หากจะเริ่มต้นยั่วใจว่ามีพระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ รุ่นที่ 1 ที่เรียกรุ่นเทพโมลี รุ่นนี้หายากกว่ายิ่งกว่า พระกริ่งปวเรศ วัดบวรฯ มวลชนคนรักพระกริ่ง คงเถียงกันอื้ออึง ไม่จริงๆ
ว่ากันด้วยจำนวนพระกริ่งปวเรศ ตัวเลขกลมๆที่เชื่อกันวันนี้ มีร้อยองค์ มีรูปเผยแพร่ในหนังสือวงการเฉียด 20 องค์ แต่พระกริ่งเทพโมลี สมเด็จพระสังฆราชแพ ท่านสร้างช่วงเวลาสองปีที่เป็นพระเทพโมลี พ.ศ.2441-2442
เทพโมลีรุ่น 1 ท่านว่าสร้าง 9 องค์ จารเลข 1 ถึง 9 เท่าที่เห็นกันว่าแท้ ก็แค่ 5–6 องค์
ส่วนเทพโมลีรุ่น 2 เหตุที่แยกรุ่นกันได้ เพราะรุ่น 2 เนื้อไม่กลับดำเหมือนรุ่น 1 แต่เนื้อออกเหลืองเหลือบ ละม้ายคล้ายเนื้อเมฆสิทธิ์ไม่แน่ว่าสร้างในปีแรกปีเดียวกัน หรือสร้างปีที่ 2
เพิ่งมีผู้รู้จริงระดับที่ต้องเรียกอาจารย์ท่านชื่อกิจจา วาจาสัจ ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือพระกริ่งเมืองสยาม สำหรับคนรักพระกริ่งน้องใหม่ ดูแล้วก็เรียนรู้กับท่านไปเลย ก็ว่ากันไป
แต่สำหรับ “น้องเก่า” รุ่นผม มีเรื่องต้องคลี่คลาย เพราะจำได้แม่น เทพโมลีองค์ที่ว่านี้ตอนที่ตีพิมพ์ (ขาวดำ) อยู่ในหนังสือพระกริ่งวัดสุทัศน์ วัดพิมพ์เผยแพร่เอง ปี พ.ศ.2517 มีคำอธิบายว่า เป็นกริ่งรุ่นธรรมโกษาจารย์ (พ.ศ.2443-2454)
ตามความรู้เดิมๆที่ผมจำๆจากหนังสือ เล่ม คุณบุญเหลือ ออประเสริฐ และอีกหลายเล่ม พระกริ่งรุ่นธรรมโกษาฯ มีหลายแม่พิมพ์ พิมพ์แรกจำง่าย เอาเค้าจากพระกริ่งปวเรศ แต่ตัดบัวหลังออก (มีบางองค์ที่ยังเหลือบัวหลังไว้) พิมพ์ต่อมา มีเค้าพิมพ์กริ่งใหญ่ แต่ยังไม่ใช้แม่พิมพ์ รุ่นพรหมมุนี
เนื้อพระกริ่งรุ่นธรรมโกษาฯก็แตกต่าง เป็นนวโลหะเติมเงินพดด้วงกลับดำก็มี เนื้อเหลืองแบบเนื้อลงหินก็มี และเนื้อที่แปลกของรุ่นนี้ ก็คือ เนื้อเมฆสิทธิ์
...
ใครที่ได้อ่านจากประวัติ ตอนสมเด็จสังฆราชแพท่านริเริ่มสร้าง ท่านค้นหาทั้งแม่พิมพ์ ค้นหาวิชาผสมเนื้อโลหะ บางครั้งท่านเคยไปหา หลวงพ่อทับ วัดทอง ในคลองบางกอกน้อย และบางครั้งล่องเรือไปไกลถึงนครไชยศรี หาหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เชื่อกันว่า ท่านไปศึกษาวิชาผสมเนื้อพระกริ่ง เอามาทดลองผสมเองใต้ถุนกุฏิ
จนมีคำเล่าว่า “หมดถ่านไปหลายลำเรือ” เพื่อใช้หล่อพระกริ่งรุ่นแรกๆของท่าน
ภาพพระกริ่งเทพโมลี องค์ในหนังสืออาจารย์กิจจา วาจาสัจ ให้คำอธิบายไว้ดังนี้
พระกริ่งองค์นี้เททองในขณะที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงสมณศักดิ์เป็นที่ “พระเทพโมฬี” (สะกดตามต้นฉบับ) มีประวัติการตกทอดแน่นอน เนื้อในขาวคล้ายเงิน กลับเป็นสีเมฆสิทธิ์ แล้วกลับดำในที่สุด
จุดที่ควรพิจารณาเปรียบเทียบ คือการแต่งพระเนตร ผ้าทิพย์ที่ฐานด้านหน้า ฝีมือการแต่งแบบเรียบง่าย แต่มีศิลป์ ควรจะเป็นช่างเดียวกัน แต่หล่อต่างวาระ
ผมสะดุดประโยค ฝีมือแต่ง...ควรจะเป็นช่างเดียวกัน แต่หล่อต่างวาระ...นี่ล่ะครับ... อาจารย์กิจจายืนยันรุ่นนี้เป็นพระกริ่งเทพโมลี
เหตุสะดุดใจของ “น้องเก่า” รุ่นผมมีที่มา ผมได้พระกริ่ง รูปลักษณะ ผิวกระแสเนื้อ ละม้ายคล้ายกันมากองค์ในคอลัมน์วันนี้มานานเต็มที เนื้อกระแสก็คล้ายเมฆสิทธิ์ แต่ยังคงผิวเหลือบเหลืองทองเอาไว้
ฝีมือช่างไม่เหมือนกันทุกตำแหน่งรอยขยักของชายผ้าทิพย์ ไม่เข้ารูปรอยเทพโมลีนัก แต่มีเค้า
เคยเขียนในคอลัมน์ ไปนานเต็มที เป็นรุ่นธรรมโกษาฯ ก็เชื่อตำราเล่มวัดสุทัศน์นี่ครับ แต่เมื่อได้ความรู้จากครู (กิจจา) คนใหม่...ทั้งเห็นภาพสีที่คมชัด ก็ตัดสินใจได้ นี่คือ พระกริ่งเทพโมลีรุ่น 2 ของจริง
ความปลื้มครั้งนี้มีมาก จนเก็บเอาไว้คนเดียวไม่ไหว ขอเอามาขยายให้มวลชนคนรักพระกริ่งได้เรียนรู้กันต่อไป.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม