ดูจากภาพพระองค์ในคอลัมน์วันนี้ ก็เห็นเป็นพระเนื้อดินเผาพิมพ์เหมือน พระผงสุพรรณ แตกต่างตรงที่มีปีกกว้างกลมป้อมเกือบเหมือนขนมเปี๊ยะ พอดูชื่อเรื่อง มีคำสำปะซิวต่อท้ายก็แสดงว่าเป็นพระพิมพ์ที่พบแถวๆ “ย่านสำปะซิว” ไม่ใช่พบที่วัดสำปะซิว
คุณมนัส โอภากุล เขียนประเด็น “ชื่อ” นี้ไว้ในหนังสือพระเครื่องเมืองสุพรรณ (พิมพ์ พ.ศ.2524) ว่า ตัวคุณมนัสไปทันการพบพระที่บริเวณบ้านนายจิระ (ดี) มาแสง เหนือวัดสำปะซิวไปราวหนึ่งเส้น
จึงขอเรียก “ย่านสำปะซิว” ให้ถูกต้องตามความจริง
แต่บริเวณที่ดินย่านนั้น ทั้งตำแหน่งที่พบพระพิมพ์ไปถึงวัดและใต้วัดลงไปพบพระบูชาสมัยลพบุรีมากมาย แสดงว่าเดิมที่ดินย่านนี้ เป็นโบราณสถานสมัยลพบุรี แต่เปลี่ยนแปลงเป็นวัดเป็นบ้านเป็นที่นาไปตามกาลเวลา
พระพิมพ์ย่านสำปะซิวทั้งหมดจริงๆ มีถึงห้าพิมพ์ สี่พิมพ์แรกเนื้อดินเผา พิมพ์นางพญา (คล้ายพิมพ์ท่ามะปรางมากกว่า) พิมพ์ซุ้มนครโกษา พิมพ์นารายณ์ทรงปืน พิมพ์ผงสุพรรณ
และเนื้อตะกั่วสนิมแดง เป็นพิมพ์หูยาน
สามพิมพ์แรก พิมพ์นาง พิมพ์นารายณ์ทรงปืน พิมพ์ซุ้มนครโกษา จำนวนพระพบแพร่หลาย พอมีให้เห็นแต่พิมพ์ที่สี่ พิมพ์ผงสุพรรณ ช่วงชีวิตคุณมนัสพบแค่ 3-4 องค์เท่านั้น ส่วนพิมพ์หูยานแทบไม่พบเห็นเลย
เฉพาะพิมพ์ผงสุพรรณ คุณมนัสมีภาพ ถ่ายให้ดูสององค์ มีปีกกลมๆป้อมๆเหมือนกัน
ด้านเนื้อหา คุณมนัสอธิบายว่าพิมพ์ผงสุพรรณที่พบย่านสำปะซิวนั้น เนื้อดินเผาหยาบ มีเม็ดแร่หลายสีประปราย ชุดความรู้ที่น่าสนใจ ที่คุณมนัสให้ก็คือ
พระพิมพ์ทุกพิมพ์ที่ย่านสำปะซิว พบในเจดีย์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรีด้วย
ขอย้ำพบในเจดีย์ไม่ใช่ในองค์พระปรางค์ที่พบพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ หน้ากลาง หน้าหนุ่ม
...
ข้อแตกต่างที่ผู้รู้ระดับคุณมนัสชี้ไว้ก็คือ แม้เป็นพระพิมพ์เดียวกับที่พบย่านสำปะซิว แต่เนื้อดินแตกต่าง พระที่พบในเจดีย์วัดพระ ศรีรัตนมหาธาตุ เนื้อดินละเอียดแน่น...ไม่มีเม็ดแร่
แฟนๆคอลัมน์ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ ถ้ายังพอจดจำได้ คอลัมน์นี้หลายปีเต็มทีแล้ว เคยนำพิมพ์ผงสุพรรณ ย่านสำปะซิว เขียนไว้องค์หนึ่ง องค์นั้นเนื้อดินเผาหยาบมีเม็ดแร่
จำได้ด้วยว่า เจ้าของบอกว่าหวงมากกว่าผงสุพรรณวัดพระศรีฯ เพราะเล่นพระมาทั้งชีวิตเจออยู่องค์เดียว
จำแนกความแตกต่างระหว่างพิมพ์ผงสุพรรณวัดสำปะซิวกับพิมพ์ผงสุพรรณที่พบในเจดีย์ได้ดังนี้ เจ้าของพระจะขออาศัยรัศมี พิมพ์ผงสุพรรณวัดพระศรีฯมาเสริม
จะคุยว่า ขอใช้แทนกันก็คงได้ ใครจะไปกล้าห้าม
ก็เห็นกันชัดพระเก่าแท้ยุคสมัยศิลปะเดียวกัน เพียงแต่ของวัดพระศรีฯมีคำ “ผง” นำหน้า (ผงสุพรรณนักเลงรุ่นเก่าเรียกเกสรสุพรรณ) เนื้อหานุ่มนวลตากว่า ส่วนองค์พิมพ์สำปะซิว เนื้อหาออกไปทางดินเผา
หากจะพูดกันให้เต็มปาก ไม่ตื่นเต้นไปตามค่านิยมกลไกตลาด พระกรุเก่าทุกองค์ ท่านขลังเท่ากัน
ใช่ว่าหลวงพ่อพระมหาเถรปิยทัสสศรีสารีบุตร (องค์ในตำนานที่ว่าเป็นเจ้าของลายมือกดหลังองค์พระผงสุพรรณ) ท่านจะลำเอียงเสกคาถาองค์นั้นน้อยกว่าองค์นี้มากกว่า...ก็เปล่า!
ปรับพื้นฐานความเชื่อความศรัทธาให้ลงลึกมั่นคงไม่สนใจเรื่องราคา ค่านิยมขอแค่เลือกพระกรุสุพรรณฯพิมพ์ใดก็ได้...สักองค์ มาใส่ตลับขึ้นคอ...ก็ยืดอกมั่นใจได้พอๆกัน
ถ้าทำใจได้ก็พิมพ์ผงสุพรรณย่านสำปะซิวองค์นี้เอง เพียงแต่ต้องหาวิธีพูดจากับเจ้าของเขาให้รู้เรื่องเสียก่อน รายนี้พูดจาภาษาการค้ากับใครไม่เป็น.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม