- ละครซีรีส์ไทยโดนเปรียบเทียบ กับซีรีส์เกาหลีมานานหลายสิบปี
- อะไรทำไม ที่ทำให้ละครซีรีส์ไทย ยังไปไม่สุดโกอินเตอร์ไม่เปรี้ยงสักที
- มีปัญหาอะไรบ้าง ที่ต้องรู้ต้องแก้ เพื่อให้ละครซีรีส์ไทย ได้ดังระดับโลก
ธุรกิจบันเทิงแสนล้านด้านละครซีรีส์ ยังมีการแข่งขันที่เข้มข้นดุเดือดต่อไป หลายค่ายหลายช่องหลายผู้กำกับ ต่างคิดทำละครซีรีส์ที่คาดว่าจะดังเด่นโดนใจมหาชน ลำพังการแข่งขันเองที่ไทยก็หนักมากแล้ว ซีรีส์เกาหลี ซีรีส์จากหลายประเทศก็ยังบุกๆ เข้าไทยไม่หยุด! ทำให้กลุ่มคนดูซีรีส์เกาหลี-ซีรีส์ต่างประเทศโตไว อย่างน่าสนใจมากๆ
แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจากต่างประเทศ ก็บุกๆ ไทยตลอด น่าจับตามากๆ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ สเปเชียลคอนเทนต์ Special Content จะพาไปคุยๆ กับดาราดัง ผู้จัดละคร กับการหาหนทางที่จะร่วมด้วยช่วยกัน พัฒนาละครซีรีส์ไทยให้แซงหน้าเกาหลี
ซีรีส์เกาหลีไปไกลมากๆ
อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์ พระเอกดังที่เล่นละครซีรีส์มาเยอะมากๆ จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีแรงพลัง ที่จะทำงานต่อไปอยู่ แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่มีเยอะ มีให้เลือกดูเยอะขึ้นๆ อั้ม อธิชาติ บอกเลยว่า เป็นเรื่องที่ดี คนดูได้ดูอะไรที่หลากหลายขึ้น คนทำก็มีอิสระมากขึ้นในการคิดและทำ ไม่ต้องกรอบจากนโยบายช่อง ดารานักแสดงก็เกิดใหม่ได้ง่ายได้มากขึ้นด้วย แต่ถ้าทำออกมาแล้วไม่ดีพอ ก็จะถูกลืมได้ง่าย ไม่เป็นที่จดจำ
ละครเกาหลี บันเทิงของเกาหลี มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ให้เป็นนโยบายของประเทศ ย้อนไป 20 ปีที่แล้ว เอ๊ะ ผมดูละครซีรีส์เกาหลี เหมือนเขาตามหลังไทยอยู่นะ แต่ตอนนี้ก็อย่างที่เห็น เขาไปไกลมากๆ แล้ว
บทที่ดีสำคัญมาก ต้องใช้เวลาเยอะๆ
...
อั้ม อธิชาติ บอกต่อไวๆ ดังนี้ สังเกตได้ว่าซีรีส์ละครเกาหลี จะสอดแทรกวัฒนธรรมเกาหลีเอาไว้ตลอด คนไทยมีฝีมือนะครับ แต่เราไม่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนที่มากพอจากรัฐบาล
คนเกาหลี มีการคิดการทำงานแบบมืออาชีพ เรื่องบทกว่าจะทำเขียนจบได้ ต้องรีเสิร์ชหาข้อมูลเยอะมากๆ หรือจะไปเร่งก็ไม่ได้นะ เพราะมันคิดไม่ออก ต้องใช้เวลาในการทำงานตรงนี้ แต่บ้านเรา คนเขียนบทยังได้เงินน้อย ต้องไปรับทำหลายเรื่อง ทำให้มีสมาธิไม่พอ

แพลตฟอร์มสตรีมมิงโตแรงแซงโควิด
ไปคุยๆ กันต่อกับนางเอกดัง ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง กับทางเลือกทางรอดละครซีรีส์ไทย โมเดลธุรกิจที่ไม่เน้นเรตติ้ง เน้นขายแพลตฟอร์มสตรีมมิงมากกว่า กับการเติบโตไวตรงนี้ ออกแบบ ชุติมณฑน์ รีบบอกทันทีว่า
จากมุมมองฐานะนักแสดงคนหนึ่ง ที่เริ่มเดินสายทัวร์โปรโมตภาพยนตร์ในต่างประเทศ หนึ่งเรื่องใช้เวลาเกือบปี หลังจากเริ่มฉายในประเทศ กว่าหนังจะเดินทางไปในแต่ละเทศกาล นักแสดงต้องเดินทางเพื่อไปโปรโมต แต่ปัจจุบันความสำเร็จของหนังละครสามารถดังข้ามคืน จากสถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิง เติบโตอย่างรวดเร็ว
โรงภาพยนตร์ถูกลดบทบาทลง ในมุมอาจจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น และการป้องกันแก้ไขสถานการณ์โควิดในแต่ละประเทศ อาจจะด้วยสถานการณ์นี้ ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าถึงคนทุกกลุ่มผ่านสมาร์ทโฟน smartphone เข้าถึงคนได้ง่ายทั่วโลกและรวดเร็ว และมีตัวเลือกเพื่อตอบสนองความชอบของคนทุกกลุ่ม ละครแต่ละเรื่อง สามารถดูรีรันได้ทันที มันคือการปรับตัวของอุตสาหกรรมละคร และแพลตฟอร์มการดูสตรีมมิงอย่างแท้จริง
บทที่ปังต้องแบบไหน จุดด้อยละครไทยอยู่ที่ไหน
นางเอกฝีมือเฉียบ ออกแบบ ชุติมณฑน์ แชร์มุมมองต่อได้น่าสนใจมากๆ ดังนี้ ละครไทยส่วนใหญ่บทจะสร้างให้ห่างไกลจากชีวิตจริง หรือให้ดูเพื่อความบันเทิง สนุกสนานเบาสมอง เมื่อเปรียบเทียบกับซีรีส์เกาหลี ซีรีส์ฝรั่ง บทจะยึดแกนของเรื่องที่ใกล้ตัวกับคนดู หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่สามารถเกิดขึ้นได้
เมื่อได้บทที่ดีแล้ว การถ่ายทอดการแสดงให้ดูสมจริง คือหน้าที่ของนักแสดง เพิ่มอรรถรส ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการสร้างละครที่ให้คนดูมีส่วนร่วม คนเข้าถึงประสบการณ์ส่วนตัว และแชร์แง่มุมในซีรีส์ บางตัวละครคนดูอาจจะอิน เพราะสามารถเป็นประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ในแง่มุมของออกแบบ ซีรีส์ปัจจุบันต้องสร้างสรรค์จากเส้นเรื่อง เหตุการณ์ที่คนดูสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านตัวละครได้

...
หน่วยงานสนับสนุนละครซีรีส์ไทย ต้องโปร่งใส
อีกพระเอกดาวรุ่งพุ่งแรง บอม ธนกฤต คล้ายสังข์ หล่อเข้มแฟนละครจดจำได้ จากละครสุดหลอนเรื่อง ผีกะ, บ้านโชคดีเดอะซีรีส์ ทางไทยรัฐทีวี Thairath TV บอกขอพูดตรงๆ
ละครซีรีส์ไทยไม่ค่อยเรียล Real เท่าไร เช่น ตอนป่วยหน้าคิ้วยังเด้ง ยังไม่ค่อยสมจริง ละครไทยติดภาพลักษณ์สวยดูดี ผมเคยไปถ่ายทำหนังกับทีมงานญี่ปุ่น เขาบอกว่าดูละครไทยแล้วตลก ทำไมป่วยแล้ว หน้ายังสวยอยู่ บอมก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าเราไม่ยึดติดต้องสวยหล่อมาก เน้นธรรมชาติให้มากขึ้น คนดูอาจจะอินบทบาทนั้นได้มากขึ้น
อยากให้แนวละครของไทยเรา มีความแตกต่างมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่แนวตบจูบ ดราม่า รักกัน อย่างซีรีส์เกาหลี-ฝรั่ง มีหลายแนวเยอะ น่าติดตาม บางทีก็เดาตอนจบไม่ได้ เอ๊ะ ใช่รึเปล่าวะ น่าติดตาม แต่ละครไทยส่วนใหญ่ เราดูแล้วจะเดาตอนจบได้เลย เพราะเป็นบทที่ยังแบนๆ คาดเดาอยู่
หน่วยงานของรัฐที่จะมาสนับสนุนบันเทิงไทย ก็ดีนะครับ แต่ต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่ใช่ว่าไปสนับสนุนแต่พวกพ้องกันเอง ส่วนคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ ต้นทุนน้อย ขาดเงินทุน ก็ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนไปด้วย ถ้ามีองค์กรที่ดีโปร่งใสจริง มาสนับสนุนบันเทิงไทย มาเติมเต็มในส่วนที่ขาด ละครซีรีส์ไทยจะยิ่งดีขึ้นไปอีก เราก็ได้แต่หวัง
โอกาสดีของดาราเกิดใหม่ ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง
เรื่องแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่มีเยอะขึ้น บอม ธนกฤต บอกดังๆ ดังนี้ ผมว่าเป็นเรื่องดี คนดูก็เข้าถึงง่าย ได้ดูอะไรที่หลากหลายขึ้นด้วย ส่วนดาราเองก็เป็นโอกาสที่ดีนะครับ ที่จะมีงานมากขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานให้เข้ากับยุคสมัย ผมเชื่อว่าดาราที่ทำงานตรงนี้ ก็อยากจะเติบโต อยากจะมีโอกาสพัฒนาตัวเอง ซึ่งต้องอาศัยทั้งพรสวรรค์พรแสวงไปด้วย
...
