พระพิมพ์ที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตนั้น ตามตำราบอกว่ามีอยู่หลายรูปแบบ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” เคยนำเสนอ โดยแบ่งออกเป็นสองยุค ตามช่วงเวลาของการสร้าง ยุคแรก สร้างก่อนได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เป็นลักษณะของ “พระพิมพ์” ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว และยุคหลัง สร้างหลังได้รับสถาปนา เป็นลักษณะของ “พระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยม” (แบบหลังนี้อาจมีบ้างเป็นส่วนน้อยที่สร้างก่อนได้รับสถาปนา)

ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์) ผู้เขียนหนังสือประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 บอกว่า พระพิมพ์สมเด็จนั้น (หมายถึงพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณฯเคยสร้างทั้งหมด) เดิมทีไม่ได้สร้างองค์ขนาดเท่าที่เห็นกันอยู่ ครั้งแรกแกะแม่พิมพ์สร้างองค์ใหญ่ๆ ทั้งหมด เพราะแม่พิมพ์ใหญ่แกะทำได้ง่าย สะดวกต่อการสร้าง แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องหยุด เพราะเปลืองผงวิเศษมาก ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นสร้างพระพิมพ์เป็นองค์เล็กๆ เป็นพระพิมพ์แบบต่างๆ

ในเรื่องแบบของพิมพ์พระนี้ หนังสือปริอรรถธิบาย เล่มที่ 1 ของ ตรียัมปวาย อ้างคำบอกเล่าของพระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฐ” ศิษย์พระธรรมถาวร ที่เป็นศิษย์ใกล้ชิดท่านเจ้าประคุณฯ ว่าพิมพ์พระมีประมาณ 73 แบบ คือนอกจากแบบกรอบสี่เหลี่ยมพิมพ์ต่างๆ ซึ่งได้สร้างในระยะหลังแล้ว ในช่วงแรกที่ท่านเจ้าประคุณฯยังไม่มีแบบพระของท่านโดยเฉพาะ จึงได้ใช้แบบพิมพ์ของพระเครื่องฯโบราณที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณในยุคก่อนๆ มาเป็นแบบอย่าง เช่น แบบพระขุนแผน แบบพระนางพญา แบบพระกำแพงเม็ดขนุน รวมถึงแบบพระพิมพ์หลวงพ่อโต (สร้างครั้งแรกช่วงจาริกไปอยู่ที่อยุธยาสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างซ้ำอีกครั้งที่วัดระฆังฯสมัยรัชกาลที่ 4) นอกจากนี้ ยังมีพิมพ์แบบแปลกๆ ที่มีคนออกแบบมาถวาย เช่น แบบใบโพธิ์ แบบหลังเบี้ย แบบหลังไข่ผ่า และแบบจุฬามณี เป็นต้น

...

พระที่สร้างในยุคแรกนั้น น่าจะชำรุดแตกหักเสียหายเป็นส่วนมากตั้งแต่ในระยะแรกที่มีการสร้าง เนื่องจากช่างผู้สร้างยังขาดความชำนาญ ทั้งเรื่องของมวลสารวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิต พระที่หลงเหลือตกทอดมา จึงมักเป็นพระแบบกรอบสี่เหลี่ยมที่กระบวนการสร้างเริ่มได้มาตรฐานแล้ว

มีประเด็นที่น่าสนใจ คือพระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยม มีวิวัฒนาการอย่างไรในการสร้าง ก่อนที่จะมีช่างทองหลวงในราชสำนักเข้ามาช่วยทำ ทำโดยช่างสำนักไหนบ้าง มีรูปแบบพิมพ์ทรงและเนื้อหาอย่างไร จนได้พระสมเด็จฯที่เป็นพิมพ์ทรงมาตรฐาน หรือองค์ครู (ตรียัมปวายเรียกว่า เป็นพิมพ์ทรงหลวงวิจารณ์เจียรนัย) อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

หนังสือของตรียัมปวาย ได้พูดถึงพระสมเด็จแบบสี่เหลี่ยมรุ่นแรกๆ โดยอ้างถึงข้อมูลของพระอาจารย์ขวัญ ที่ได้ทราบมาจากพระธรรมถาวร ว่า “เมื่อท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กำลังสร้างพระสมเด็จฯ เพื่อจะนำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโยนั้น ท่านคงรู้ตัวว่าจะมีชีวิตต่อไปอีกไม่นานนัก ท่านจึงได้ปรารภกับนายเทด หลานชายของท่านว่า ... ฉันเห็นจะสร้างพระคราวนี้ไม่ได้ครบ 84,000 เสียแล้ว จึงให้รวบรวมพระสมเด็จฯ รุ่นแรกๆ ที่ได้สร้างไว้เป็นพิมพ์แบบสี่เหลี่ยม ที่มีฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น สมทบเข้ากับรุ่นที่สร้างขึ้นใหม่ จนครบ 84,000 องค์ แล้วท่านก็นำไปบรรจุที่วัดไชโย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา ... สำหรับแบบพิมพ์ 7 ชั้น รุ่นเดิมของวัดระฆังฯ ที่นำไปบรรจุพร้อมกับพระรุ่นใหม่นั้น องค์พระมีหูประบ่าอย่างธรรมดา ส่วนแบบพิมพ์ 7 ชั้นที่สร้างครั้งหลัง ซึ่งท่านตั้งใจว่าจะนำไปบรรจุโดยเฉพาะนั้น หูกางสูงขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า หูบายศรี”

ถ้าอ้างตามนี้ พระสมเด็จแบบสี่เหลี่ยมรุ่นแรกๆ จะมีพิมพ์ทรงเป็นแบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น เป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะฐาน 7 ชั้นนั้น มีทำ 2 ยุค คือ แบบหูประบ่า (วัดระฆังฯแบบสี่เหลี่ยมยุคแรก) และแบบหูบายศรี (ทำขึ้นมาในยุคหลัง เพื่อที่จะนำไปบรรจุที่วัดเกศไชโยโดยเฉพาะ)

มีข้อสังเกตว่าการที่ตรียัมปวาย อ้างถึงคำกล่าวข้างต้นของพระอาจารย์ขวัญนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะเอามาอ้างเพื่อสนับสนุนให้เชื่อว่า ท่านเจ้าประคุณฯมีการนำพระสมเด็จฯของท่านมาบรรจุไว้ที่วัดเกศไชโยแต่อย่างใด เพราะในท้ายที่สุดกลับบอกว่า พระสมเด็จวัดเกศไชโยที่ตรียัมปวายพบเห็นนั้น ไม่ใช่พระที่ท่านเจ้าประคุณฯเป็นคนสร้าง (แต่ไม่ได้บอกว่าท่านเจ้าคุณไม่ได้สร้างพระพิมพ์นี้ เพียงแต่บอกว่า พระพิมพ์นี้ท่านเจ้าประคุณฯมีการสร้างจริง แต่น่าจะได้นำไปบรรจุไว้ในองค์หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร มากกว่า และน่าจะถูกแดดผุพังไปหมดแล้ว)

อย่างไรก็ตามจากหลักฐานที่พบในเวลาต่อมา น่าเชื่อว่า พระสมเด็จวัดเกศไชโย ที่หลงเหลืออยู่ มีอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็นพระที่ท่านเจ้าประคุณฯเป็นคนสร้างจริง โดยสร้างที่วัดระฆังฯ และถือว่าเป็นพระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยมยุคต้น ที่เป็นแบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น มีลักษณะเฉพาะทั้งด้านพิมพ์ทรงและเนื้อหา มีศิลปะเชิงช่างที่แตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังฯแบบสี่เหลี่ยม (รวมถึงพระสมเด็จบางขุนพรหม) ที่สร้างหลังจากนั้นโดยช่างทองหลวง สันนิษฐานว่าทำด้วยช่างชุดอื่น (ซึ่งอาจจะเป็นช่างบ้านช่างหล่อ หรือ นายเทด หลานท่านเจ้าประคุณฯ เป็นต้น)

...

ระยะเวลาในการสร้างพระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยมของท่านเจ้าประคุณฯ นับตั้งแต่เริ่มสร้าง จนถึงแบบท้ายๆ ที่สร้างโดยช่างทองหลวง น่าจะกินเวลาประมาณ 5 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2409 ที่เริ่มสร้าง จนถึง พ.ศ. 2413 ซึ่งเป็นปีที่มีการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม หนังสือของตรียัมปวาย มีการกล่าวถึงบันทึกของนายกนก สัชชุกร ที่ได้สัมภาษณ์พระธรรมถาวร เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “หลังจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้สร้างพระสมเด็จฯวัดระฆังฯ ได้ 4 ปี ประมาณ พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วง ผู้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่บางขุนพรหม ก็ได้มาอาราธนาท่านให้สร้างพระสมเด็จฯ เป็นพิเศษอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อบรรจุไว้ในพระเจดีย์ประธานของพระอารามนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ลงมือสร้างพระสมเด็จฯ ของท่านให้ตามความประสงค์ โดยสร้างจากแม่พิมพ์เดียวกันของวัดระฆังฯ”

ตรียัมปวายได้สรุปพิมพ์ทรงที่เรียกว่าพิมพ์ทรงมาตรฐานของพระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยมในยุคปลาย ที่ช่างทองหลวงเข้ามาช่วยทำ โดยอ้างถึงพระสมเด็จวัดระฆังฯและพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเพียง 2 สำนัก ว่ามีทั้งสิ้น 9 พิมพ์ทรงดังนี้

1. พิมพ์ทรงพระประธาน (พิมพ์ใหญ่) มีปรากฏทั้งของวัดระฆังฯและบางขุนพรหม

2. พิมพ์ทรงเจดีย์ มีปรากฏทั้งของวัดระฆังฯและบางขุนพรหม

3. พิมพ์ทรงฐานแซม มีปรากฏทั้งของวัดระฆังฯและบางขุนพรหม

4. พิมพ์ทรงเกศบัวตูม มีปรากฏทั้งของวัดระฆังฯและบางขุนพรหม

5. พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ มีปรากฏทั้งของวัดระฆังฯและบางขุนพรหม

6. พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ มีปรากฏทั้งของวัดระฆังฯและบางขุนพรหม (ท่านเจ้าประคุณฯได้ร่วมออกแบบพิมพ์นี้ด้วย หรือที่เรียกว่าพิมพ์ทรงไกเซอร์)

7. พิมพ์ทรงสังฆาฏิ มีปรากฏเฉพาะของบางขุนพรหม

8. พิมพ์ทรงเส้นด้าย มีปรากฏเฉพาะของบางขุนพรหม

9. พิมพ์ทรงฐานคู่ มีปรากฏเฉพาะของบางขุนพรหม

อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องอาวุโส ได้เคยบอกว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯและพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้น สร้างโดยช่างชุดเดียวกัน โดยทำที่วัดระฆังฯทั้งหมด เสร็จแล้วจึงนำองค์พระมาบรรจุที่กรุพระเจดีย์ใหญ่ วัดบางขุนพรหม มีบางส่วนที่สร้างแล้วไม่ได้นำมาลงกรุพระเจดีย์ใหญ่เช่นกัน

โดยทั่วไปแล้วแม่พิมพ์พระที่สร้างก่อนปี พ.ศ. 2413 ต้องถือว่าเป็นแม่พิมพ์ที่แกะขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์หลักเพื่อการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ และต่อมายังได้ถูกนำมาสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมในปี พ.ศ.2413 ทำให้ปรากฏให้เห็นเนื้อพระที่มีลักษณะทั้งแบบของพระสมเด็จวัดระฆังฯ (แก่มวลสาร) และแบบของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (แก่ปูน) แม่พิมพ์กลุ่มนี้ถูกสร้างอย่างประณีตงดงาม (พิมพ์ทรงที่ 1 ถึง 6) ส่วนแม่พิมพ์ที่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2413 วัตถุประสงค์หลักก็คือเพื่อสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ที่ต้องแกะแม่พิมพ์อย่างเร่งรีบ เพื่อสร้างพระจำนวนมาก ทำให้ขาดความประณีตงดงามไปบ้าง เนื้อพระก็จะมักจะพบว่าเป็นลักษณะของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะพบคราบกรุหรือไม่ ดังเช่นพิมพ์ทรงที่ 7 ถึง 9 ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2413 ช่างอาจจะมีการแกะแม่พิมพ์แบบพิมพ์ทรงที่ 1 ถึง 6 เพิ่มเติม เพื่อใช้สำหรับการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมโดยเฉพาะได้เช่นเดียวกัน

...

การเปิดกรุพระเจดีย์ใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2500 ทำให้พบพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (หรืออาจจะเป็นพระสมเด็จสองคลองกรณีที่มีเนื้อพระเป็นลักษณะของพระสมเด็จวัดระฆัง) เพิ่มเติมอีกบางพิมพ์เช่นพิมพ์ไสยาสน์และพิมพ์ฐานสิงห์ นอกจากนี้ยังมีการพบพระกรุเจดีย์เล็กในวัดบางขุนพรหมที่มีพิมพ์ทรงแตกต่างออกไปอีกหลายพิมพ์ทรง อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือพลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุณาให้ข้อสังเกตว่า พระสมเด็จกรุเจดีย์เล็ก วัดบางขุนพรหม มีลักษณะการสร้างแม่พิมพ์บางอย่างที่ใกล้เคียงกับพระเครื่องของหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร ศิษย์ใกล้ชิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต

กล่าวโดยสรุป พระสมเด็จฯทั้งสามวัด คือวัดระฆังโฆสิตาราม วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) และวัดเกศไชโย (วัดไชโยวรวิหาร) นั้นล้วนแล้วแต่สร้างที่วัดระฆังฯทั้งสิ้น น่าสนใจว่า พระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยมแบบฐาน 3 ชั้น ที่ทำโดยช่างกลุ่มอื่น เช่นนายเทด หลานท่านเจ้าประคุณฯ ก่อนที่ช่างทองหลวงจะเข้ามาช่วยทำ มีรูปแบบลักษณะพิมพ์ทรงและเนื้อหาเป็นอย่างไร การหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำมาเชื่อมโยงอธิบายถึง “รอยต่อที่ขาดหายไป” ในช่วงนี้ น่าจะช่วยทำให้สามารถยืนยันพิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯแบบฐาน 3 ชั้น ของท่านเจ้าประคุณฯ ยุคก่อนช่างทองหลวงกลุ่มนี้ ที่ยังรอวันพิสูจน์อยู่ก็เป็นได้

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดระฆังฯองค์ครู อีกองค์หนึ่ง เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์เกศบัวตูม องค์ตำนาน ที่งดงามมากที่สุดองค์หนึ่ง เนื้อหนึกนุ่มออกไปทางเนื้อหยาบ มีเม็ดพระธาตุปรากฏให้เห็นทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มีรอยรูพรุนขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่ารูพรุนเข็ม พิมพ์ทรงถูกต้องตามตำรา ด้านหลังเป็นแบบหลังสังขยา มีลายพิมพ์นิ้วมือกดเป็นเอกลักษณ์ มีขอบกระเทาะที่แสดงถึงธรรมชาติความเก่าทั้งสี่ด้าน เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ

@@@@@@@

ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์