"อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" กลายเป็นสิ่งที่หลายคนนึกถึงในช่วงวันตรุษจีน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักจะเฝ้ารอคอยซองสีแดงจากญาติผู้ใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันของเทศกาลนี้ เคยสงสัยกันไหมว่า อั่งเปา และแต๊ะเอีย มีความแตกต่างกันอย่างไร? ไทยรัฐออนไลน์จะช่วยไขข้อข้องใจให้ ติดตามได้จากบทความนี้

ทำความรู้จัก "อั่งเปา" ต่างกับ "แต๊ะเอีย" อย่างไร?

  • อั่งเปา แปลว่า ซองสีแดง เป็นการออกเสียงตามภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋ว แต่หากออกเสียงตามภาษาจีนกลางจะอ่านว่า "หงเปา" เขียนด้วยอักษรจีน ดังนี้

红包 (อั่งเปา)
红 = แดง
包 = กระเป๋า หรือซอง

อั่งเปา คือ ซองแดง ซึ่งมักใช้เป็นซองใส่ธนบัตรหรือเงิน สำหรับมอบให้แก่กันในวันมงคลต่างๆ ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้สีแดง เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีมงคล บนซองอั่งเปามักจะปรากฏอักษรจีนมงคล ที่มีความหมายสื่อถึง ความสุข ความร่ำรวย และอายุยืนยาว เป็นต้น

  • แต๊ะเอีย แปลว่า กด หรือทับไว้ที่เอว เป็นการออกเสียงตามภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋ว มาจากคำว่า "แต๊ะโต๋วเอีย" แต่มักนิยมพูดย่อว่า "แต๊ะเอีย" เขียนด้วยอักษรจีน ดังนี้

压腰 (แต๊ะเอีย) 
压 = กด/ ทับ
腰 = เอว

แต๊ะเอีย คือ ธรรมเนียมการอวยพรของคนจีน โดยการให้เงินหรือสิ่งของ ในสมัยก่อนผู้ใหญ่มักจะอวยพรเด็กเล็ก ด้วยการนำเหรียญ (เหรียญสมัยก่อนจะมีรูตรงกลาง) หรือถุงเงิน ถุงทอง ร้อยด้วยเชือกสีแดง และนำไปผูกไว้ที่เอวของเด็กๆ ในวันตรุษจีน 

...

"อั่งเปาตั่วตั่วไก๊" ภาษาจีน แปลว่าอะไร?

อั่งเปาตั่วตั่วไก๊ (红包多多来) แปลว่า "ขออั่งเปาอีกเยอะๆ" เป็นการออกเสียงตามภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋วเช่นเดียวกัน โดยเด็กๆ มักจะพูดคำนี้ในวันตรุษจีน เพื่อขอซองอั่งเปาสวยๆ จากญาติผู้ใหญ่ ส่วนที่หลายคนสงสัยว่าควรให้อั่งเปาเท่าไหร่? คนไทยเชื้อสายจีนจะนิยมให้เงินในซองอั่งเปาเป็นเลขคู่ เพราะถือเป็นตัวเลขมงคล

นอกจากผู้อาวุโสจะมอบซองอั่งเปาให้แก่เด็กๆ หรือคนที่มีอายุน้อยกว่าแล้ว คนที่ทำงานแล้วก็ยังถือโอกาสนี้ มอบซองอั่งเปาให้กับพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ได้เช่นกัน อั่งเปาให้วันไหนดี? แน่นอนว่าในวันตรุษจีนเป็นวันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่จริงๆ แล้ว ยังสามารถให้อั่งเปาในวันแต่งงาน วันมงคล หรือวันสำคัญที่เริ่มทำกิจการใหม่ๆ ได้อีกด้วย

ข้อห้ามในวันตรุษจีน

เทศกาลวันตรุษจีน เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเฉลิมฉลองปีใหม่ ไหว้บรรพบุรุษ มอบอั่งเปาและผลไม้มงคลให้แก่กัน รวมถึงอยู่กับครอบครัวโดยพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ทั้งนี้ วันตรุษจีนก็มีข้อห้ามที่ไม่ควรทำอยู่หลายข้อด้วยกัน โดยเชื่อว่าหากทำแล้ว จะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ไม่เป็นมงคล เป็นการนำคำอวยพรดีๆ ออกจากบ้าน ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่ง และความราบรื่นตลอดทั้งปี เช่น

  • ห้ามทำความสะอาดบ้าน
  • ห้ามทำของหล่นแตก
  • ห้ามสระผม/ตัดผม
  • ห้ามพูดคำหยาบคาย
  • ห้ามสวมเสื้อผ้าสีขาว-ดำ
  • ห้ามทวงหนี้
  • ห้ามร้องไห้

แม้จะทราบกันดีว่า การมอบ อั่งเปา และ แต๊ะเอีย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันตรุษจีน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที สะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่ชาวจีนมักกล่าวกันว่า "ในคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคือคุณธรรมอันดับแรก"