สำหรับคนเป็นพระสมเด็จฯองค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์มาตรฐาน ทุกเส้นสายลายพิมพ์ถูกที่ถูกทาง เช่น ลักษณะเด่นประการแรก องค์พระตั้งแต่พระเกศมาถึงเข่า ลาดเอียงเบี่ยงไปทางขวา (ขององค์พระ) สวนทางกับส่วนที่เป็นฐานทั้งสามชั้น ลาดเอียงเบี่ยงไปซ้าย
ลักษณะเด่นนี้ เคยย้ำไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็จะขอย้ำอีกครั้ง
ที่ผู้รู้ เขาบอก “พิมพ์ใช่” นี่ก็คือลักษณะเด่น...ที่ใช่ ประการหนึ่ง ในลักษณะเด่นต่างๆ เฉพาะด้านหน้า 11 ประการ
ข้อที่สะดุดตา ท่อนแขนซ้าย...ตั้งแต่หัวไหล่ ทอดตรงเกือบเป็นเส้นดิ่งลงมา แล้วหักข้อแบบแข็งกร้าว เข้าวงแขน...ต่างจากทั่วๆไป ที่มักทอดลงมาแบบอ่อนโค้งเข้าหาองค์พระ...
ข้อนี้เป็นข้อดี มีองค์ครู ในหนังสือพระเครื่องของวงการ ที่พอจะหาเทียบได้อยู่หลายองค์ พระปลอมไม่ค่อยมีผ่านตา เห็นลีลาทอดแขน แล้วถือว่าเป็นตัวช่วยเติมคะแนนว่าเป็นพระแท้ อีกทาง
จากองค์พระที่ดูกลมกลืนราบรื่น ลงสู่พื้นผนัง...ผนังด้านซ้ายปรากฏหลุมร่องตามธรรมชาติ ไม่ใช่หลุมร่องจากความตั้งใจทำ ด้วยการใช้สารเคมี ผนังด้านขวาราบเรียบกว่า มีรอยยุบรอยแยก กลมกลืนอยู่กับ “ก้อนขาว” ทั้งเล็กใหญ่
กากดำก้อนใหญ่ที่พื้นผนังซ้าย เม็ดแดงคละเคล้าทั่วไป ถือได้ว่า “มวลสารหลัก” ครบ
นี่คือเกณฑ์การดูสมเด็จวัดระฆังขั้นพื้นฐาน...ที่ผู้ไม่มีประสบการณ์ควรทำความเข้าใจ
ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร แนะไว้ในหนังสือพระเบ็ญจภาคี คณะนักเรียนนายร้อย จปร.25 จัดพิมพ์ในงานประกวดพระเครื่อง 26 ก.ค.2558 ไว้ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ควรสังเกตและจดจำ พิมพ์ทรง ความคม-ลึก ของพระสมเด็จแต่ละพิมพ์ ลักษณะพระเกศ พระพักตร์ การวางวงแขน การประทับนั่งซ้อนขา ฐานขององค์พระ เส้นซุ้มบนขอบกระจก เพราะแต่ละพิมพ์จะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป ขนาดขององค์พระแท้ แต่ละพิมพ์
...
2. ควรสังเกตด้านหลังองค์พระ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญ
3. ควรสังเกตรอยการตัดขอบของพระทั้งสี่ด้าน
4. ควรสังเกตลักษณะพื้นผิว ความแห้งของเนื้อพระ รอยปริ รอยแยก บนพื้นผิวทั้งด้านหน้าด้านหลัง การยุบและการหดตัว ที่เกิดจากความแห้งของเนื้อพระ ที่ผ่านกาลเวลานับร้อยปี
5. ควรสังเกตเนื้อหามวลสาร ที่เป็นส่วนผสมขององค์พระ ทั้งจากพื้นผิวด้านหน้า ด้านหลังและขอบข้าง ในองค์พระเสียผิวเพราะผ่านการใช้มามาก ก็สามารถมองเห็นมวลสารได้มากกว่า องค์พระที่ไม่ผ่านการใช้
แนะเกณฑ์พื้นฐานห้าข้อแล้ว ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร ก็สรุปว่า สิ่งที่กล่าวมานี้ต้องใช้ประสบการณ์การศึกษา การเรียนรู้จากการได้ดูองค์พระจริง (พระแท้ซึ่งเป็นที่ยอมรับของวงการพระ) เป็นเวลานานพอควร จึงจะค่อยพัฒนาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
หันมาดูพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์อีกที นอกจากพิมพ์ดี เนื้อหาและธรรมชาติ ชัดเจนเป็นสมเด็จวัดระฆัง ดูด้านหลัง ทั้งแผ่นหลังคละเคล้าด้วยสัญลักษณ์ รอยกาบหมาก สลับหลุมร่องริ้วรอย ไล่ระดับสูงต่ำ
รักดำเก่าที่ยังจับเป็นปื้น ส่วนที่รักลอกยังเห็นฝ้ารักสีน้ำตาลอ่อน ขอบสี่ด้านยังคมชัด แต่ก็ยังเห็นรอยหลุดร่อย นี่คือธรรมชาติหลังสมเด็จวัดระฆัง ที่ถือเป็นองค์ครู...ไว้เทียบเคียง
พระสมเด็จวัดระฆัง ที่มีองค์ประกอบทุกอย่างลงตัว ดูแล้วไม่มีข้อสงสัยคาใจ แบบนี้ นานๆจะผ่านมาให้เรียนรู้สักองค์.
พลายชุมพล