วัดบางขุนพรหม หรือวัดใหม่อมตรส นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่มีความเกี่ยวพันกับการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของพระเครื่องตระกูลพระสมเด็จฯ อันประกอบด้วยพระสมเด็จวัดระฆังฯ พระสมเด็จวัดเกศไชโย และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ว่าเป็นพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้สร้างไว้จริง
สำหรับประวัติของวัดใหม่อมตรสนั้น เป็นพระอารามโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี มีชื่อเดิมว่าวัดวรามะตาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดอำมาตยรส หรือ วัดอมฤตยรส ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้ปฏิสังขรณ์วัดในปี พ.ศ. 2411–2413 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างถนนผ่านกลางวัด จึงกลายเป็น 2 วัด คือวัดบางขุนพรหมนอก (วัดใหม่อมตรส) และวัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) โดยใช้ชื่อว่าวัดใหม่อมตรสในปี พ.ศ. 2460
พระสมเด็จสองคลองและพระสมเด็จวัดเกศไชโยในกรุพระเจดีย์ใหญ่
มีเหตุการณ์สำคัญในทางพิสูจน์หลักฐานเกิดขึ้นที่วัดนี้ กล่าวคือมีการพบวัตถุพยาน คือพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่ถูกบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ใหญ่กรุวัดบางขุนพรหมหรือวัดใหม่อมตรส ที่เรียกว่าพระสมเด็จสองคลอง เมื่อตอนเปิดกรุในปี พ.ศ. 2500 โดยพบร่วมกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2413 โดยครั้งนั้นเสมียนตราด้วง ต้นตระกูลธนโกเศศ ได้อาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาทำพิธีสร้างพระสมเด็จฯบรรจุไว้ในกรุองค์พระเจดีย์ใหญ่จำนวน 84,000 องค์ ตามคติการสร้างโบราณเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ สำหรับลักษณะพิมพ์ทรงของพระสมเด็จสองคลองนั้น จะเหมือนกับพระสมเด็จวัดระฆังฯที่เล่นหากันก่อนหน้านั้น แต่จะมีคราบกรุของวัดบางขุนพรหมติดอยู่ไม่มากก็น้อย “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” เชื่อว่า การพบพระสมเด็จสองคลองนี้ เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่ช่วยอธิบายเชื่อมโยงเรื่องราวของพระตระกูลสมเด็จฯทั้งหมดเข้าด้วยกัน
...
ในคราวเดียวกันนี้ยังมีการพบพระสมเด็จฯแบบฐาน 7 ชั้น (พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ใหญ่ 7 ชั้น) และแบบฐาน 6 ชั้น (พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์อกตลอด 6 ชั้น) อีกด้วย การพบพระสมเด็จฯ 2 พิมพ์ทรงนี้นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญ โดยเมื่อประกอบกับพยานเอกสารและหลักฐานอื่นๆที่น่าเชื่อถือแล้ว น่าเชื่อว่าพระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์ 6 ชั้น 7 ชั้น (รวมถึงพิมพ์ 5 ชั้น ถ้าอ้างตามตำราตรียัมปวาย ทั้ง 3 แบบนี้จะเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯแบบกรอบสี่เหลี่ยมยุคต้น) เป็นพระที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตจริง
พิมพ์ทรงพุทธศิลป์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะคล้ายกันกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ (การสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมบางส่วนใช้แม่พิมพ์ของวัดระฆังฯที่มีอยู่เดิม) โดยมีจำนวนพิมพ์ทรงมากกว่า แต่พระบางองค์จะมีความละเอียดประณีตน้อยกว่า (ส่วนใหญ่เป็นพิมพ์ทรงที่มีการแกะแม่พิมพ์เพิ่ม) ตรียัมปวายบอกว่า แม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จบางขุนพรหมทั้งหมดเป็นแม่พิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัย อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องอาวุโส ได้ให้ความเห็นว่า พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้นน่าจะถูกสร้างโดยช่างชุดเดียวกันกับช่างที่สร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ และน่าจะถูกสร้างที่วัดระฆังฯด้วยก่อนที่จะนำมาทำพิธีบรรจุที่วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) (บางตำราบอกว่ามีการสร้างที่วัดอินทรวิหารแล้วนำมาบรรจุที่วัดบางขุนพรหม) ทั้งนี้มีบางตำราบอกไว้ว่ามีพระสมเด็จบางขุนพรหมบางส่วนที่สร้างแล้วไม่ได้บรรจุลงในกรุวัดบางขุนพรหมด้วยเช่นกัน
การตกพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม
ในอดีตทางวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) ได้เคยเปิดให้ประชาชนเข้ามาตกเบ็ดพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม โดยผู้ตกเบ็ดจะต้องไปซื้อเชือกจากทางวัด แล้วจึงเอาดินเหนียวปั้นยึดกับปลายเชือกผูกให้เป็นก้อน แล้วหย่อนลงสู่ก้นเจดีย์ เพื่อให้ปลายเชือกกระแทกเกาะเอาพระสมเด็จฯขึ้นมา ถือว่าเป็นการหารายได้เข้าวัดอีกทางหนึ่ง หนังสือปริอรรถาธิบาย เล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย บอกว่าการตกพระสมเด็จฯกรุวัดบางขุนพรหมมีการทำหลายครั้ง แต่ที่เป็นครั้งใหญ่ๆ มี 3 ครั้งดังนี้
การตกพระครั้งแรก ทำในปี พ.ศ. 2425 (อ้างคำบอกเล่าของ หลวงวิตสำรวจ) จากกิตติคุณที่บอกกันว่าพระสมเด็จฯ รักษาโรคป่วงให้หายได้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2416 ครั้งนี้ผู้ตกได้พระสมเด็จฯไปเป็นจำนวนมาก
การตกพระครั้งที่ 2 มีขึ้นในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 116) (อ้างคำบอกเล่าของหลวงศรีสารบาญ) เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสรุกรานไทย ประชาชนต่างเตรียมตัวพร้อมอาสาไปสู้รบ โดยต่างต้องการพระสมเด็จฯไปเพื่อคุ้มครองตัว ราคาเช่าบูชาพระสมเด็จฯในตอนนั้นตกองค์ละ 20 บาทเป็นอย่างสูง ตำราตรียัมปวายมีกล่าวด้วยว่า พระอักษรสมบัติ (เสมียนตราเปล่ง) ทายาทชั้นหลานของเสมียนตราด้วงซึ่งเป็นผู้ดูแลการตกพระในครั้งนั้น และยังได้พระสมเด็จฯไปเป็นจำนวนมาก ได้นำเอาเศษพระสมเด็จฯที่แตกหักต่างๆมาบด แล้วพิมพ์เป็นพระสมเด็จฯขึ้นใหม่คล้ายของเดิม แต่มีความหนาแน่นมากกว่า แล้วจึงนำไปบรรจุในเจดีย์ตามเดิมอีกครั้ง
การตกพระครั้งที่ 3 ทำในปี พ.ศ. 2450 (ตรียัมปวายอ้างจากการบอกเล่าของนายตั้ง ธนโกเศศ บุตรของขุนธนโกเศศ ผู้สืบตระกูลธนโกเศศอีกท่านหนึ่ง) การตกครั้งนี้เป็นการตกครั้งใหญ่ยาวนานเป็นแรมเดือน แต่มักจะตกได้แต่อิฐ ช่วงท้ายจึงมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมากกรอกลงไป จนในที่สุดจึงได้พระขึ้นมาอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
นิรนาม ผู้ชำนาญการพระเครื่องอาวุโส ได้กล่าวไว้ใน หนังสือพรีเชียส สเปเชียล ของผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. 2539 ไว้ว่า “ในราวปี พ.ศ. 2470 หรือเศษๆ เจดีย์ที่บรรจุพระสมเด็จแตกร้าวหรือทางวัดบางขุนพรหมจะเปิดเป็นช่องข้างๆ เจดีย์ก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าทางวัดบางขุนพรหม หรือปัจจุบันชื่อว่าวัดใหม่อมตรส เปิดให้ประชาชนเข้ามาตกเบ็ดพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม โดยผู้ตกเบ็ดจะต้องไปซื้อเชือกจากทางวัดมากลุ่มหนึ่ง โดยคิดราคาเชือกละหนึ่งบาท ..เงินหนึ่งบาทในสมัยนั้น แพงมากนะครับ ข้าราชการในสมัยนั้น กินเงินหลวงเดือนละสามบาทเท่านั้น เมื่อซื้อเชือกมาแล้วก็เอาดินเหนียวปั้นกับปลายเชือกแล้วหย่อนลงสู่ก้นเจดีย์ กระแทกๆ แล้วดึงขึ้นมา ...”
...
โจรลักลอบขุดเจาะกรุวัดบางขุนพรหม
พระสมเด็จฯ กรุวัดบางขุนพรหมนั้น มีโจรพยายามลักลอบขุดเจาะมาโดยตลอด แต่มักจะไม่สำเร็จเนื่องจากองค์พระเจดีย์มีความแข็งแรง ตรียัมปวายบอกว่า ที่ทำการลักลอบเจาะกรุสำเร็จมี 2 ครั้งใหญ่ อยู่ในช่วงเวลาห่างกันเพียง 10 วัน เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2500 รวม ๆ แล้วได้พระไปกว่า 1,000 องค์
นิรนามได้พูดถึงเรื่องการลักลอบขุดเจาะพระ (น่าจะคนละเหตุการณ์กับที่ตรียัมปวายพูดถึง) ไว้ในหนังสือ พรีเชียส สเปเชียล ของผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เช่นกันว่า “ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีกลุ่มมิจฉาชีพทำทีนำศพคนตายมาทำพิธีสวดในวัดบางขุนพรหม และตั้งเต็นท์ทำอาหารเพื่อเลี้ยงแขกที่มาฟังพระสวดศพตอนกลางคืน...พอครบ 7 วันปรากฏว่า ทั้งแขกและเจ้าภาพงานศพหายไปหมด ปรากฏว่าเต็นท์ที่กางสำหรับทำอาหารนั้น อยู่ติดกับเจดีย์ที่บรรจุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และมีการขุดเจาะเป็นรูขนาดใหญ่ ไม่ทราบว่าได้ขนพระสมเด็จไปมากน้อยเพียงใด...”

พระส่วนใหญ่ที่ได้จากการลักลอบขุดเจาะ ถูกนำมาจำหน่ายที่บริเวณหน้าศาลอาญาเก่า (ส่วนมากจะมีเนื้อฟ่าม ๆ ผิวฝ่อ บางองค์มีเนื้อเป็นโพรงภายใน และมักจะมีคราบกรุจับเนื้ออย่างแน่นหนา ชำรุดเสียเป็นส่วนมาก ที่มีเนื้อแน่นมีความแกร่งและความซึ้งจัด หรือที่ไม่มีคราบกรุ มีเป็นส่วนน้อย) ในส่วนของราคาค่านิยมของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้น ตรียัมปวายได้บอกไว้ในหนังสือ ปริอรรถาธิบาย เล่มที่ 1 ด้วยว่า ได้เคยขอเช่าพระสมเด็จฯ ที่ถูกลักขุดได้จากกรุบางขุนพรหมช่วงปี พ.ศ. 2500 จากนักค้าพระเครื่องฯ มาองค์หนึ่งเป็นพิมพ์ทรงฐานคู่ ในมูลค่า 700 บาท
การเปิดกรุองค์พระเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหม ปี พ.ศ.2500
ในเวลาต่อมาคณะกรรมการวัดได้มีการจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาจากการที่พระถูกโจรกรรม และได้มีมติให้เปิดกรุอย่างเป็นทางการขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 โดยเชิญ พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นมาเป็นประธานในพิธี พระสมเด็จฯ ที่เปิดกรุได้ในครั้งนั้นมีจำนวนประมาณ 2,950 องค์ ไม่รวมถึงองค์ที่หักชำรุดเป็นเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อย มีลักษณะพิมพ์ทรงและเนื้อเช่นเดียวกับที่คนร้ายลักขุดเจาะเอาไปจำหน่ายที่สนามหลวงทุกประการ คือมีปรากฏทุกพิมพ์ทรงเช่นเดียวกับของวัดระฆังฯ (พิมพ์ทรงพระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ (มีน้อย) และพิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ) และยังมีเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหลายพิมพ์คือ พิมพ์ทรงสังฆาฏิ พิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่ รวมเป็นจำนวน 9 พิมพ์ทรง และยังพบพิมพ์ปางไสยาสน์และพระพิมพ์ชนิดตะกั่วถ้ำชาอีกอย่างละ 1 องค์ (ข้อมูลจากหนังสือสามสมเด็จ ของ อาจารย์ประชุม กาญนวัฒน์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ซึ่งได้อ้างอิงจากหนังสือ “บรรณาณุสรณ์” ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกของวัดใหม่อมตรส) สำหรับพิมพ์ทรงไสยาสน์นั้น อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ให้ข้อมูลว่า ก่อนเปิดกรุวัดบางขุนพรหม เมื่อปี พ.ศ. 2500 นั้นไม่เคยพบเจอพิมพ์ทรงไสยาสน์ของวัดบางขุนพรหม เจอแต่ของวัดระฆัง สำหรับพิมพ์ฐานสิงห์ มีผู้กล่าวว่าได้มีการพบเจอในกรุวัดบางขุนพรหมด้วยเช่นกัน
ในการเปิดกรุครั้งนั้น ยังพบเจอพระพิมพ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่พระสมเด็จฯ ที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ในยุคหลังอีกด้วย ซึ่งล้วนเป็นพระสมเด็จแบบกรอบสี่เหลี่ยม โดยทางคณะกรรมการซึ่งมี พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร เป็นประธาน ได้คัดออกไม่ได้นำมาให้เช่าบูชา
...
