พระบูชาเชียงแสนสิงห์หนึ่ง พระพุทธศิลป์สมัยเชียงแสน หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระเชียงแสนนี้ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยฝีมือสกุลช่างทางเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองสร้างขึ้นเป็นพุทธานุสรณ์ มี 3 สมัย คือ สิงห์หนึ่ง สิงห์สอง และสิงห์สาม อันลือชื่อนั่นเอง

ดังเป็นที่ทราบกันดีบ้างแล้วว่า ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับศิลปะสมัยเชียงแสน ได้รับอิทธิพลจากพม่า ผ่านทางเชียงใหม่ ดังนั้นจึงหาใช่ศิลปะของเชียงแสนอย่างแท้จริงไม่ ทั้งนี้ศิลปะเชียงแสนย่อมมาก่อนเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองใหม่กว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่พระเจ้าเม็งรายมหาราชร่วมกับพญางำเมือง เจ้าเมืองพูกามยาวหรือพะเยา สร้างขึ้นใหม่ๆ ศิลปะแกะสลักศิลาคือยังไม่รู้จักการหล่อหลอมโลหะ ดังนั้น พระพุทธรูปแบบที่เราเรียกว่า พุทธศิลป์สมัยเชียงแสนนั้นก็คือศิลปะเชียงใหม่นั่นเอง หรืออาจว่าได้อีกอย่างหนึ่งว่า ศิลปะเชียงแสนฝีมือสกุลช่างเชียงใหม่
พุทธลักษณะ สิงห์หนึ่ง สิงห์สอง และสิงห์สาม หรือพระเชียงแสนนี้ ดังที่เรารู้กันแล้วว่า สิงห์หนึ่งและสิงห์สองหรือพระเชียงแสนยุคต้นนั้น มีพระเกศเป็นลักษณะบัวตูม พระศกขมวดเป็นก้นหอยชัดเจน พระพักตร์อวบอูมดูสมบูรณ์ และปรากฏรอยยิ้มเล็กน้อย พระเนตรเป็นแบบเนตรเนื้อ (ไม่ฝังมุก) พระหนุเป็นรอยหยัก พระวรกายอวบอ้วนสมบูรณ์ ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือราวนมและแตกเป็นแฉกคล้ายเขี้ยวตะขาบ ซึ่งจะเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1” ถ้ายาวเลยราวนมลงมาเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 2” และสุดท้ายถ้ายาวลงมาจรดพระหัตถ์ จะเรียกว่า “พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 3” ลักษณะปางมารวิชัย หรือปางสะดุ้งมาร ประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย เกสรเป็นเส้นริ้วยาวสูง
...
ข้อแตกต่างระหว่างสิงห์หนึ่ง สิงห์สอง ก็คือ สิงห์สองพระเนตรเบิกกว้าง และฐานบัวคว่ำบัวหงายไม่ประณีตเท่ากับสิงห์หนึ่ง ส่วนสิงห์สามนั้น พุทธลักษณะเหมือนกับสิงห์หนึ่ง สิงห์สองแทบทุกประการ ยกเว้นพระเกศส่วนบนมีลักษณะเป็นเปลวเพลิง สังฆาฏิยาวจรดนาภี และประทับนั่งขัดสมาธิราบ
“พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1” ที่นิยมนอกเหนือจากการสังเกตชายสังฆาฏิก็คือ การซ้อนของพระเพลาต้องเป็นชนิดขัดเพชร พระบาทหงายขึ้นทั้งสองข้างและมีการเล่นนิ้วพระหัตถ์ (กระดกขึ้นลงอย่างเป็นธรรมชาติ) และที่สำคัญก็คือ ถ้าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 รุ่นแรกๆ ฐานส่วนมากมักจะเป็นฐานเขียง ก่อนที่จะคลี่คลายมาเป็นฐานบัวหรือฐานเทพประจำนพเคราะห์หรือนักษัตร และการเทค่อนข้างหนาเป็นพิเศษ ยิ่งถ้า “ผิวไม่ใช่พระขัด” นั้น หาดูได้ยากมากๆ เพราะถือว่าเป็นศิลปะสุดยอดในสกุลช่างเชียงแสน

วันนี้ขอนำเสนอพระบูชาเชียงแสนสิงห์หนึ่งไซส์ใหญ่ หน้าตัก 10 นิ้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีอายุประมาณ 700 ปี องค์นี้ต้องบอกเลยว่าเป็นพระเชียงแสน สิงห์หนึ่งที่สวยสดงดงามมาก ผิวพรรณพระเดิมไม่มีการล้างขัดผิวแต่อย่างใด พระองค์นี้เป็นพระสกุลสูงส่วนใหญ่เราจะพบตามบ้านเจ้านายคหบดี ข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น เพื่อเสริมบารมีให้กับตนเองและครอบครัว เพราะตามโบราณมีความเชื่อว่าพระเชียงแสนสิงห์หนึ่งจะอยู่กับผู้ที่มีบารมี เพราะจะมีเทวดารักษาองค์พระพุทธรูปดังกล่าวและเสริมเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นทางด้านอำนาจบารมีครับ เหมาะแก่การสะสมและอนุรักษ์ หรืออยากได้เป็นพระประธานองค์สำคัญในบ้านไว้ประจำตระกูล ก็จะเป็นมงคลยิ่งนัก

ชี้ตำหนิ พระบูชาเชียงแสนสิงห์หนึ่ง จำศิลปะให้แม่น ลักษณะปางมารวิชัย หรือปางสะดุ้งมาร ประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงายเกสรเป็นเส้นริ้วยาวสูง พระพักตร์อวบอูมดูสมบูรณ์ และปรากฏรอยยิ้มเล็กน้อย พระเนตรเป็นแบบเนตรเนื้อ (ไม่ฝังมุก) พระเกศเป็นลักษณะบัวตูม พระศกขมวดเป็นก้นหอยชัดเจนติดทีละเม็ด สังฆาฏิอยู่เหนือราวนมปลายเป็นแฉกคล้ายเขี้ยวตะขาบ
...

ด้านหลัง เห็นพระศกขมวดเป็นก้นหอยชัดเจนติดทีละเม็ดชัดเจน พระเกศเป็นลักษณะบัวตูม ฐานบัวคว่ำบัวหงายเกสรเป็นเส้นริ้วยาวสูง ดูลักษณะพื้นผิวของพระ มีทั้งขัดและไม่ขัด การเทพระจะมีทั้งหนาและบาง แต่สำหรับองค์นี้จะเทค่อนข้างหนา

ก้นใต้ฐานสำคัญ สังเกตความเก่าของดินแกลบ ใต้ฐานจะเห็นเป็นชั้นของการหล่อเทแบบโบราณ ปั้นแบบเททีละองค์ ทุกองค์จะไม่เหมือนกัน การเทแบบโบราณจะมีความประณีตงดงาม

คอลัมน์ : หยิบกล้องส่องพระ by โทน บางแค
Line : @tone8888
เพจ : โทน บางแค FC.