“วัดวังไทร”...มีอดีตเจ้าอาวาส คือท่าน เอียด ญาณรังสี เป็นเกจิที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านกำโลน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับคลองท่าดี อันเกิดจากหุบเขาหลวง น่าสนใจว่า...เส้นทางนี้ในอดีตเคยเป็นทางเดินเรือของชาวบ้าน ซึ่งคนที่ทราบหรือคนในเมืองนครศรี ธรรมราชจะเรียกว่า...เรือเหนือ

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บันทึกไว้ว่า การล่องเรือจะไปตามการไหลของกระแสน้ำ แต่ตอนขึ้นที่น้ำขุ่น (น้ำนิ่ง) แต่ตรงนี้น้ำกระแสแรงก็ต้องถ่อและลากเพื่อให้ผ่านคุ้งน้ำไปให้ได้

วัดวังไทร หมู่ที่ 2 ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช หากเดินทางไปบ้านคีรีวง จะอยู่ช่วงกลางๆ และอยู่ติดกับถนนเป็นวัด โบราณ มีเจดีย์เก่าแก่อยู่ 4 องค์ทรุดโทรมมากแล้ว

แรกเริ่มเดิมทีมาจากวังพระยาไทร เพราะเดิมเป็นที่พักของพระยาไทรบุรีที่มีมาอำนวยการในการคล้องช้าง

จึงเรียกกันว่า “วังพระยาไทร” ต่อมาตั้งเป็นวัดขึ้นเรียกว่า “วัดวังไทร”...ผ่านมาในภายหลังชาวบ้านเข้าใจว่า วังไทรหมายถึงต้นไทรที่อยู่ริมฝั่งน้ำหน้าวัด

...

เปิดบันทึกความเป็นมาของชื่อบ้านจากคำบอกเล่าและความเข้าใจเหตุที่บ้านนี้ชื่อว่า บ้านวังไทร นั้น มีที่มาที่ไปอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ...สันนิษฐานว่ามีต้นไทรใหญ่อยู่ริมคลองท่าดี ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปากนคร บริเวณนี้มีน้ำลึกมากชาวบ้านจะเรียกที่น้ำลึกว่า...“วัง” จึงเรียกบ้านนี้ว่า...“บ้านวังไทร”

ประการที่สอง...ผู้เล่าได้รับการถ่ายทอดจากหลวงพ่อเอียด ญาณรังสี เจ้าอาวาสวัดวังไทร เดิมซึ่งมรณภาพไปแล้วเล่าว่า วัดวังไทรนั้นสร้างมาหลายร้อยปีแล้ว

ตั้งแต่สมัยนครศรีธรรมราชเป็นอาณาจักรไม่ขึ้นกับกรุงสุโขทัย หรือกรุงศรีอยุธยา เมืองทางใต้มีอาณาเขตไปถึงเมืองไทรบุรีสมัยนั้น ภูมิประเทศแถบนี้เป็นป่าดงมีสัตว์ป่า มีช้างโขลง บริเวณบ้านวังไทรนี้เป็นที่ราบ สมัยก่อนเจ้านายหรือเจ้าเมืองนิยมการจับช้างบริเวณวัดวังไทร เป็นที่พักของผู้อำนวยการจับช้าง

...คือ “พระยาไทรบุรี”

การจับช้างนี้มีอาณาเขตไปจนถึงอำเภอฉวางโดยใช้ไพร่พลไล่ต้อนให้มาเข้าเพนียด ซึ่งอยู่ที่บ้านวังไทร เหตุที่เป็นบ้านวังไทรก็เพราะบริเวณนี้เป็นที่พักของพระยาไทรบุรี ซึ่งคนที่เป็นเจ้าเมืองนั้นชาวบ้านจะยกย่องที่พักของพระยาไทรบุรีว่า...วังพระยาไทร ตอนหลังเรียกกร่อนเป็นวังไทรตามข้อมูลแรกที่กล่าวไปแล้ว

จากคำบอกกล่าวของ หลวงพ่อเอียด ญาณรังสี มีอีกว่า ก่อนที่จะมีพระภิกษุมาประจำอยู่นั้น ทราบว่ามีชีปะขาว (ตาสำรุษ) ได้อยู่เฝ้าบริเวณเจดีย์นี้มาก่อน

เข้าใจว่าเจดีย์เก่านี้ พระยาไทรบุรีเป็นผู้สร้างประมาณช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาต่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ศิลปะตรงมุมเจดีย์เป็นรูปยักษ์ ยังพอมองเห็นเค้าลางอยู่บ้าง โดยมีเจ้าอาวาสปกครองสืบต่อกันมาตั้งแต่พุทธศักราช 2419 ได้แก่ ท่านสมภารดำ, ท่านสมภารสุก, ท่านดำมารักษาการ (ดำยอดพิจิตร)

ราวปี 2439 ท่านดำร่วมกับคณะพุทธบริษัทได้นิมนต์ “อาจารย์ เอียด ญาณรังสี” จากวัดหน้าพระบรมธาตุ มาเป็นเจ้าอาวาสและในช่วงสมัยท่านได้มีการบำรุงพัฒนาวัดด้านถาวรวัตถุขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งพระอุโบสถ หอฉัน ศาลาการเปรียญและจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล สอนปริยัติธรรม

O O O O

“พระรอด”...ความเชื่อสำคัญผู้ศรัทธา บูชา คือแคล้วคลาด รอดพ้นปลอดภัย มีบันทึกเผยแพร่ไว้ในโลกออนไลน์ว่า มีการออกแบบโดยช่างหลวง จะเห็นได้จากพระรอดที่ขุดค้นพบที่บริเวณด้านหน้าวัดจามเทวี

...

ความกลมกลืนที่ช่างสะท้อนออกมาแฝงด้วยปรัชญา ความหมายแฝงทั้งรูปธรรม...นามธรรม มีพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ นับรวมไปถึงความสมส่วน สวยงามทางพุทธศิลป์ กล่าวได้ว่า...พระรอดนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในพระมหากษัตริย์ เสนาอำมาตย์ ทหาร และสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการสืบอายุพระศาสนา

การสร้างในแต่ละครั้งนั้น สร้างตามจำนวนพระธรรมขันธ์ 840,000 องค์หรือมากกว่า

ตอกย้ำปรัชญาความเชื่อเกี่ยวกับพระรอด สร้างเพื่อเป็นพระกำลังแผ่นดิน สร้างเพื่อขยายอาณาเขตของอาณาจักรหริภุญชัย มีเครื่องหมายพระราช ลัญจกร...ปรากฏที่พระ อุระในพระรอดพิมพ์ใหญ่ ในส่วนการบรรจุคาถาคัมภีร์ เทพชั้น สูงนั้น หมายถึงว่า ในการจัดสร้างพระรอดถือเป็นพิธีการที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ

...มีการบวงสรวงเชิญเทพ 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน ชาวเมืองเฉลิมฉลองในพิธีมงคล ในองค์พระนั้นพระฤาษีได้กำหนดให้ออกแบบเป็นภาษาเทพอันศักดิ์สิทธิ์ ให้บรรจุในใบโพธิ์สมมติไว้ล้อมรอบองค์พระ ว่ากันว่าด้วยเหตุนี้เองทำให้พระรอดมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง

อีกทั้งความสำคัญทางโบราณ คดี “พระรอด”...ยังมีคุณค่าในด้านการอนุรักษ์รักษา ด้วยความเก่าที่ไม่สามารถทำขึ้นมาใหม่ได้ ด้วยว่า พระรอดมีอายุความเก่า 1,300 ปี จึงมีค่าเป็นอย่างมาก

...

O O O O

วัดวังไทรแห่งนี้ ผู้คนไม่น้อยมีอีกหนึ่งความเชื่อ ศรัทธาเป็นอย่างยิ่งว่าหากมีโอกาสได้มาลอดซุ้มประตูพระรอดตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งนะโม 3 จบ สวดพระคาถา “โอมพระริรอด ขอดพระริรัง ปังพระริรอด” จะส่งผลดีเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตยิ่ง ทำกิจการงานใดๆ ก็จะประสบแต่ความสำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี

กระนั้นแล้วก็อย่าลืมว่า...ต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ อย่าประมาททุกขณะจิต

อาจกล่าวได้ว่า “พระรอด” นั้นเป็นพระดังแห่งเมืองลำพูน นับเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีมีพุทธคุณโดดเด่นในเรื่องแคล้วคลาดปลอดภัย จึงมีผู้นิยมพกติดตัวไว้ไม่ห่างกาย สำหรับประวัติความเป็นมานั้นมีมายาวนานนักนับแต่พระฤาษีสร้างนครหริภุญชัยเป็นเวลาพันปีล่วงมาแล้ว

วันเวลาผ่านมายาวนาจนถึงวันนี้ อาจจะพูดได้ว่า “พระรอด”ของแท้นั้นค่อนข้างหาได้ยากเต็มที กระนั้นก็มีการจัดสร้างพระรอดสมัยใหม่ขึ้นมาตามตำรับและมีพิธีพุทธาภิเษกอย่างสมบูรณ์อยู่ด้วยเช่นกัน

...

หัวใจสำคัญคือคาถาพระรอด ว่ากันว่า...หากไม่มีพระรอดองค์จริงก็สามารถนำพระถาคานี้ไปจารเป็นอักขระลงยันต์ได้ หรือบริกรรมพระคาถานี้... ก็มีความเชื่อศรัทธาว่าจะช่วยให้แคล้วคลาด ปลอดภัยได้เช่นกัน ประหนึ่งว่ามีพระรอดของแท้ไว้บูชา

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก–ยม