โจทย์ของสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์ โจทย์แรก เรื่องพิมพ์ เฉลยว่า เป็นพิมพ์ใหญ่แบบชะลูด ซึ่งดูผิวเผิน ทุกเส้นสายลายพิมพ์ ทุกตำหนิพิมพ์ เหมือนพิมพ์ใหญ่มาตรฐานคุ้นตาทั่วไป เพียงแต่ส่วนสูง สูงกว่า ส่วนกว้างก็กว้างน้อยกว่าเล็กน้อย

โจทย์ต่อมา เนื้อ และผิว เฉลยว่า สภาพรวมสึกช้ำ ระดับความซึ้งปานกลาง เห็นความหนึกแกร่งแฝงในโครงสร้าง เงาสว่างจากเนื้อขาว ตัดกับพื้นผนังซึ่งยังเห็นฝ้ารักสีน้ำตาลเข้ม สลับ หลุมร่อง รอยยุบ รอยยับ และร่องริ้วระแหง (ไม่ใช่แตกลายงา) ส่งองค์พระลอยเด่น

พระสมเด็จวัดระฆังสภาพนี้เป็นพระแท้ดูง่าย เป็นที่นิยมมากของนักเลงพระสมเด็จรุ่นเก่ามีอิทธิพลให้คนรักพระสมเด็จสมัยนั้น นิยมขัดแต่งพระกันขึ้นหน้าขึ้นตา การขัดมีสถานหนักด้วยใบตอง ขัดสถานเบาด้วยสำลี

ครู “ตรียัมปวาย ”เองก็ยังสอน เทคนิคการเสริมเงาสว่าง เป็นมหกรรมใหญ่

เริ่มแต่ใช้วาสลิน (สมัยนั้น) ทาให้พระชุ่ม ใช้แป้งเด็กโรยใส่ อบความอุ่นด้วยโป๊ะไฟฟ้า ได้เวลาปัดออกด้วยแปรงอ่อน แล้วขัดเบาๆให้เกิดเงาสว่างหรือที่จริงก็คือความมันด้วยสำลี

วิธีการเหล่านี้ สมัยนี้ถือว่าพ้นสมัย ใช้ไม่ได้แล้ว ค่านิยมใหม่ ถ้าพระสกปรก หรือช้ำ ก็แค่ล้างให้แห้งแล้วปล่อยให้เหลือสภาพเดิมๆ

พระที่ถูกแต่งเติมเสริมความเงาสว่าง สร้างความฉ่ำ สำหรับคนเป็นพระ ดูแล้วไม่รื่นตา เหมือนพระที่ถูกใช้สึกช้ำตามธรรมชาติเดิมๆ อย่างองค์ในคอลัมน์ ดูได้ทันทีมีคุณสมบัติพระแท้ครบสูตร

แม้เป็นสมเด็จวัดระฆังแท้ดูง่าย แต่นั่นก็อาจเป็นปัญหา สำหรับบางคนที่อาจยึดหลักที่สอนกันแต่โบราณ พระสมเด็จวัดระฆังหลังแตกลายงาเป็นพระปลอม

ที่จริงก็เป็นคำสอนที่ฟังได้ แต่อยากขอให้ฟังหูไว้หู

...

วันนี้โชคดีมีหนังสือ สามสมเด็จ ของประชุม กาญจนวัฒน์ (พิมพ์ พ.ศ.2523) ในมือ ขอยกความรู้ของพี่ชุมมาเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา

พระสมเด็จวัดระฆัง แยกผิวออกเป็นสามประเภท

1. ผิวราบเรียบตึง อันเกิดจากธรรมชาติ ผิวประเภทนี้ตามซอกมักปรากฏแป้งโรยพิมพ์

2. ผิวที่แตกร้าวบางแห่งเพราะเนื้อไม่แน่น ผิวประเภทนี้มักเกิดขึ้นคล้ายเนื้อพระวัดพลับ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเนื้อไม่แน่นตัว

3. ผิวแตกลายงาเพราะน้ำรักรัดตัว พระสมเด็จวัดระฆังที่มีผิวแตกลายทั่วองค์ ส่วนมากเนื้อจะแตกด้านหน้า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเดิมเนื้อพระยังแน่นตัวไม่พอต่อเมื่อถูกน้ำรักรัดตัวมากผิวเนื้อตอนหน้าจึงแตกลายงาขึ้น

ข้อ 3 ผิวแตกลายงา ทฤษฎีพี่ชุม มีประโยคต่อท้าย ส่วนมากจะแตกด้านหน้า...คำ “ส่วนมาก” แสดงว่า พี่ชุมไม่ได้ชี้ชัด หลังแตกงาเป็นพระปลอมทุกองค์ การแตกงาด้านหลัง อาจจะเกิดจากเหตุปัจจัยอื่นอีกบางประการ

เช่น หลังพิมพ์ใหญ่องค์ในคอลัมน์ มีริ้วระแหง (จะเรียกแตกลายงาก็ไม่แน่ใจ) อยู่มากกว่า ริ้วระแหงในพื้นผนังด้านหน้า จะใช้หลักด้านหลังลงรัก ถูกน้ำรัดตัวมาก ทำให้เกิดปฏิกิริยาแตกลายงา ก็น่าจะได้

คนเป็นพระสมเด็จ ที่ผ่านพระมาหลายสภาพ คงเข้าใจอะไรๆก็เกิดขึ้นได้

หากพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นไปได้มีเหตุและผลอธิบายได้ตามธรรมชาติ เมื่อพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบด้านหน้า ที่เป็นพระสมเด็จวัดระฆังแท้แน่ๆ ก็ควรประมวลได้ เป็นหลังสมเด็จวัดระฆังอีกสภาพ.

พลายชุมพล