พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๗ ชั้นนิยม วัดเกศไชโย ของตาว พิจิตรระฆัง ๘.

ระยะนี้ฝนตกหนักพายุเข้าหลายพื้นที่ บอกให้รู้ว่าเดือนสิบสองนี้ น้ำนองตลิ่งได้ลอยกระทงไม่หลงทางกันแน่

ระหว่างลูกพี่รออุปถัมภ์นางงามตกรอบเวทีนางนพมาศ ก็ขอเชิญดู พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ของ เสี่ยวาณิช เอกวานิช

ที่แถมข้อมูลมาด้วยว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์ใหญ่ แยกพิมพ์ ๔ แบบคือ ๑.พิมพ์อกใหญ่มีผ้าอาสนะ ๒.พิมพ์อกวี ๓.พิมพ์อกกระบอก ๔.พิมพ์เกศทะลุซุ้ม

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ของวาณิช เอกวานิช.
พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ของวาณิช เอกวานิช.

องค์นี้เป็นพิมพ์อกใหญ่ มีผ้าอาสนะ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นพิมพ์มาตรฐานอันดับ ๑ และเป็นพระดีองค์ดังในอดีต มีภาพเป็นองค์ดาราในตำราพระหลายเล่ม โดยเฉพาะตำราปริอรรถาธิบาย พระสมเด็จ “เล่มครู” อ.ตรียัมปวาย ที่วงการยอมรับเป็นมาตรฐาน และเคยเป็นภาพปกหนังสือไทยพระเครื่อง ฉบับพระเบญจภาคี

...

องค์ที่สอง เป็น พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๗ ชั้นนิยม วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง ของ เสี่ยตาว พิจิตรระฆัง ๘

สภาพสมบูรณ์ เป็นพระแท้ดูง่าย สวยเดิมๆทั้งฟอร์มทรง พิมพ์พระ เนื้อมวลสาร จุดตำหนิ ทั้งที่เป็นมาตรฐานและลี้ลับครบ ผิวเนื้อด้านหน้าเปิดเห็นมวลสารเข้มข้นฝังแน่นในเนื้อแบบ “เนื้อจัด” ที่เป็นเนื้อนิยมสุด

พระบาง เนื้อเขียวหินครก กรุครูขาว ของณัฐพล วิไลพรรัตนา.
พระบาง เนื้อเขียวหินครก กรุครูขาว ของณัฐพล วิไลพรรัตนา.

ต่อด้วย พระบาง เนื้อเขียว กรุครูขาว อ.เมือง จ.ลำพูน สภาพงามสมบูรณ์ มีรายละเอียดในพิมพ์พระงดงาม พิมพ์คมชัด โดยเฉพาะในพระพักตร์มีตา จมูก ปาก ชัดแจ่มแบบ “หูตากะพริบ” และเส้นศิลป์ที่ติดเต็ม

เด่นสุดที่เนื้อพระเป็นสีเขียวแบบหินครกที่ได้รับความนิยมสูงแต่พบน้อย หายาก องค์นี้ของ เสี่ยณัฐพล วิไลพรรัตนา เป็นพระที่ค้นพบจากกรุบ้านครูขาว สันตติภัค ครูประชาบาล ที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามด้านหลังวัดพระคง ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ กรุที่มีการค้นพบพระบางบรรจุอยู่

คือ กรุวัดดอนแก้ว เป็นกรุต้นกำเนิด กรุบ้านครูขาว เดิมอยู่ในพื้นที่เขตวัดพระคง เนื้อพระมักมีกรวดทรายปน และ กรุวัดพระคงฤๅษี องค์พระจะดูใหญ่ล่ำกว่ากรุอื่น

พระปิดตา พิมพ์ชะลูด กรุเก่า หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ของโจ๊ก ลำพูน.
พระปิดตา พิมพ์ชะลูด กรุเก่า หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ของโจ๊ก ลำพูน.

องค์ที่ ๔ คือ พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พิมพ์ชะลูด กรุเก่า

เป็น พระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก ยอดนิยมอันดับ ๒ รองจาก พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ แต่คนเมืองนนท์บอกว่าแลกกันองค์ต่อองค์คงต้องคิดนาน

ยิ่งเป็นองค์งามเยี่ยมสมบูรณ์ยอด ไร้ที่ติ และยังเป็นพระที่ หลวงปู่เอี่ยม ท่านสร้างแจกกับมือ ซึ่งนักนิยมพระเรียกเป็น “พระกรุเก่า” แบบองค์นี้ของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน ราคาอยู่ที่หลักสิบล้าน

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๓ พระครูญาณวิลาศ (หลวงพ่อแดง) วัดเขาบันไดอิฐ ของพายุ บ้านวัชรสาร.
เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๓ พระครูญาณวิลาศ (หลวงพ่อแดง) วัดเขาบันไดอิฐ ของพายุ บ้านวัชรสาร.

...

ตามมาด้วย เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๓ เนื้อทองแดงรมดำ พระครูญาณวิลาศ (หลวงพ่อแดง) วัดเขาบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ของ เสี่ยพายุ บ้านวัชรสาร

ชื่อนี้ เป็นสายตรงนักนิยมพระเครื่องเบอร์ต้นๆ ของเมืองเพชรบุรี ที่เคยมีภาพเหรียญหลวงพ่อแดง รุ่นแรก องค์ งามสภาพแชมป์ให้กรี๊ดกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีภาพองค์แชมป์ของคนอื่นส่งมาเทียบสู้แบบสูสีตัดสินยากอยู่ ๒-๓ เหรียญ

วันนี้ได้องค์นี้มาชี้ขาดตัดสินเป็นแชมป์ได้แบบเอกฉันท์ ด้วยความคมชัดของบล็อกแม่พิมพ์ ที่ติดลึกชัดแบบสุดพิมพ์ “จมูกติดเต็ม” ผิวเหรียญรมดำสีปีกแมลงทับเดิมๆ

กับมีประวัติเป็นเหรียญของคนดังเมืองราชบุรี ที่เมื่อ ๑๐ ปีก่อน มีราคา เปลี่ยนมือที่หลักล้านเป็นเหรียญแรก ขณะเหรียญแชมป์อื่นๆซื้อ-ขายที่ ๔-๕ แสนเป็นอย่างสูง ถึงวันนี้ เสี่ยพายุ จึงขอเป็นที่ ๑ โดยทุ่มทุนสู้มาครอบครองด้วยราคาจบถึง ๓ ล้าน

เหรียญพระปิดตา หลวงพ่อเชย วัดท่าควาย ของอิทธิ ชวลิตธำรง.
เหรียญพระปิดตา หลวงพ่อเชย วัดท่าควาย ของอิทธิ ชวลิตธำรง.

...

อีกสำนักเป็น เหรียญพระปิดตา พ.ศ.๒๔๖๘ หลวงพ่อเชย วัดท่าควาย อ.เมือง จ.สิงห์บุรี อมตะพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตายอดนิยมอันดับ ๑ ของเมืองสิงห์บุรี

ท่านเป็นศิษย์สืบทอดวิชาพุทธาคมสายตรงของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า รุ่นเดียวกับ เสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และเป็นพระสหมิกธรรมเรียนวิชากับ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เมืองสมุทรสาคร จึงมีพระปิดตาเนื้อดินผสมผง ๒ หน้า รุ่นปี พ.ศ.๒๔๖๐ ที่มีชื่อเสียงของท่านเป็นพระราคาหลักแสนข้ามถิ่นไปเผยแพร่แจกศิษย์ท่านใน จ.สมุทร สาคร

