นมาซ หรือ ละหมาด เป็นพิธีกรรมของชาวมุสลิม เริ่มต้นปฏิบัติตั้งแต่วัย 7 ขวบขึ้นไป เพื่อแสดงความภักดีต่ออัลลอฮฺ ด้วยการขอพรตามวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันต่อมา การละหมาดต้องกระทำวันละ 5 เวลา ในแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่ตรงกันเนื่องจากต้องนับเวลาจากพระอาทิตย์ วันนี้ไทยรัฐออนไลน์มี 2 แอปพลิเคชันเช็กเวลาละหมาดมาแนะนำ

เวลาละหมาดฟัรฏู

ละหมาดฟัรฏู เป็นพิธีกรรมบังคับของชาวมุสลิม หากไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษ เวลาละหมาดต้องตั้งจิตใจให้สงบ ปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตนเองให้เป็นคนตรงต่อเวลา มีความอดทน และขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เวลาละหมาดวันละ 5 เวลา เรียกว่า “การละหมาดฟัรฏู” อัลลอฮฺทรงกำหนดให้มุสลิมทำการละหมาด วันละ 5 เวลา คือ

1. ละหมาดศุบหฺ มี 2 ร็อกอะฮฺ เวลา เริ่มตั้งแต่ฟ้าสางจนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
2. ละหมาด ซุฮฺริ มี 4 ร็อกอะฮฺ เวลาเริ่มตั้งแต่ดวงตะวันคล้อยจนเงาของสิ่งหนึ่งสิ่งใดทอดยาวออกไปเท่าตัว
3. ละหมาดอัศรฺ มี 4 ร็อกอะฮฺ เวลา เริ่มตั้งแต่เมื่อเงาของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยาวกว่าเท่าตัวของมันเอง จนถึงดวงอาทิตย์ตกดิน
4. ละหมาดมักริบ มี 3 ร็อกอะฮฺ เวลา เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดิน จนสิ้นแสงอาทิตย์ คือเวลาพลบค่ำ
5. ละหมาดอิชาอฺ มี 4 ร็อกอะฮฺ เวลา เริ่มตั้งแต่เวลาค่ำจนถึงก่อนฟ้าสาง

ข้อปฏิบัติในเวลาละหมาด

...

การละหมาดฟัรฏู มีข้อปฏิบัติ 8 อย่าง ดังนี้

1. ต้องปราศจากหะดัษใหญ่และหะดัษเล็ก คือ ต้องไม่มีญะนาบะฮฺ หัยฎู นิฟาส หรือ วิลาดะฮฺ และต้องมีน้ำละหมาด
2. ร่างกาย เครื่องนุ่งห่ม และสถานที่ละหมาด ต้องสะอาด
3. ต้องปกปิดเอาเราะฮฺ กล่าวคือ ผู้ชายต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวหัวเข่า ผู้หญิงจะต้องปกปิดทั่วร่างกาย ยกเว้นมือและใบหน้า
4. ต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ
5. ต้องรู้ว่าได้เวลาละหมาดแล้ว
6. ต้องรับว่ามุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติการละหมาด
7. ต้องไม่ตั้งใจเปลี่ยนการละหมาดเป็นอย่างอื่น
8. ต้องห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้เสียละหมาด

การละหมาดฟัรฏู แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฟัรดูอิน เป็นละหมาดที่บังคับต้องปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อยกเว้นเฉพาะตน วันละ 5 เวลา ผู้ชายจะต้องละหมาดญุมอะฮหรือละหมาดวันศุกร์ อีกส่วนหนึ่งคือ ฟัรดูกิฟายะฮู เป็นละหมาดที่บังคับต้องปฏิบัติ แต่มีเงื่อนไขในการปฏิบัติตามสถานการณ์

แอปเช็กเวลาละหมาด

ปฏิทินของชาวมุสลิม ใช้วิธีการสังเกตดวงจันทร์ เรียกว่า ดิถีจันทร์ เพื่อเป็นตัวกำหนดเดือนในแต่ละปี ใน 1 ปี มี 12 เดือนเช่นเดียวกับปฏิทินสากล แต่มี 354 วัน หรือ 355 วัน ในปี พ.ศ. 2563 ตรงกับฮิจเราะห์ศักราชที่ 1441 และการนับปีศักราชของชาวมุสลิมในประเทศไทยจะยึดจากประกาศของ สำนักจุฬาราชมนตรี ปัจจุบันมีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเช็กเวลาละหมาด ดังนี้

Muslim Pro

มุสลิมโปร เป็นแอปพลิเคชันเช็กเวลาละหมาด และประกอบด้วยเสียงอะซาน ถือเป็นแอปสากลที่ชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าใช้งาน พร้อมเสียงอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานภาษาอาหรับ รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติของชาวมุสลิม ตั้งแต่ปฏิทินฮิจเราะห์อิสลาม จนถึงแผนที่ร้านอาหารฮาลาล

แอปเวลาละหมาด (กิบลัต)

แอปเวลาละหมาด (กิบลัต) เป็นแอปที่ทำให้ทราบเวลาที่แน่นอน การใช้งานเป็นภาษาอาหรับทำให้สะดวกต่อการเข้าถึง พร้อมกับวิธีข้อปฏิบัติในการละหมาดครบถ้วน

ในแต่ละปีสำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดตารางเวลาละหมาด ของจังหวัดต่างๆ อิงตามเวลาพระอาทิตย์ขึ้นร่วมกัน ดังนี้

- กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง : ตารางเวลาละหมาดกรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม (+2 ชั่วโมง), ราชบุรี (+3 ชั่วโมง), เพชรบุรี (+3 ชั่วโมง) และ กาญจนบุรี(+5 ชั่วโมง)
- ภาคเหนือ : ตารางเวลาละหมาดเชียงใหม่, ลำปาง (-2 ชั่วโมง), แม่ฮ่องสอน (+5 ชั่วโมง), เชียงราย (-3 ชั่วโมง)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ตารางเวลาละหมาดขอนแก่น, อุดรธานี (+1), หนองคาย (+3), นครพนม (-7) , อุบลราชธานี (-8), นครราชสีมา (เม.ย. +3) (พ.ค. เช้า+5/ค่ำ+1)
- ภาคกลาง : ตารางเวลาละหมาดอยุธยา, อ่างทอง, สระบุรี (-1), ลพบุรี (-1), สิงห์บุรี (-1), อุทัยธานี (+2), ชัยนาท (+2), สุพรรณบุรี (+2), นครสวรรค์ (เม.ย. เช้า+0 / ค่ำ+2) (พ.ค. เช้า+1/ค่ำ+4) 
- ภาคใต้ : ตารางเวลาละหมาดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส (-2)

เนื่องจากแต่ละฤดูกาลพระอาทิตย์ขึ้นและตกไม่พร้อมกัน จึงมีการเปลี่ยนแปลงเวลาในแต่ละเดือน อย่าลืมติดตามเวลาละหมาดจากสำนักจุฬาราชมนตรี หรือจะดาวน์โหลดแอปมาช่วยแจ้งเตือนได้อีกช่องทาง

...