ตามคัมภีร์ “ปริอรรถาธิบาย” เล่มพระสมเด็จฯของครู “ตรียัมปวาย” ระหว่างการสร้างพระสมเด็จฯ เมื่อมีคนถวายแผ่นทองคำเปลว สมเด็จพุฒาจารย์โต ท่านก็เอาพระลงรัก และปิดทอง ไปตามจำนวนแผ่นทองที่มี

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสมเด็จวัดระฆังจึงมีทั้งที่ไม่ลงรักปิดทอง และทั้งที่ลงรักปิดทอง

และกรณีการลงทอง ร่องชาด ครูท่านบอกว่า มีเฉพาะพิมพ์ปรกโพธิ์ ครูมีองค์ตัวอย่าง พิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม ถ่ายทั้งด้านหน้าด้านหลัง และด้านข้างให้ดูในหนังสือ

องค์นี้เป็นพระที่ “ลงทอง ร่องชาด” และยังทารัก แปะแผ่นกระดาน มีร่องรอยการตัดหรือฝนกระดานเท่ากับขอบองค์พระ จึงเป็นพระสมเด็จวัดระฆังที่มีลักษณะพิเศษ คือมีทั้งรักและชาด และเศษเนื้อไม้ เหลืออยู่ให้เห็น

ชุดความรู้ของครูตรียัมปวาย ประเด็น การ “ร่องชาด” ไม่มีในพระสมเด็จพิมพ์อื่น เพิ่งได้รับการพิสูจน์ว่า “ไม่จริงเสมอไป” กรณีพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์เปลี่ยนมือสุดท้าย ในราคาสั่นสะเทือนวงการถึง 60 ล้าน

“เช็ง สุพรรณ” นำมาตีพิมพ์ในหนังสือ พระเครื่องพระศรีสุนธรา สมเด็จองค์นี้ขอบข้าง ปรากฏ “ชาดสีแดงเข้ม” เต็มสี่ด้าน ขณะที่ด้านหน้า ลอกรักทองออก เหลือไว้เล็กน้อยด้านหลังเหลือฝ้ารักสีดำ ฝังอยู่กับแผ่นหลังรอยกาบหมาก

ผมพยายามมโนตามเสียงกระซิบ กระซาบคนวงการ “องค์ร่องชาด” ของกำนัน แต่เมื่อพิจารณาก็พบว่า “ชาดสีแดง” ที่ว่าน่าจะเป็น “สีชั้นในสุด” ของเนื้อรักมากกว่า

วงการพระสมเด็จขณะนี้ มีภาพพระแท้ให้ดูเทียบเคียงมากมาย ค่อยๆไล่เรียงเทียบเคียงกันไปก็จะพบว่า สีรักดำนั้นเห็นในรักแผ่นหนา สีดำจางเป็นสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน และบางองค์เป็นสีแดงเหมือนชาด

...

“องค์เล่าปี่ในตลับทองฝังเพชร มีไพลินเม็ดใหญ่ด้านบน” ตอนเปิดราคา 15 ล้าน แต่จบลงแค่ 7 ล้าน ผมได้ดูกับตา สังเกตให้ดี ในแผ่นรักสีดำแกมน้ำตาลพื้นผนังด้านหน้า มีสีชาดแดงเข้มอยู่ปื้นหนึ่ง

และหากพยายามติดตามดูๆไป ก็จะพบ “ รักสีเหมือนชาด” อยู่อีกหลายองค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือขอบข้าง

ผมเกริ่นนำเรื่องลงรักปิดทอง เรื่องลงทองร่องชาดไว้ยืดยาว เพราะนึกได้ว่า พระสมเด็จองค์กำนันองค์นั้น ทั้งแม่พิมพ์และสภาพความลึก ความคม สมบูรณ์ขององค์พระ ถือเป็นองค์ครู เอาองค์ในคอลัมน์วันนี้เทียบเคียงได้

องค์กำนันลอกรักทองออกเกือบหมด แต่องค์นี้ ด้านหน้าองค์พระเห็นเนื้อละเอียดผิวนุ่ม ซึ้งตา พื้นผนัง รักทองเหลือเกือบเต็ม ช่วยขับเน้นให้องค์พระเด่นออกมา

แสดงให้เห็นว่าเป็นพระที่อยู่ในสภาพเก่าและเก็บไว้แบบเดิมๆ ส่วนสึกช้ำเพราะการจับต้องตามธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการลอกขูด หรือล้างแต่อย่างใด

ด้านหลังดูผิวเผินเหมือนเป็นแผ่นราบเรียบ แต่เพราะมีฝ้ารักทั้งสีดำจาง สีน้ำตาลเข้ม ไปถึงสีแดง เหมือนสีปูนแห้ง จมอยู่ในหลุมร่อง

ส่วนที่ลึก และขอบข้าง ก็ยังเห็นเป็นชิ้นรักสีดำ โดยภาพรวมนี่คือหลังพระสมเด็จวัดระฆังมาตรฐานแท้อีกองค์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ สภาพฟอร์มเต็มๆอย่างองค์นี้ ตอนนี้ยังเป็นพระไม่ผ่านกลไกตลาดบน เจ้าของเฮียไพศาล แห่งร้านถ่ายรูปไพศาล โฟโต หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ อดีตช่างภาพประจำตัว คุณเสถียร เสถียรสุต ถือเป็นมือเล่นพระรุ่นเก่า ที่คนรักพระรุ่นเราๆ ยังเข้าถึงได้ พูดคุยกันฉันพี่น้องได้

ผมดูภาพขยายใหญ่ให้ดูเต็มตา แล้วยังมีวาสนาได้ส่องดูองค์จริง ดูแล้วก็อยากรู้ ใคร?จะได้เป็นเจ้าของคนต่อไป เพราะพอรู้นิสัย เฮียไพศาล เป็นคนใจนักเลง พูดจาถูกหูก็รู้เรื่องกันไปเลย.

พลายชุมพล