อันนี้ เป็นเหรียญพระปิดตา ที่ท่านสร้างขึ้นอย่างมีเอกลักษณ์ด้วยพรสวรรค์ด้านพุทธศิลป์และอาคมที่เข้มขลังที่มีคนพบประสบการณ์ด้านคุ้มครองป้องกันให้แคล้วคลาดภัยถึงคงกระพันชาตรี ด้านโชคลาภก็โดดเด่นว่าใครมีเหรียญนี้ใช้บูชาสามารถสร้างฐานะได้มั่นคงทุกคน

แต่ก็มีน้อยคนจะได้เป็นเจ้าของ เพราะจำนวนสร้างน้อย ใครมีก็หวง โดยเฉพาะเหรียญสภาพสมบูรณ์สวยแชมป์อย่างนี้ ของ เสี่ยเพชร–อิทธิ ชวลิตธำรง ใครอยากได้อยากสู้ราคาต้องเอาเทียบฐานะกันนิด

แหนบสกรีน รุ่นฉลองสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงพ่อกวย วัดบ้านแค ของต้อม สำนักจันทร์.
แหนบสกรีน รุ่นฉลองสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงพ่อกวย วัดบ้านแค ของต้อม สำนักจันทร์.

...

อีกรายการเป็น แหนบ สกรีน รุ่นฉลองสมณ ศักดิ์ พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม (บ้านแค) จ.ชัยนาท ๑ ในวัตถุมงคลที่สร้างออกเป็นที่ระลึกคราวงานบุญฉลองสมณศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒

ลักษณะเป็นแหนบเสียบกระเป๋าหน้า รูปทรงดอกบัว สกรีนรูปท่านนั่งสมาธิเต็มองค์ ล้อมด้วยอักขระพระคาถา ด้านล่างมีอักษรบอกนามหลวงพ่อกวย เข้าใจว่าสร้างพิเศษเฉพาะบุคคล จึงมีจำนวนน้อย หาพบยาก มีผู้แสวงหามาก แต่ยากจะได้ อันนี้ ของ เสี่ยต้อม สำนักจันทร์ เป็นองค์ ๑ เดียวที่พบ

พระราหู กะลาแกะ ทรงเสมา ยุคต้น หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ของเพชร อิทธิ.
พระราหู กะลาแกะ ทรงเสมา ยุคต้น หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ของเพชร อิทธิ.

สุดท้าย เป็น พระราหู ทรงเสมา กะลาแกะ ยุคต้น หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เครื่องรางยอดนิยมเบอร์ต้น ที่สายตรงเครื่องรางต้องมี เพราะเป็นเครื่องรางที่มีอานุภาพอา ถรรพณ์สูง ด้านคุ้มครองป้องกันภัย เสริมดวงชะตาวาสนาบารมี

ดังตำนานว่า มีต้นตำรับวิชาสร้างมาจากหลวงพ่อไตร พระเกจิอาจารย์ชาวลาว ที่นำชาวลาวเวียงจันทน์อพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี ในสมัย ร.๒-ร.๓ ประกอบอาชีพมีฐานะมั่นคง จึงร่วมมือกันสร้างวัดขึ้น แล้วขุดพบเศียรพระพุทธรูปทองคำ ในอาณาเขตวัด จึงเรียกเป็นชื่อวัด “หัวทอง” และนิมนต์หลวงพ่อไตร เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ท่านจึงสร้าง ราหูอมจันทร์ ด้วย กะลาตาเดียว ตามตำรับวิชาของท่าน แจกชาวบ้าน ด้วยรูปแบบฝีมือชาวบ้าน ตามจินตนาการไม่มีรูปทรงตายตัว ซึ่งสืบทอดถึงเจ้าอาวาสองค์ต่อๆมาคือ หลวงพ่อตัน หลวงพ่อลี จนเจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ และ ๔ หลวงพ่อทอง หลวงพ่อช้อย เป็นชาวไทย จึงไม่มีการสร้างราหู

จนถึงยุค หลวงพ่อน้อย เป็นชาวลาวในพื้นที่ ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก หลวง พ่อลี และโยมบิดา ซึ่งมีความรู้ด้านวิชาอาคม มีตำราสร้าง พระราหู กะลาแกะ ท่านได้ศึกษาอย่างละเอียด พอได้เป็นเจ้าอาวาสจึงสร้าง พระราหูกะลาตาเดียว แกะแบบเต็มใบ เป็นพระราหู ๓ หน้า ลงจารอักขระเลขยันต์เต็มสูตร

แล้วจึงได้เริ่มวางรูปแบบลวดลาย และการลงอักขระเลขยันต์เป็นมาตรฐาน ตามตำราใบลานต้นฉบับของ หลวงพ่อไตร ที่นำมาจากเวียงจันทน์ ที่กำหนดว่าไม่ว่าจะทำเป็นรูปแบบลวดลายใด ต้องทำจากกะลาตาเดียวเท่านั้น

กะลาแกะพระราหูยุคต้นๆของท่านมีทั้งฝีมือช่างที่เป็นพระลูกวัด รูปทรงมีทั้งสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม และฝีมือช่างนักโทษ เพราะศิษย์ท่านที่เป็นผู้คุมให้นักโทษที่มีฝีมือทางแกะสลัก-ออกแบบแกะสลักพระราหูแข่งกัน คัดได้อันสวยสุดเป็น รูปทรงเสมาคว่ำ

เมื่อส่งให้ หลวงพ่อน้อยท่านก็ใช้เป็นต้นแบบสร้างพระราหู รูปทรงมาตรฐาน ด้านหลังลงจารอักขระ ลายมือครบสูตรเป็นระเบียบ ไม่วกไปเวียนมา

องค์นี้ ของ เสี่ยเพชร อิทธิ เป็นองค์เจ๋งสุด แท้ดูง่าย ทั้งอายุความเก่า รูปทรง ลวด ลายการแกะ ลายมือลงอักขระเลขยันต์ ที่วงการยอมรับเป็นองค์ครู มีภาพลงเป็นองค์ซุปตาร์ในตำราเครื่องรางยอดนิยมพระราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง เล่มมาตรฐาน

มาถึงเรื่องปิดท้าย ในกุฏีพระเกจิฯ ที่มีชื่อเสียงด้านวิชาอาคมเข้มขลัง ย่านชานกรุงเทพฯ นายโต ลูกศิษย์ ซึ่งมีท่าทางรีบร้อน มากราบพระอาจารย์ในเวลาใกล้รุ่ง บอกว่ามีคนตามทำร้าย ขอให้พระอาจารย์อาบน้ำมนต์ ลงกระหม่อมให้แคล้วคลาด ให้อายุยืน

พระเกจิฯเห็นอาการร้อนรนผิดปกติ และมาเวลายามวิกาล ก็สงสัยว่าศิษย์ที่มีนิสัยเกเรคงไปก่อเหตุร้ายมา จึงบอกให้รอฤกษ์ยามก่อน ลูกศิษย์ก็เชื่อ

แต่ยังไม่ทันได้น้ำมนต์ ก็มีตำรวจบุกเข้ามาจับตัวใส่กุญแจมือ แจ้งข้อหาทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกายคนบาดเจ็บสาหัส

ตอนเจ้าหน้าที่คุมตัวไปศิษย์หันหน้ามาต่อว่าพระอาจารย์ อาจารย์ไม่น่าหักหลัง โทร.บอกตำรวจมาจับผมเลยอ่ะ พระเกจิฯฟังแล้วส่ายหน้า บอกก็เอ็งขอให้ต่ออายุให้อยู่ยาวๆไง ข้าก็ช่วยแล้ว--เลยเรียกจ่ามาจับซะ เพราะถ้าหนีต่อไปเดี๋ยวลูกศิษย์ไปก่อเรื่องอีกอาจถึงตาย อายุสั้นได้ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม