เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี ๒๕๖๕ ที่หลายคนบอกตั้งตัวไม่ค่อยทัน เพราะวันเวลาผ่านไปเร็วมาก ยังมีนั่นโน่นนี่ที่ยังต้องจัดการค้างอยู่อีกเยอะ ที่น่าจะต้องยกยอดไปปีหน้า.....
ความรู้สึกแบบ “เวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก” ก็สอดคล้องกับคำสอนที่ว่า เวลา เป็น “สมบัติ” ที่มีค่า ที่ทุกคนมีเท่าๆกัน คือ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน แต่เราได้ใช้ “สมบัติ” นี้ให้เกิดประโยชน์หรือไม่ หรือปล่อยให้ “เวลา” สูญเสียไป เพราะคิดว่าเวลายังมีเยอะ--และถ้าคิดแบบนี้ วันหนึ่งหลายคนก็ได้พบกับคำว่า “สายเกินไป” เพราะไม่มี “เวลา” อีกแล้ว.....
และเรื่อง เวลา ทางพุทธศาสนา ก็มีใน ธรรมคุณ (คุณของพระธรรม ๖ ประการ) หรือ อกาลิโก หมายถึง การกระทำสิ่งใด หากเราปฏิบัติตามได้อย่างบริบูรณ์เมื่อไหร่ ก็เห็นผลเมื่อนั้น และเป็นจริงตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา--ส่วนอะไรที่ต้องขึ้นอยู่กับเวลา ก็มีเกิด เปลี่ยนแปลง ดับ ไปตามเวลา แต่ พระธรรมเป็นจริงอยู่เสมอ.....
เข้าสนามพระวิภาวดี ของเรา ซึ่งได้เห็นว่า วัตถุมงคล ที่เราบูชาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็มีการสืบทอดความศรัทธาเชื่อถือมาเป็นพันๆปี หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ซึ่งอาจบอกได้ว่า อยู่เหนือกาลเวลา ได้.....
- องค์แรกคือ พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระแท้ ดูง่ายสบายตา และเห็นกันมานาน ในหนังสือตำราพระสมเด็จเล่มมาตรฐานมากมาย.....ดีกรีเป็นพระพรีเมียมแบบนี้ เสี่ยแม็ก ช้างเผือก เจ้าของคนปัจจุบัน
จึงกำลังเนื้อหอม.....
...
- องค์ที่สอง คือ พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้นอกตัน วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง ก็เป็นพระแท้ดูง่ายสบายตา ด้วยรูปทรงสมส่วน พิมพ์พระที่ถูกต้องชัดเจนมาตรฐาน.....และเนื้อมวลสารที่เป็น เนื้อนิยมสุด (เนื้อกระดูก) รวมๆจึงเป็นพระหลักยอดนิยม ในสกุลพระสมเด็จวัดเกศไชโยฯ ที่มีความงามสมบูรณ์ ด้วยผิวเนื้อที่ผ่านสัมผัสใช้บางเบา ทำให้องค์พระดูดี มีเสน่ห์.....
- องค์ที่สาม ตามมาคือ พระขุนแผน พิมพ์อกเล็ก วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี สุดยอดพระกรุเมืองสุพรรณ ที่สร้างไว้ครั้ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพหลวงจากกรุงศรีอยุธยามากระทำศึกยุทธหัตถีชนช้างกับพม่า ที่เมืองสุพรรณบุรี โดย พระอาจารย์ธรรมโชติ ประกอบพิธีสร้าง เพื่อมอบให้ทหารใช้บูชาคุ้มครองตัวออกทำศึก หลังเสร็จศึกทหารได้นำพระไปบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์กลางลานวัดบ้านกร่าง.....
อีกหลายร้อยปีวัดได้กลายเป็นวัดร้าง เมื่อองค์พระเจดีย์กลางลานพังทลายจึงพบ พระพิมพ์เนื้อดินเผา รูปทรง ๕ เหลี่ยม ด้านหน้าเป็นองค์พระนั่งปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มแบบยอดขุนพล หลายแบบหลายขนาด ทั้งเดี่ยวและคู่จำนวนมาก.....ได้รับการขนานนามเป็น “พระขุนแผน” เพราะมีพ่อค้าชาวเรือที่มาอาศัยท่าน้ำหน้าวัด จอดพักแรม ขึ้นมาพักผ่อนในลานวัด พอพบพระก็นำติดตัวกลับไปใช้บูชา.....และปรากฏอานุภาพด้านคุ้มครองป้องกันภัย แคล้วคลาด เมตตามหานิยมมหาเสน่ห์ เป็นที่เลื่องลือ หนุ่มใหญ่-น้อยชาวเรือที่ไม่มีวี่แววจะมีคู่ก็ได้เจอเนื้อคู่อย่างอัศจรรย์กันมาก.....จึงต่างเชื่อว่าเป็นด้วยอานุภาพของพระวัดบ้านกร่างที่นํามาใช้บูชา จึงเรียกชื่อว่า ขุนแผน ตัวเอกในวรรณ คดีที่เก่งกาจชาตินักรบ ซึ่งพระได้แพร่หลาย นิยม เป็นพระเครื่องแถวหน้าของเมืองสุพรรณแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน องค์นี้ของ เสี่ยโต้ง สุพรรณ (พิเชษฐ์ ฉิมวัย) เป็นพระพิมพ์นิยมเบอร์ต้นของกรุ--สภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ แบบนี้ ราคาอยู่ที่หลักแสนกลางๆ.....
...
- ต่อไปคือ พระกริ่งปวเรศน้อย สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ของ เสี่ยโต้ง บางแค ซึ่งมีข้อความจากหนังสือ “พระกริ่งสยาม” ปกเป็นพระกริ่งปวเรศฯ วัดบวรนิเวศ ปกหลังเป็นภาพองค์พระในเก๋งจีน.....กับด้านในมีภาพพระกริ่ง แบบองค์นี้ ๒ องค์ พร้อมข้อความใต้ภาพว่า “พระกริ่งปวเรศน้อย (พระสังฆราชแพ) วัดบวรนิเวศ ซึ่งทำให้สงสัยว่าผู้สร้างจะเป็น “สมเด็จพระสังฆราชแพ” หรือไม่ เพราะรู้กันว่าพระกริ่งปวเรศเป็นของวัดบวรฯ แต่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) อยู่วัดสุทัศน์--ใครรู้จริง รู้ดี กรุณาเล่ามาด้วย...หรือหนังสือพิมพ์ผิด.....
- ต่อไปเป็น เหรียญยันต์ ๕ บล็อกแตก พ.ศ.๒๔๖๙ เนื้อสำริด พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนังฯ กทม. .....อันนี้ตอนแรกเป็นเหรียญที่สงสัยกันว่าสร้างเป็นเหรียญแจกงานศพหลวงปู่ท่าน เพราะระบุปีสร้าง พ.ศ.๒๔๖๙ ซึ่งเป็นปีมรณภาพของท่าน เกรงกันว่าไม่ทันท่านปลุกเสก.....จนพบบันทึก “ตรียัมปวาย” เปิดเผยว่า พระครูคำและพระปลัดแจ้ง ศิษย์ใกล้ชิดท่าน ขออนุญาต หลวงปู่เอี่ยม สร้างไว้เป็นที่ระลึกอีกรุ่นหนึ่ง หลังจาก เหรียญรุ่นแรกหลังยันต์ ๔ หมดจากวัด.....พอหลวงปู่อนุมัติจึงให้ นายเนียม ช่างทอง ผู้ทำเหรียญรุ่นแรก ลงมือทำแม่พิมพ์ สร้าง เหรียญหลังยันต์ ๕ รุ่นนี้ขึ้น โดยกำหนดแบบให้ด้านหน้าเป็นองค์หลวงปู่นั่งสมาธิเต็มองค์ บนโต๊ะขาสิงห์มีกนกข้างเหมือนเดิม.....
...
ด้านหลังเหรียญมีความแตกต่าง เป็นรูปยันต์ ๕ (พระเจ้าห้าพระองค์ นะ โม พุท ธา ยะ) เนื้อเป็นทองแดงเข้มออกสำริดดำ ที่ หลวงปู่เอี่ยม เรียก “สำริดเหล็ก”.....จัดสร้าง ๑,๐๐๐ เหรียญ นำมอบหลวงปู่ปลุกเสกก่อนมรณ ภาพ ๓ เดือน ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็น เหรียญรุ่นสอง ที่จะหาเหรียญจริงของแท้สวยเฉียบแบบเหรียญนี้ของ เสี่ยโอ โชติธรรม์ ได้ยาก พอกับ เหรียญหลังยันต์ ๔ รุ่นแรก แต่ราคาก็ยังเบากว่า สภาพนี้อยู่ที่หลักล้านต้นๆ ซึ่งมีสายตรงอยากได้เยอะ.....
- อีกเหรียญของ เสี่ยบอย บางกรวย เป็น เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๐๘ เนื้อทองแดงรมดำ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สภาพสมบูรณ์สวยแชมป์.....รมดำเต็มร้อยเดิมๆ ขอบข้างเลื่อยนิยมสุด แบบนี้ ราคาอยู่ที่หลักแสนกลางถึงล้านแล้วจ้า.....
...
- อีกรายการเป็น ล็อกเกต หลังอุดผงพุทธคุณ พ.ศ.๒๕๑๘ พระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม อิสริโก) วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง วัตถุมงคลสร้างพิเศษ เป็นล็อกเกตเคลือบหน้าขาว.....ด้านหน้าเป็นภาพองค์ท่านห่มจีวรลดไหล่ นั่งสมาธิภาวนา ล้อมด้วยอักขระเลขยันต์ ด้านหลังบรรจุผงพุทธคุณเส้นเกศา กดเป็นพิมพ์องค์หลวงปู่นั่งสมาธิเต็มองค์ .....จำนวนสร้างเพียง ๒๒ ชิ้น ชิ้นนี้ของ เสี่ยไทยรัฐ คำปาน ที่ยังคงสภาพงามสมบูรณ์เต็มร้อย และราคาหลายแสน.....
- สุดท้ายเป็น ตะกรุดโทน ถักเชือกลงรัก หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก อ.เมือง จ.นครปฐม ของ คุณพี่เบญจวรรณ ไกรสวัสดิ์ ซึ่งแฟนคลับไม่เคยผิด หวังกับพระเครื่องวัตถุมงคลที่ส่งมาให้ชม เพราะเป็นของดี บอกถึงรสนิยมในการแสวงหาสะสมอย่างเล่นลึก รู้จริง.....อย่างชิ้นนี้เป็นวัตถุมงคลของขลังแถวหน้าเมืองนครปฐม ที่สร้างไว้โดยอมตะพระเกจิฯยุคเก่า ผู้มีวิชาพระเวทวิทยาคมแก่กล้า.....มีประวัติบันทึกจากคำบอกเล่าของพระเกจิฯรุ่นศิษย์ ที่ล้วนมีชื่อเสียงเป็นพระเกจิฯชื่อดังด้านวิชาอาคมของเมืองนครปฐม อาทิ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อวงษ์ (พระครูพรหมวิสุทธิ์) วัดทุ่งผักกูด, หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เป็นต้น และจากหลักฐานภาพถ่ายคู่พัดยศ ระบุ ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) หลวงพ่อทา เป็นชาว อ.โพธาราม บิดามีเชื้อสายลาว มาจากเวียงจันทน์.....
ท่านกำเนิดราวปี พ.ศ.๒๓๖๖ เมื่ออายุ ๑๕ ปี บรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทที่วัดบ้านฆ้อง ศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน วิชาพุทธาคมจากพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ชาวมอญนานหลายปีจนมีความเชี่ยวชาญ จึงได้รับอนุญาตให้ออกธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานปลีกวิเวก เข้าป่ารุกขมูลได้พบพระอาจารย์ถ่ายทอดวิชาอาคมอีกมาก.....ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ ได้ธุดงค์มาถึง ต.พะเนียงแตก ขณะอายุ ๕๑ ปี พบสถานที่เป็นวัดร้างนอกเมือง จึงปักกลดพักแรม ปฏิบัติภาวนาจนชาวบ้านมาพบ เห็นวัตรปฏิบัติเกิดศรัทธาจึงอาราธนานิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา ช่วยท่านพัฒนาวัด สร้างพระอุโบสถ เสนาสนะต่างๆ จนสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐.....และยังช่วยชาวบ้านสร้างอีกหลายวัด เช่น วัดบางหลวง วัดดอนเตาอิฐ วัดสองห้อง ทำให้ท่านมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพศรัทธา ทั้งใน จ.นครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท เพชรบุรี ราชบุรี และใกล้เคียง มีคนมาบวชเป็นพระเณรอยู่วัดพะเนียงแตกกันมาก.....จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ ทรงทราบเกียรติคุณจึงโปรดเกล้าฯนิมนต์ท่านร่วมในพระราชพิธีสำคัญเสมอ เช่น งานพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์--เมื่อ ร.๕ ทรงบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ก็ได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง หลวงพ่อทา เป็นพระเถระประจำทิศเหนือ.....
หลวงพ่อทา ทำหน้าที่ปกครองวัดด้วยเมตตาบารมี ความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาด เป็นที่เกรงขามของนักเลงหัวไม้ยุคนั้น งานประจำปีวัดพะเนียงแตกจึงไม่เคยมีเรื่องวิวาทของนักเลงกลุ่มต่างๆ เพราะหลวงพ่อจะถือไม้พลองเดินตรวจทั่วงาน เป็นที่ยำเกรงนักเลงต่างๆ คนเมามาเจอท่านยังหายเมา ทำให้ชาวบ้านขนานนามเรียกท่าน “หลวงพ่อเสือ”.....ตลอดอายุท่านสร้างพระเครื่องของขลังวัตถุมงคลไว้หลายรูปแบบล้วนมีชื่อเสียงได้รับความนิยมสูง เช่น พระปิดตาเนื้อสำริด และเนื้อเมฆพัตร แบบ เกลอเดี่ยวและสามเกลอ เหรียญหล่อรุ่นแรก-รุ่นสอง.....และที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือ ตะกรุดไม้รวกถักเชือก ขึ้นหน้าลายพิรอด ลงรักปิดทอง เป็นตะกรุดสร้างชื่อ ฝีมือประณีต ด้วยเชือกป่านลายถักเป็นเอกลักษณ์--
อย่างดอกนี้ ปัจจุบันได้รับความนิยมสูง หายากสุดๆ โดยเฉพาะดอกสภาพงามสมบูรณ์ สวยเยี่ยมเดิมๆ.....มาถึงเรื่องปิดท้ายสไตล์สนามพระของเรา เล่ากันถึงเรื่องในกุฏิพระเกจิฯวัดดัง ซึ่งมีลูกศิษย์มานั่งรอพบทุกวันเพื่อเอาพระเครื่องของขลังมาให้ท่านเป่าเสก พรมน้ำมนต์--
ถ้าวันใกล้หวยออกจะมามากเป็นร้อยคน เพราะเชื่อว่าท่านให้เลขเด็ดแม่นมาหลายงวด.....วันนี้ก็เช่นกัน มากันแน่นกุฏิ แต่ ๑ ในนั้นมีชายร่างท้วมมาแปลก โดยหอบเอากล่องยากล่องใหญ่มานั่งรอหน้าจ๋อยๆ พวกที่มารอขอเลข เห็นเป็นหน้าใหม่ก็ทักว่าหอบอะไรมาให้หลวงพ่อเสกหรือ.....ชายร่างท้วมยิ้มแห้งๆ บอกเป็นยาชุด “เจอ แจก จบ” ที่รัฐบาลทำแจกผู้ตรวจพบติดเชื้อโควิด-๑๙ .....แต่ไม่มั่นใจว่าจะจบโรคได้จริงป่าว จึงอยากเอามาให้หลวงพ่อเสกกำกับ เพื่อเติมเต็มความมั่นใจ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง