ดูจากเส้นสายลายพิมพ์องค์พระ พระสมเด็จผิวนุ่มแนบเนื้อ ดูได้ว่าเป็นวัดระฆังองค์นี้ อย่าเพิ่งทึกทักเอาง่ายๆว่า “เกศบัวตูม” พิมพ์ฐานสิงห์กว้าง นั่นปะไร!
เพราะเมื่อดูแบบเพ่งพินิจกันลึกๆ เอาไปเทียบเคียงกับเส้นสายลายพิมพ์ เกศบัวตูมพิมพ์ฐานสิงห์กว้าง องค์ที่คุ้นตาของวงการ ก็ยังไม่ใช่
จะเหมาว่า ว่ากันด้วยฝีมือช่าง ฝีมือช่างทองราชสำนัก ร.4 หลวงวิจารณ์เจียรนัย แน่ๆก็ยังไม่ถนัด
อีกอย่าง เกศบัวตูม ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จของครูตรียัมปวาย ท่านจำแนกไว้ถึงห้าพิมพ์เขื่อง โปร่ง สันทัด ย่อม และพิมพ์เกศบัวเรียว คงเชื่อมโยงเอาเข้าสักพิมพ์ ได้บ้าง
นี่ว่ากันด้วยหลักครูที่เขียนไว้ในหนังสือ แต่พระสมเด็จฯที่เคลื่อนไหวในวงการพระ เครื่องวันนี้ เล่นกันตาม กระแสเซียน เซียนซื้อเซียนขาย คนวงนอกก็ตาม
พระสมเด็จฯองค์นี้ เอาไปเทียบกับเกศบัวตูม ที่เปิดโฉมในหนังสือวงการไม่ได้ เพราะเขาเล่นกันอยู่สองพิมพ์ พิมพ์ฐานสิงห์แคบและพิมพ์ฐานสิงห์กว้างเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น ลองเปลี่ยนสมมติฐาน ย้ายจากกลุ่มเกศบัวตูม ไปเข้ากลุ่มพิมพ์ทรงเจดีย์ เออ! ดูๆก็มีเค้า
แต่เมื่อเทียบเคียงกับทรงเจดีย์ ในหนังสือของวงการ ซึ่งหากตั้งใจจำแนก จะพบว่า มีมากกว่าห้าแม่พิมพ์
ถ้าเป็นทรงเจดีย์ องค์ในคอลัมน์วันนี้ ก็ยังเอาไป “ทาบ” ใช้คำนี้ตั้งใจให้นึกถึงคำว่า “ภาพเชิงซ้อน” กับทรงเจดีย์หลายๆ แม่พิมพ์ในหนังสือของเซียนก็ยังทาบไม่สนิทว่าเป็นองค์เดียวกันได้
ยุ่งละซี! พิมพ์เกศบัวตูม ก็ไม่เอา พิมพ์ทรงเจดีย์ ก็ส่ายหน้า
ค่อยๆตั้งสติคิดพิจารณา ย้อนปลายไปหาต้น...เค้าแม่พิมพ์เดียวกับองค์นี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพระยอดนิยม ของคุณประจำ อู่อรุณ เล่มแรก ปี 2522 “พี่จำ” จัดเข้าเป็นพิมพ์เกศบัวตูม ฐานสิงห์กว้าง วางคู่กับเกศบัวตูมองค์ตำนาน (องค์คุณมนตรี)
...
คนรักพระรุ่นผมดูจนติดตา เกศบัวตูมองค์ที่ว่า สึกช้ำกำลังงาม ผิวบางเนื้อนุ่มซึ้งจัด ถ้าใช้เป็นมาตรฐานวัดพระสมเด็จวัดระฆังแท้ทั่วไป...องค์อื่นๆคงจะกลายเป็นพระไม่แท้ไปหมด
องค์เดียวกันนี้แหละครับ มาอยู่ในทฤษฎีสำนักท่าพระจันทร์เป็นทรงเจดีย์ พิมพ์ที่ 3
เจ้าขององค์ครูองค์นี้ น่าจะเก็บพระไว้ลึกมาก ไม่เคยปล่อยให้มีภาพถ่ายครั้งที่สอง ออกมาให้เห็น
ติดตาตรงโคนพระเกศกลืนหาย...ไม่เห็นฐานบัวตูมแบบกว้าง เห็นชัดอีกที พระเกศป่องกลาง พระกรรณ (หู) ด้านซ้าย องค์พระ ติดชัดกว่าด้านขวา
ไล่เรียงลงมาถึงอก แขน เส้นสังฆาฏิเส้นขอบจีวร เส้นแยกพระเพลา ฐานแซมกึ่งกลางระหว่างพระเพลากับฐานชั้นที่ 1 ไล่สายตารอบองค์ ไปถึงเส้นซุ้ม ทุกเส้นสายเอาองค์ในคอลัมน์เทียบได้หมด
ใช้หลักการเทียบเคียงนี้ จึงชี้ได้ว่า องค์ในคอลัมน์วันนี้ คือทรงเจดีย์พิมพ์ที่ 3
เรื่องแม่พิมพ์ถือว่าจบ มาถึงเรื่องเนื้อหาและผิว...องค์นี้ผิวบางซึ้งตา ผิวแบบนี้ครูท่านเรียก “เยื่อหอม” นวลตาสม่ำเสมอทั้งองค์พระ เส้นซุ้ม พื้นผนัง เป็นพระไม่ถูกใช้ ไม่มีวี่แววสึกช้ำส่วนใดให้เห็น
ขอบด้านหลังทั้งสี่ด้านสึกมนมีรอยปริร่อยเล็กน้อย พื้นหลังมีริ้วคลื่นสูงต่ำ ตามธรรมชาติ แม้ขอบไม่มีรอยปริแยกแหว่งเว้า เหมือนองค์ครู แต่ก็ถือได้ว่า เป็นหลังพระสมเด็จวัดระฆังมาตรฐาน
สภาพโดยรวม ผมว่าเป็นพระดูยาก แต่ถ้าแน่ใจเปลี่ยนมือในราคาไม่หนักเกินไป เอาใส่ตลับขึ้นคอคุ้มตัวได้เลย พระสมเด็จวัดระฆังแท้สภาพนี้ ยังมีรอทดสอบสายตาอยู่อีกหลายองค์.
พลายชุมพล