พระสมเด็จบางขุนพรหม ๐๙ พิมพ์ใหญ่ A เกศทะลุซุ้ม วัดใหม่อมตรส ของกฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา.
พบกันช่วงเมืองไทยหยุดยาว แต่ สนามพระวิภาวดี ของท่านผู้ชมเปิดตามปกติ เหมือนที่ไม่เคยปิดเลย ๒๔ ปีแร้ว โอ้ มายก๊อด!!
และวันนี้ก็มีพระสวยๆระดับ ๕ ดาวมาหลายองค์ เริ่มจาก พระสมเด็จ ที่เคยแนะนำว่าควรมีไว้ เพราะอนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ คือ พระสมเด็จบางขุนพรหม ๐๙ พิมพ์ใหญ่ A เกศทะลุซุ้ม นิยมสุด วัดใหม่อมตรส กทม. ที่สร้างเพื่อหารายได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และบรรจุองค์พระเจดีย์ ในงานผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๔-๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๙
โดย พล.อ.ประภาส จารุเสถียร บิ๊กมหาดไทย และ คุณหญิงไสว จารุเสถียร เป็นประธานอุปถัมภ์ พล.ท.กฤษณ์ สีวะรา เป็นประธานจัดงาน ในสมัย พระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) เป็นเจ้าอาวาส พระครูบริหารคุณวัตร (ชม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นแม่งานดำเนินการสร้าง
โดยรวบรวมมวลสารหลัก คือชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จบางขุนพรหม ที่เสมียนตราด้วง จัดสร้าง โดยอาราธนา สมเด็จโต เป็นประธานพิธี และนำพระบรรจุไว้ในกรุเมื่อประมาณร้อยปีก่อน ก่อนเปิดกรุทางการในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพราะทนให้ขโมยตกกรุไม่ไหว
และยังมีดินกรุ ผงพุทธคุณพระคณาจารย์ทั่วประเทศ นำมาผสมปูนเปลือกหอย เกสรดอกบัวหลวง ดอกพิกุล มวลสารศักดิ์สิทธิ์อีกมากมาย โดยใช้น้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว เป็นตัวประสาน เนื้อ
บล็อกแม่พิมพ์ในแต่ละพิมพ์ มีหลายตัว เพราะสร้างพระมากถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่าพระธรรมขันธ์ เฉพาะพระพิมพ์ใหญ่ ก็มีตั้ง ๒๗ แม่พิมพ์
แยกฝีมือแกะแม่พิมพ์ ได้เป็น ๑.ลุงแฉล้ม บัวเปลี่ยนสี (องค์พระค่อนข้างผอม) ๒.จ่ามานิตย์ ปฐพี (พิมพ์พิเศษ) ๓.นายช่างเกษม มงคลเจริญ (พิมพ์พระคมชัดสวยงาม)
รุ่น ๒๕๐๙ มีทั้งหมด ๑๒ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์เส้นด้าย ๓.พิมพ์ทรงเจดีย์ ๔.พิมพ์เกศบัวตูม ๕.พิมพ์สังฆาฏิ ๖.พิมพ์ปรกโพธิ์ ๗.พิมพ์ฐานคู่ ๘.พิมพ์ฐานแซม ๙.พิมพ์อกครุฑ ๑๐.พิมพ์ไสยาสน์ ๑๑.พิมพ์คะแนน ๑๒.พิมพ์จันทร์ลอย
...
การออกบูชา แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ ๑.ให้ทำบุญบูชา เพื่อนำบรรจุองค์พระเจดีย์องค์ละ ๑ บาท โดยด้านหลังพระ ประทับตรายางคำว่า “บรรจุ” ไว้
๒.ให้ทำบุญบูชา นำกลับบ้าน แบบนี้คิดแพงหน่อย คือองค์ละ ๑๐ บาท ยกเว้น พิมพ์ไสยาสน์ ๒๕ บาท แบบรวมชุด บรรจุกล่อง ๑๑ พิมพ์ (ยกเว้นพิมพ์ไสยาสน์) ชุดละ ๑๐๐ ซึ่งแบบที่เช่าแล้วเอากลับ ด้านหลังประทับตรายาง องค์พระเจดีย์
ปัจจุบัน พระทุกพิมพ์ ทุกบล็อก ได้รับความ นิยมในราคาที่แตกต่าง จากหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสนถึงหลายๆแสน อย่างองค์นี้ของ เสี่ยกฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา ซึ่งเป็นพระพิมพ์ใหญ่ A เกศทะลุซุ้ม บล็อกนิยมสูงสุด ที่คาดได้ว่าเป็นพระดีมีอนาคต ราคาจะพุ่ง เทียบได้กับพระสมเด็จบางขุนพรหม กรุใหม่ ทีเดียว สภาพสมบูรณ์ ยิ่งองค์สวยแชมป์แบบนี้ ยังไงก็คุ้ม
ตามมาด้วย พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เปลวเพลิงเล็ก หลังจารสมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กรุงเทพฯ ๑ ในพิมพ์นิยมมาตรฐานที่หายาก
โดยเฉพาะองค์ที่พิมพ์ชัดลึก เนื้ออุดมด้วยมวลสารแห้งเก่าถึงอายุ ด้านหลังมีรอยลายมือจารอักขระ “อรหัง” ถูกต้อง ตรงตามตำรา แท้ดูง่าย ใช่แน่ แท้ชัวร์ แบบองค์นี้ของ พระคุณลุง ที่ปัจจุบันบอกได้ว่า ใช่แต่จะหาซื้อ แค่หาชมองค์งามๆแบบนี้ ยังยากกว่าหา พระสม เด็จของท่านสมเด็จฯโต ซะอีก
ยังป้วนเปี้ยนในดงพระสมเด็จ อีกองค์คือ พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ฐาน ๕ ชั้น เข่าบ่วง วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง พระนอกพิมพ์มาตรฐาน ที่ได้รับความนิยม
เป็นพระในสกุลพระสมเด็จเกศไชโย ที่ค้นพบพร้อมพระ ๓ พิมพ์มาตรฐาน และมีราคาเบาๆ อยู่ที่หลักหมื่นปลายถึงหลักแสนต้นๆ สำหรับองค์งามสภาพแชมป์แบบองค์นี้ของ เสี่ยโต รีไซเคิล
...
อีกรายการเป็น พระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก พระพิมพ์มาตรฐานในหมวดพิมพ์เล็ก ที่ในอดีตถูกมองข้าม เป็นแค่ พระน้ำจิ้ม ไว้แถมให้ในการซื้อ-ขายพระพิมพ์นิยม ในหมวดพิมพ์ใหญ่
คนได้ ไปจึงไม่ค่อยสนใจ พระส่วนมากที่พบสมัยหลัง จึงถูกใช้อย่างสมบุกสมบัน องค์พระสึกหรอ พิมพ์พระลบเลือน หรือไม่เนื้อพระก็ดำคล้ำแบบฉ่ำขี้ผึ้ง จากการที่คุณย่าคุณยายสมัยก่อน นิยมนำพระไปใส่ในตลับสีผึ้งสีปาก เพื่อพึ่งอานุภาพ ด้านเมตตามหาเสน่ห์
ปัจจุบันพอพระในหมวดพิมพ์ใหญ่ หายากราคาสูง นักนิยมพระก็หันมาหา พระพิมพ์เล็ก ราคาเบา แต่ก็ยากที่จะหาพบองค์งามๆ สภาพเดิมๆ ระดับแชมป์
แต่ก็ยังมีองค์ที่ได้รับการยอมรับเป็น “องค์ครู” อย่างองค์นี้ของ โป๊ยเสี่ย–ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ ที่นับวันยิ่งมากคุณค่า จนราคาไล่หลัง พิมพ์นิยม มาติดๆ
...
เข้าสนามเหรียญต่อ รายการแรกคือ เหรียญอาร์มรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๐ หลวงพ่อโสธร วัดโสธร วรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เหรียญยอดนิยมอันดับ ๑ ในสกุลเหรียญพระพุทธ ชุดเบญจภาคี
มีสร้างไว้ทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง แบบเหรียญนี้ของ เสี่ยเด่น อยุธยา ที่มีสภาพสวยคมสมบูรณ์เดิมๆ ระดับแชมป์ ราคาค่าความนิยม จึงติดหลักล้านมานานแล้ว และแพงอมตะ
...
อีกสำนักเป็น เหรียญอาร์มรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๐ พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต ซำปอกง) วัดพนัญเชิง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เหรียญจำลององค์พระพุทธไตรรัตนนายก
หรือที่เรียกว่า หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง พระพุทธรูปปูนปั้น ปิดทองปางมารวิชัย พุทธศิลป์สมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๗ วา ๑๐ นิ้ว ความสูงตลอดถึงรัศมี ๙ วา ๒ ศอก ประดิษฐานคู่วัดพนัญเชิง มาแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
มีการสร้าง เหรียญรูปจำลอง ทรงอาร์ม เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ เป็น เหรียญปั๊มรูปอาร์มหูในตัว นิยมเรียก เหรียญหลวงพ่อโต พิมพ์เศียรเล็ก หรือเศียรถั่วงอก (เศียรอัครสาวกซ้าย-ขวา) เนื้อเหรียญมีทองแดง กะไหล่เงินกะไหล่ทอง และรมดำ ในภาพนี้ของ เสี่ยเด่น อยุธยา เป็นเหรียญเนื้อทองแดง สภาพสวยแชมป์เดิมๆที่ยังหาเหรียญสู้ได้ยาก
ตามมาด้วย เหรียญหล่อเนื้อตะกั่ว พิมพ์งบน้ำอ้อยใหญ่ (สตางค์ ๑๐) หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อมตะเถราจารย์ ผู้ได้รับการยกย่องเป็นปฐมาจารย์ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน วิชาพุทธาคมแห่งเมืองสุพรรณฯ ยืนยันได้ด้วยชื่อเสียงของศิษย์เอก ผู้สืบทอดวิชา อาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน สุพรรณบุรี และ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อยุธยา
กล่าวกันว่าขณะ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้รับการยกย่องเป็น เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฟาก หลวงพ่อเนียม ก็ได้ชื่อเป็น เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยวัตรปฏิบัติ เป็นพระแท้สมถะ คนจะเห็นคุ้นตากับภาพที่ท่านนุ่งสบง ครองอังสะ เป็นหลวงตา กวาดลานวัด ถ้าวันนักขัตฤกษ์และวันสำคัญ จึงจะเห็นท่านครองผ้าจีวรพาดอังสะ ทำหน้าที่เจ้าอาวาส
ตลอดชีวิต ท่านใช้วิชาพุทธาคมช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นทุกข์ จึงทำให้ผู้คนเคารพศรัทธา พระเครื่องของขลังท่านที่สร้าง จึงได้รับความนิยมสูง
อย่างเหรียญนี้ เป็นเนื้อตะกั่ว ที่สร้างแบบลบถม ของ เสี่ยฐิการ ศุภวิรัชบัญชา ได้รับความนิยมอยู่แถวหน้า ที่มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ ด้านคุ้มครองป้องกัน ให้แคล้วคลาดภัยเทียบได้กับพระผงสุพรรณ นั่นเลย ราคาจึงสูงถึงหลักแสน ส่วนสภาพทั่วๆไปก็หลักหมื่น
วันนี้มีเครื่องรางของขลังชิ้นเด็ดมาดูส่งท้าย คือ เขี้ยวเสือแกะ (หุบปาก) จารครบสูตร หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ของ เสี่ยสถิต ราชบุรี ซึ่งชื่อนี้มาสนามเราทีไร บอกได้ว่า พระเครื่องของขลัง ต้องแท้ ดูง่ายแบบมันๆ ทุกชิ้น
อย่าง เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน ตัวนี้ ก็งาม ฝีมือมาตรฐาน จารครบสูตร เพราะเป็นเสือแกะ จาก เขี้ยวเต็ม ซึ่งได้รับความนิยมเล่นหาสูงกว่า เขียวซีก สภาพสมบูรณ์ขนาดนี้ ปัจจุบันเหยียบล้าน
ลากันด้วยเรื่องฮาๆของคนเล่นพระ คือ เฮียโต วัย 67 เจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างแถวชานเมือง กทม. เป็นคนเฮฮาเพื่อนเยอะ ร้านปิดแล้วก็มักออกไปสังสรรค์ จนอาซ้อไม่พอใจ จึงทะเลาะกันเรื่อย และฝ่ายเจ็บตัวคือ เฮียโตเพราะเมียจับอะไรได้ก็เขวี้ยงใส่ จนฟกช้ำดำเขียว ก็บ้งเบ้งกันมาอย่างนี้เป็นสิบปี เพราะ เฮียโต ติดเพื่อน ติดเที่ยว
จนยุคโควิด ทุกคนต้องอยู่บ้าน บรรยากาศจึงเปลี่ยนไป เพราะไม่มีเรื่องให้อาซ้อขุ่นใจ ผัวเมียจึงกลับมาเห็นใจกัน เพราะอาซ้อเอาใจ ปรนนิบัติอย่างดี
พอคลายล็อก เพื่อนก็กริ๊งกร๊างตามตัว แต่ผิดคาด เพราะคราวนี้ เฮียโต บอกว่า อยู่บ้านก็สุขสงบ สบายดี จึงเกิดความรู้สึกเบื่อที่จะออกไปนั่งตามร้านตามผับคาเฟ่ ทำให้สุขภาพก็โทรม ตอนนี้พอวันหยุดก็ชวนเมียขับรถเที่ยว ไหว้พระทำบุญ หาของอร่อยๆกิน และที่ดีคือได้แวะตามแผงพระต่างจังหวัด จึงได้พระติดมือมาประจำ โดยเมียไม่บ่นเหมือนแต่ก่อน--ชีวิตจึง new normal ไปแร้ว จากติดเพื่อนเที่ยว แล้วต้องอยู่ติดบ้าน เพราะกลัวติดโควิด ตอนนี้กลายเป็นติดเมีย เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง