีพลังส่งถึงกัน

“ผมไม่ค่อยยึดติดกับเรื่องพวกนี้” ครูกัง ว่า “มีบางวันที่เงียบสงบเวลาไม่มีผู้ชม แต่มีลมพัดจากภายนอกทำให้สิ่งของบางชิ้นหล่นลงพื้น ทำให้หลงคิดไปว่าเจ้าของเก่ามาแสดงตนให้รู้ด้วยเสียงให้ได้ยิน แต่ไม่เคยอวดความเป็นเจ้าของให้ปรากฏ...คงรู้และเข้าใจว่าผมเก็บรักษาสมบัติเก่าทุกชิ้นเอาไว้อย่างดี”

ทุกปีครูกังกับครอบครัวจะทำบุญบ้านหลังนี้ ที่สร้างความสุขความเจริญให้ตนกับภรรยาและลูกทั้งสามคน ทุกครั้งจะไม่ลืมแผ่ส่วนบุญกุศลไปถึงเจ้าของสมบัติทุกชิ้น

บอกย้ำด้วยว่าจะดูแลรักษาทุกอย่างเหมือนเจ้าของเดิม...“อย่าได้ห่วง”

...

“ปกติผมเองประพฤติดีทำดีมาตลอดไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง จึงไม่น่าจะมีสิ่งเลวร้ายหรือ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดมากระทบกับตนเองและพิพิธภัณฑ์ของเก่าแห่งนี้ ...ตรงกันข้ามทุกวันนี้มีผู้มาชมมากขึ้น

บางวันที่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์มีผู้ชมมากถึงวันละหมื่นคน จนทำให้มีแรงหนุนพอที่จะออกไปหาของเก่าที่หาไม่ได้วันนี้มาเพิ่มอยู่ตลอด”

ครูกังหยุดคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนกล่าว แต่ใช่ว่า...ผมจะขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำรงชีวิต ที่ผมนับถือกราบไหว้ประจำอยู่ทุกวันนี้คือ “ดวงอาทิตย์” กับ “ดวงจันทร์” ผู้ให้แสงสว่างทั้งวันและคืน

คิดดู...ยามเช้าเมื่อเปิดประตูบานแรกจะพบแสงแรกส่องเข้ามา ผมจะไหว้ทันทีเพื่อให้เกิดมงคล คืนไหนพระจันทร์เต็มดวงก็จะไหว้เป็นการขอบคุณที่ให้แสงสว่างแก่ชีวิต...

นี่คือสัจจะมงคลเหนืออื่นใดสำหรับคนชื่อ “กัง” ที่ปฏิบัติถึงวันนี้ และนี่คือศรัทธาส่วนตัวแบบฉบับลับเฉพาะที่ครูกังมีต่อแสงสว่างจาก “ดวงอาทิตย์” และ “ดวงจันทร์”

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม