หากจะบอกแต่เพียงว่า พระสมเด็จองค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์ “สังฆาฏิกรุเก่า” คนรักพระสมเด็จรุ่นใหม่ คงต้องมีคำถามอย่างน้อยสองข้อ ข้อแรก สังฆาฏิ พิมพ์ไหน และถ้าเป็นกรุเก่า จะแตกต่างจาก “กรุใหม่” อย่างไร

คนเป็นพระด้วยกัน ตอบได้ทันที องค์นี้ เป็นพิมพ์สังฆาฏิ หูช้าง

พิมพ์สังฆาฏิ คนในวงการแยกเป็นสองพิมพ์ พิมพ์สังฆาฏิหูช้าง และพิมพ์สังฆาฏิไหล่ตรง

ฟังชื่อก็พอมโนตามได้ พิมพ์หูช้าง เส้นสังฆาฏิหนาใหญ่ ดูเก้งก้าง ส่วนพิมพ์ไหล่ตรง เส้นสังฆาฏิถ้าติด ก็แค่บางๆอ่อนช้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ติด

เรื่องแม่พิมพ์สังฆาฏิยุติได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องกรุเก่า กรุใหม่ ก็คงต้องพูดกันยาว

สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ท่านสร้างพระสมเด็จชุดที่เรียก “บางขุนพรหม” นี้ เมื่อปี 2413 (หลังสร้างสมเด็จวัดระฆัง 4 ปี) สนองศรัทธา เสมียนตราด้วง ผู้ปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมใน

วัดนี้เดิมทีชื่อวัดวรามตราม ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดใหม่อมตรส

สร้างเสร็จแล้ว ก็บรรจุไว้ในองค์เจดีย์ หน้าพระอุโบสถ

“ตรียัมปวาย” ถ่ายทอดความจำจากผู้รู้ว่า ปี 2425 สิบปีหลังบรรจุพระ...หลังปีระกาป่วงใหญ่ มีข่าวเล่าลือว่า เอาพระสมเด็จแช่น้ำมนต์กินแล้วรักษาอหิวาต์หาย ผู้คนหาพระสมเด็จจากวัดระฆังไม่ได้แล้ว

ก็มาหาที่วัดใหม่อมตรส กระบวนการที่เรียกว่า “ตกพระ” จากช่องที่เจาะจากคอเจดีย์ ครั้งแรกในปีนั้น

หลับตานึกถึงสภาพพระ...บรรจุในองค์เจดีย์สิบปี ผิวพรรณพระที่ได้ขึ้นมายังคงเกลี้ยงเกลาผ่องใส

มีการตกพระครั้งที่สอง พ.ศ.2436 และครั้งที่สาม ปี 2550 สรุป พระสมเด็จที่ได้จากการตกพระสามครั้ง...ถูกบรรจุอยู่ในเจดีย์ นับแต่ปี 2415 ก็ 35 ปี เป็นพระที่อยู่ส่วนบนๆ สภาพขององค์พระน่าจะยังเกลี้ยงเกลา ผ่องใสกว่า พระชุดที่เปิดกรุอีก 50 ปีต่อมาในปี 2500

...

พระชุดที่เปิดกรุนี้เป็นพระก้นกรุ ไม่เพียงผ่านความอบอ้าวหนาวร้อนจากในกรุ ยังผ่านน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2460–2485 ถึงสองครั้ง

สภาพพระที่ทางวัดแยกไว้ให้คนเช่าบูชา ส่วนใหญ่จึงเกรอะกรังไปด้วยคราบไคลตามสภาพแวดล้อมที่ผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน

จะมีพระที่เกลี้ยงเกลาผุดผ่องอยู่บ้าง ก็จำนวนน้อยมาก ที่พบวางพิงผนังองค์เจดีย์

พระองค์เกลี้ยงเกลาเหล่านี้ จะถูกเรียก “กรุเก่า” ก็ได้ แต่คงมีความต่างจากพระที่ขึ้นจากการตกพระสามครั้งอยู่บ้าง ตรงที่ชุดตกพระถูกนำออกมาใช้ ผ่านการสัมผัสจับต้องก่อน 50 ปี

ส่วนพระที่คราบกรุเกรอะกรัง และพระที่มีการขุด แคะ ขูด หรือใช้เครื่องมือ “กรอ” ออกนั้น คือสภาพของพระที่เรียกว่า “กรุใหม่”

หลับตามโนตาม ที่มาของพระสมเด็จกรุบางขุนพรหม...ดูภาพพระสมเด็จพิมพ์สังฆาฏิ หูช้าง องค์ในคอลัมน์

สภาพเส้นสายลายพิมพ์ติดชัด ไม่ว่าองค์พระ วงแขน เส้นซุ้ม และเส้นกรอบกระจกสี่ด้าน

ปรากฏฝ้ารักที่เหลือจากลอกหรือหลุดลอกออกตามธรรมชาติ จมอยู่ในพื้นผนัง ทั้งด้านหน้าและหลัง เป็นฉากหลังขับเน้นเนื้อพระและผิว ที่เรียกว่า “ปูนนุ่ม” เห็นความซึ้งตา แบบพระสมเด็จบางขุนพรหมเต็มตา

นี่คือ สภาพพระสมเด็จบางขุนพรหม กรุเก่าที่จำแนกความแตกต่างจากกรุใหม่ได้ โดยไม่ต้องมีข้อสงสัย

เจอกรุเก่าแท้องค์ที่มีทุกองค์ประกอบลงตัวอย่างนี้ ดูให้มากๆเป็นการฝึกสายตาเอาไว้

เท่าที่ติดตามวงการ หลายเซียนยังสับสนกับกรุเก่า กรุใหม่ ไปจนถึงพระสมเด็จวัดระฆังฝากกรุบางขุนพรหม หรือที่เรียกว่า “พระสองคลอง” อยู่ไม่น้อย.

พลายชุมพล