• เวทีการประกวด มิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 69 หรือ Miss Universe 2020 คือหนึ่งในการประชันความสวยความงามของเหล่าหญิงสาวจากนานาประเทศทั่วโลก ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเองด้วยการเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าแข่งขันได้แสดง 'คุณค่าความงาม' นอกเหนือจากเรือนร่างในแบบเดิมๆ ผ่านการแสดงความคิดเห็นทางสังคมการเมือง ...ทว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

จบไปแล้วสำหรับเวทีการประกวด มิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 69 หรือ Miss Universe 2020 เมื่อเช้าวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ตามเวลาของบ้านเรา) ซึ่งอาจมีผู้ชมที่ถูกใจบ้าง-ไม่ถูกใจบ้างกับผลประกวดที่ออกมา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ชาวไทยก็น่าจะภาคภูมิใจกับการทำหน้าที่อันน่าชื่นชมของ อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม สาวงามตัวแทนประเทศไทยที่มุ่งมั่นจนได้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส -- เวทีนางงามที่เรียกว่า ‘ทรงอิทธิพลที่สุด’ เวทีหนึ่งของโลก

นอกจากเรื่องการประชันความสวยความงามของเหล่าหญิงสาวจากนานาประเทศทั่วโลกบนเวทีแห่งนี้แล้ว เรายังพบว่าการประกวดนี้มีความน่าสนใจในอีกหลายแง่มุม โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘ความหลากหลายทางทัศนคติและวัฒนธรรม’ ซึ่งเป็นการพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับเวทีนางงาม ที่เปลี่ยนผ่านจากความงามบนเรือนร่าง มาสู่การเปิดพื้นที่ให้แก่ความงามทางความคิด ที่แสดงถึงความหลากหลายของผู้เข้าประกวดในแง่วัฒนธรรมและทัศนคติ เพื่อช่วยยกระดับเวทีนางงามให้กลายเป็นเวทีสื่อสารด้านประเด็นสังคมและการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

จริงๆ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ‘ภาพลักษณ์ความงาม’ ในลักษณะนี้ของวงการนางงามเกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากเวทีประเภทนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามจากวงวิชาการหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะสายสตรีนิยม (Feminism) ว่าการประกวดนางงามเป็นธุรกิจที่นิยมเอา ‘ร่างกายของผู้หญิงที่ยึดโยงอยู่บนมาตรฐานความงามเพียงแบบเดียว’ มาหากิน ซึ่งมักเป็นการลดทอนคุณค่า ‘ความเป็นหญิง’ และการเปลี่ยนผู้หญิงให้เป็น ‘สินค้าทางเพศ’ ที่ถูกผู้คนจับจ้อง ...ด้วยเหตุนี้ วงการนางงามจึงพยายามที่จะปรับทิศทางและมาตรฐานการประกวดของตัวเองให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไปมากขึ้นดังที่เห็น

...

กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มีเฉพาะบนการประกวดนางงามเวทีใดเวทีหนึ่งเท่านั้น หากแต่มีการเพิ่มคุณค่าใหม่นี้ลงไปในเกือบทุกเวทีการประกวด ไม่ว่าจะระดับสากลอย่าง Miss Universe, Miss World, Miss Grand จนถึงเวทีในระดับท้องถิ่น ยกตัวอย่างกรณีในไทยก็เช่น เวทีนางงามประจำจังหวัด/ภูมิภาค หรือแม้แต่เวทีประกวดนางงามที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ซึ่งในแต่ละเวทีก็จะมีเป้าหมายในการสื่อสารเพื่อเพิ่มคุณค่าของผู้เข้าประกวดผ่านประเด็นที่แตกต่างกันไป

อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม
อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม


อย่างเวทีมิสยูนิเวิร์สปีนี้ ก็เห็นได้ชัดถึงความพยายามในการนำเสนอประเด็นการยอมรับ ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ หรือ ‘สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ (Multicutural Society) ทั้งจากชาติพันธุ์ ความเชื่อ วิถีชีวิต และคุณค่าความงามที่หลากหลายมากพอ โดยเฉพาะการชูแคมเปญเรื่อง Beauty Standard หรือ ‘มาตรฐานความงาม’ ขึ้นมาขยายผลต่อยอด เพื่อสื่อสารถึงรูปแบบความงามที่ ‘แตกต่าง’ กันไปในแต่ละพื้นถิ่น หรือในแต่ละทวีปบนโลก

ด้วยการชูประเด็นที่เปิดกว้างขึ้นเช่นนี้ เวทีประกวดนางงามจึงสามารถขับเน้นคุณค่าความงามใน ‘มาตรฐานอื่นๆ’ ได้ด้วย และผู้ชนะของมิสยูนิเวิร์สก็ไม่จำเป็นต้อง ‘สวยแต่รูป’ หรือมีมาตรฐานความงามที่ตอบโจทย์กับความนิยมกระแสหลักของสังคมโลก ณ เวลานั้นอีกต่อไป แต่ความงามที่แท้จริงควรเป็นความงามที่มาจาก ‘ข้างใน’ ซึ่งก็คือ ‘ความคิด’ ของผู้หญิงคนนั้นมากกว่า

ดังนั้น เราจึงได้มีโอกาสเห็นนางงามเชื้อชาติต่างๆ ที่ถึงจะไม่ได้ ‘สวยหมดจด’ ตามธรรมเนียมนิยม แต่ก็สามารถเข้ารอบการประกวดลึกๆ ได้ หรือแม้แต่เห็นนางงามที่เป็น ‘ผู้ชนะ’ ในตำแหน่งต่างๆ มีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสะท้อน ‘น้ำเสียงของผู้คน’ หรือสื่อสารถึง ‘ปัญหาทางสังคมที่ควรถูกพูดถึง’ ผ่านการตอบคำถามจากกองประกวดได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางความคิดของตัวนางงามเอง เช่นเดียวกับในปีนี้ที่ ตูซาร์ วินต์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ได้ออกมาชูป้าย Pray For Myanmar เพื่อต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศบ้านเกิด จนสามารถคว้ารางวัล ‘ชุดประจำชาติยอดเยี่ยม’ ไปครองได้

ตูซาร์ วินต์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับป้าย Pray For Myanmar
ตูซาร์ วินต์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับป้าย Pray For Myanmar

...


อย่างไรก็ดี จากความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวไปในข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเพราะอแมนด้า-ตัวแทนผู้แข็งแกร่งของไทย-ไม่มีศักยภาพ จึงไม่สามารถคว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สที่ผู้ชมคาดหวังมาได้ แต่เนื่องจากเวทีการประกวดเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องคุณค่าความงามหรือความคิดเท่านั้นที่เป็นตัวตัดสินในการคัดเลือกผู้ชนะ ทว่ายังมีเบื้องลึกเบื้องหลังอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ไม่ว่าจะฐานผู้ชมหรือแหล่งทุนในการสนับสนุนกองประกวดของนางงามแต่ละคน ซึ่งส่งผลในทางตรงและทางอ้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้

โดยเฉพาะกับการประกวดมิสยูนิเวิร์สในครั้งที่ 69 นี้ ที่ผลการประกวดอัน ‘ค้านสายตาผู้ชม’ ทำให้เกิดการถกเถียงกันไปทั้งโลก (แอนเดรีย แมซา จากเม็กซิโก เป็นผู้คว้ามงกุฎไป ตามด้วยบราซิล, เปรู, อินเดีย และสาธารณรัฐโดมินิกัน) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ผิดหวัง แต่ตัวเต็งนางงามหลายคนที่สื่อโลกเคยประเมินหรือถึงขั้น ‘ฟันธง’ กันไว้ว่าจะได้รับรางวัลหรือเข้ารอบลึก กลับไม่ผ่านเข้าไปตามที่คาด จนหลายคนออกมาโจมตีผ่านโซเชียลฯ ว่า การประกวดครั้งนี้อาจมีกระบวนการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส

หากมองจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และหากเป็นจริงตามที่วิเคราะห์กัน การประกวดนางงามหนนี้ ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นเราว่า ธาตุแท้ของวงการนางงามก็ยังคงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยม’ เหมือนที่เคยถูกโจมตีจากวงวิชาการที่ผ่านมาอยู่ดี และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนเวทีนางงามเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายความงามผ่านความคิด หรือการสื่อสารประเด็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ก็ยังเป็นได้แค่ ‘เครื่องประดับ’ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เวทีนางงาม-และกลุ่มทุนที่สนับสนุนการประกวด-มีท่าทีที่ดู ‘ใส่ใจสังคมโลก’ มากขึ้น

หาใช่เพื่อสะท้อนปัญหาสังคม, เผยแพร่ความแตกต่างหลากหลาย หรือปรารถนาที่จะเห็นโลกสงบสุข ดังที่พยายามโฆษณาเอาไว้เสียใหญ่โต