ตรียัมปวายได้พูดถึงเรื่องพิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่ ไว้ในหนังสือพระเครื่องฯ ประยุกต์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 ไว้ว่า พิมพ์ทรงทั้งสองนี้เป็นแม่พิมพ์เดิมของวัดระฆังฯ ที่เลิกสร้างแล้ว ก่อนที่จะถูกนำมาใช้สร้างพระสมเด็จฯ เพื่อบรรจุกรุวัดบางขุนพรหม ในปี พ.ศ. 2413 อีกครั้ง อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ได้ให้ข้อมูลว่า เคยพบพระสมเด็จฯ ที่เป็นพิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ที่มีเนื้อเป็นของวัดระฆังฯ แทบทุกพิมพ์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับข้อมูลที่ตรียัมปวายกล่าวไว้ข้างต้น แต่อาจเป็นไปได้เช่นกันว่ามีการสร้างพระสมเด็จฯ โดยใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวหลังจาก ปี พ.ศ. 2413 โดยใช้สูตรมวลสารของวัดระฆังฯ
ราคาเช่าหาพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเมื่อคราวเปิดกรุ ปี พ.ศ.2500
ค่าเช่าบูชาพระสมเด็จฯ ที่ได้จากการเปิดกรุในครั้งนั้นมีหลายราคา โดยวันที่เปิดให้เช่าในช่วงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2500 ทางวัดจะมีกระดาษให้เขียนว่าต้องการพิมพ์อะไรแล้วนำไปยื่นกับทางวัด ไม่สามารถเลือกสภาพพระได้ ทางวัดได้ใส่เตรียมไว้ให้แล้วในซองสีขาวอย่างดี พระทุกองค์มีการประทับตราวัดทางด้านหลัง สำหรับพระที่มีขี้กรุนั้น พิมพ์ทรงเจดีย์ มีราคา 800 บาท อกครุฑ 400 บาท สังฆาฏิ 500 บาท ส่วนพระที่ไม่มีขี้กรุราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท หรือ 3,500 บาท ถ้าเป็นราคา 2,000 จะมีคราบกรุบ้าง และราคา 1,500 บาท จะมีคราบกรุมาก (อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “อลังการพระสมเด็จ” โดย นพ ท่าพระจันทร์) อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ พลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บอกว่า องค์พิมพ์ปรกโพธิ์ มีหลักฐานเช่าแพงสุด 3,500 บาท จากวัดใหม่อมตรส สำหรับราคาเช่าหาในปัจจุบันนั้นบางพิมพ์ทรงพุ่งขึ้นไปถึงแปดหลัก เป็นที่เสาะแสวงหากันไม่แพ้พระสมเด็จวัดระฆังฯ
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุเก่า กรุใหม่
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุเก่านั้นหมายถึงพระสมเด็จฯ ที่นำออกมาจากกรุองค์เจดีย์ใหญ่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ หลังลงกรุไม่นานมากนักจนถึงหลังจากนั้นหลายสิบปี อาจจะนำออกมาโดยการตกพระที่ทางวัดจัดขึ้นหรืออาจมาจากการลักลอบขุดเจาะพระที่มีมาตลอด (หรืออาจรวมถึงพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่สร้างแล้วไม่นำมาบรรจุกรุเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งตามตำราบอกว่ามีอยู่เช่นกัน) ส่วนพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุใหม่นั้น หมายถึงพระที่ได้จากการเปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2500
นิรนาม ผู้ชำนาญการพระเครื่อง ได้พูดถึงลักษณะความแตกต่างของพระกรุเก่าและกรุใหม่ไว้ดังนี้ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุเก่านั้น ขึ้นจากกรุห่างกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุใหม่เป็นสิบๆ ปี ...พระที่ขึ้นจากกรุมาก่อนเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อกระทบอากาศผ่านการใช้ ผ่านการเสียดสี ผิวและเนื้อพระจะเกิดความนุ่มนวลเป็นมัน พระกรุใหม่จะอยู่ภายในเจดีย์นานกว่าเป็นสิบๆ ปี ...ภายในเจดีย์จะอบเพราะตากแดดไม่มีอากาศถ่ายเท พระที่ถูกอบอยู่นานจะแห้งกว่ากันมาก ความแข็งความคมขององค์พระจะมีมากกว่า ขี้กรุที่จับบนองค์พระจะมีมากกว่า มีเป็นฟองเต้าหู้ ...”
หนังสือสามสมเด็จ ของอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้อธิบายถึงความแตกต่างของเนื้อพระสมเด็จทั้งสองแบบไว้ดังนี้ “กรุเก่า คือพระที่ถูกตกขึ้นมา ประมาณ 90% พระจะไม่มีขี้กรุดินทรายจับหรือมีผิวระเบิดเนื้องอกเลย จะมีก็แต่ฝ้ากรุสีนวลหุ้มไว้บ้างบางๆ โดยเฉพาะเนื้อจะออกสีขาวอมเหลืองและหยาบกว่า (ใกล้เคียงวัดระฆังฯ) ทั้งมีการยึดตัวแน่นดีกว่าพระที่ขึ้นครั้งหลังมาก” “กรุใหม่ สีขาวจัดผงส่วนผสมมีน้อย (แก่ปูนขาว) เนื้อไม่แน่นและบางตอนเนื้อมักจะมีรูเป็นโพรงภายใน โดยเฉพาะคราบกรุจะมีดิน กรวด ทรายจับหุ้มไว้หนาทั้ง 2 ด้าน คราบกรุที่จับผิวเช่นนี้จะมีอยู่กับพระใหม่ 50% (อีก 50% คราบจับบาง) และจากเนื้อที่แก่ปูนขาวมากนั่นเองจึงทำให้เกิดคราบฟองเต้าหู้ระเบิดเกาะหุ้ม (เช่นเดียวกับพระวัดเงินคลองเตย) ไว้หนาบ้าง บางบ้างรวมอยู่ไม่น้อย”
บทส่งท้าย
องค์พระเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหมนั้น จากที่มีพิธีบรรจุพระสมเด็จฯ ลงกรุเมื่อปี พ.ศ. 2413 โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตทำพิธีปลุกเสกพระให้ จนกระทั่งเมื่อมีพิธีเปิดกรุอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2500 นั้น มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายกับองค์พระเจดีย์มีทั้งที่เปิดเผยดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือตำราหลายๆ เล่ม และที่ยังเป็นความลับอยู่ พบว่าได้มีการนำพระสมเด็จฯ ออกจากกรุจำนวนมาก หลายครั้งหลายครา ในขณะเดียวกันก็มีบรรจุพระเข้าไปใหม่หลายครั้งเช่นกัน ตามที่มีการบันทึกไว้ในตำราบางเล่ม การเปิดกรุในปี พ.ศ. 2500 นั้นได้มีการพบเจอพระที่ไม่เคยเจอมาก่อนในพระกรุเก่าเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วก็มีการยอมรับเล่นหากันเป็นพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกันไปในที่สุดหลังจากที่พิจารณาโดยละเอียด ดังเช่นที่นิรนาม ผู้ชำนาญการพระเครื่อง ได้กล่าวไว้ว่า “สภาพของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุใหม่จะดูแตกต่างจากพระกรุเก่ามากจนผู้ชำนาญพระรุ่นเก่าบางท่านในยุคนั้น ไม่ยอมรับว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุใหม่เป็นพระแท้ ...จนกระทั่งตอนหลังมีผู้นำเอาพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุใหม่ไปลบคราบกรุออก เสร็จแล้วคลึงให้ผิวนุ่มนวลนำกลับไปให้ผู้ชำนาญรุ่นเก่าดูใหม่ และยอมรับว่าเป็นพระแท้”
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมองค์ครู เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิแบบมีหู (หูช้าง) ที่งดงามมากที่สุดองค์หนึ่ง (พระพิมพ์สังฆาฏิเป็นพิมพ์ที่พบมากที่สุดเมื่อคราวเปิดกรุในปี พ.ศ. 2413 มีทั้งแบบมีหูและไม่มีหู) มีคราบฝ้ากรุสีขาวหม่นบางๆ ปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลังองค์พระ มีวรรณะขาวสะอาดตา พิมพ์ทรงถูกต้องตามตำรา มีขอบปลิ้นที่ขอบซ้ายและขวา ซึ่งขอบปลิ้นมักจะพบในพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เส้นกรอบบังคับพิมพ์ด้านบนนูนขึ้นเป็นพิเศษ น่าจะเกิดจากการเซาะร่องลึกกว่าปกติของแม่พิมพ์ ด้านหลังเป็นแบบหลังเรียบมีการกร่อนตัวของผิวพระเล็กน้อย ตัดขอบพอดีสามด้านยกเว้นด้านบนที่ตัดเลยกรอบบังคับพิมพ์ เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม
ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟซบุ๊ก – พระสมเด็จศาสตร์