ผมดูได้หมดทั้งซีรีส์เกาหลี-ฝรั่ง อย่างซีรีส์เกาหลีแล้ว เฮ้ย! เราอินกับตัวละครมากกว่าของไทย ทำไมเราถึงร้องไห้ได้ เพราะดาราเกาหลีถ่ายทอดเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเล่นใหญ่ ซีรีส์เกาหลีเราดูซ้ำได้ แต่ซีรีส์ละครดูแล้วจบเลย ไม่อยากจะดูซ้ำแล้ว

เจ้าแม่ละคร ไก่ วรายุฑ ชำแหละละครไทย
ผู้จัดละครดัง ไก่ วรายุฑ มิลินทจินดา ทำงานละครมายาวนานมากๆ มากกว่า 40 ปีแล้ว ให้มุมมองที่น่าคิดมากๆ ดังนี้ ละครก็คือละคร แต่สังเกตมั้ย ว่าตัวผู้ร้ายละครไทยจะไม่มีอาชีพ เราไม่สามารถบอกได้ เพราะถ้าเราระบุอาชีพของตัวร้าย เราจะโดนด่าจากคนในอาชีพนั้นๆ เราไม่สามารถเล่นตรงนี้ได้ ไทยเราปกปิดความชั่วร้ายในอาชีพต่างๆ ทุกอย่างต้องดี! แต่ประเทศอื่นๆ ละครซีรีส์เขาเปิดกว้างไปแล้ว
คนดูคนไทยชื่นชมกันอยู่แล้ว ตอนนี้เรื่องเรตติ้ง มันไม่ได้วัดจากการดูทีวีอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะตอนนี้มีหลายช่องทางออนไลน์
รัฐบาลไทยไม่เห็นความสำคัญ ของละครซีรีส์ไทย
ไก่ วรายุฑ กล่าวต่อว่า อีกอย่างรัฐบาลไทย ไม่สนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ส่งเสริมตั้งแต่แรกๆ เริ่มต้นเลย แต่พอดีแล้ว ถึงมาชื่นชมด้วย เข้าใจปะ เราไม่เคยพึ่งรัฐบาล เราไปก็ไปของเรา ทางรัฐบาลควรจะมีเป็นหน่วยงาน ที่ส่งเสริมสนับสนุนละครไทย หนังไทย บันเทิงไทยทั้งหมด ได้ช่วยเหลือจากรัฐบาลหลายๆ อย่าง
...
เราเป็นผู้จัดละคร มีวิจารณญาณอยู่แล้ว ที่จะไม่ทำอะไรที่เกินขอบเขต ไม่นำเสนออะไรที่ไม่ควร เรารู้ว่าเล่นได้แค่ไหน เช่นเรื่องความโป๊ความเซ็กซี่ เราทำงานมามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็ยังพยายามหาสิ่งใหม่ๆ พัฒนาตัวเองให้เข้ากับยุคนี้ งานของคนอื่นๆ ประเทศอื่นๆ เราก็ดูได้หมด ดูทางแพลตฟอร์มต่างๆ เราเลือกเสพสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว ทุกคนอยากจะทำงานให้ออกมาดีๆ ทั้งนั้น

เงินทุนผลิต ไทย-เกาหลี ต่างกันเยอะ
ทำงานมาเกือบหมดแล้ว ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ถา สถาพร นาควิไลโรจน์ ช่วงวัยรุ่นหล่อเฟี้ยวเป็นนายแบบ-พระเอก จนเติบโตพัฒนามาเป็นผู้จัดละคร ผู้กำกับและยังคงรับงานแสดงอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดกับการเล่นซีรีส์วายครั้งแรกในเรื่อง LA CUISINE เมนูลับฉบับแก้มยุ้ย
ถา สถาพร บอกดังๆ เลยว่า ก็ทำงานของเราให้ดีที่สุด ไทยเรายังขาดการสนับสนุนอย่างแท้จริง คนไทยเก่งทุกด้าน เก่งไม่แพ้ชาติอื่นๆ ขาดแค่การสนับสนุน บันเทิงไทยละครไทยเราดิ้นรนสนับสนุนกันเอง ค่าผลิตซีรีส์ละครไทย ตอนละเท่าไร ที่เกาหลีตอนละเท่าไร เราคนทำงานเบื้องหลังรับรู้ทุกอย่าง

แนวคิดดับฝัน ซีรีส์ไทยไปไม่ไกลระดับโลก
กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับหนัง-ซีรีส์ละครดังหลายเรื่อง กอล์ฟพูดได้น่าคิดตามมากๆ ว่า ตอนนี้ละครซีรีส์ไทย ไปไม่สุดอยู่แล้ว ผู้สร้างผู้กำกับมีวัตถุประสงค์ คิดแค่ว่า ทำให้คนไทยดูอยู่ มันเลยมีแต่แนวซ้ำๆ ออกมา แนววาดฝัน จับต้องไม่ได้ หรือแนวผัวๆ เมียๆ แย่งผัวเมียกัน แต่ที่เกาหลีเขาตั้งวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนทั่วโลกได้ดู จึงมีหลายแนวออกมา เมื่อกลุ่มคนดูต่างกัน เม็ดเงิน วิธีการทำก็ต่างกันด้วย และที่สำคัญเขาได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลด้วย
ซีรีส์ละครเกาหลีที่เป๊ะปัง ดังได้ระดับโลก เพราะส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ มาจากส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาล เขาวางแผนกันมาแล้วมากกว่า 20 ปีไม่ใช่เพิ่งมาทำ เขามีวิสัยทัศน์ เปิดกว้างทางความคิด ไม่ปิดกั้น ไม่แบน ถามว่าเอกชนไทยเรา ทำๆ กันเองก็ทำได้ แต่ไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ไปถึงระดับโลก
Squid Game สควิดเกม ที่ดังไปทั่วโลก หัวใจของเรื่องนี้คือการวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐ สะท้อนปัญหาต่างๆ แล้วเคลือบความบันเทิงให้ดูสนุกสนาน แต่เรื่องแบบนี้ทำที่ไทยไม่ได้! เพราะรัฐไม่ยอมให้ทำ ที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
กอล์ฟเองก็ต้องทำการบ้าน อัปเดตตัวเอง ดูละครซีรีส์ของต่างๆ หมดทั้งของยุโรป อเมริกาใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน ฯลฯ เฮ้ย! เมืองนอกเขาไปถึงไหนแล้ว จะเล่าเรื่องแบบไหนให้ประสบความสำเร็จ
พุ่งเป้าไปที่รัฐบาล อีกเหตุผลใหญ่ ละครไทยยังไม่ไปไหน
กอล์ฟ ธัญญ์วาริน พูดไวๆ อีกว่า รัฐบาลต้องมีหน่วยงาน ที่ส่งเสริมสนับสนุนแบบ วันสตอปเซอร์วิส one stop service เราเคยติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งช้าและยาก ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีวิสัยทัศน์นะ แต่ด้วยการบริหารงานแบบ รวมอำนาจเอาไว้ที่นายกฯ ไม่ได้กระจายงานออกไป คนที่ทำงานตามระบบปลายน้ำ ก็เลยช้าไปหมด
จนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่เห็นเลยว่า รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมสนับสนุนวงการบันเทิงไทยอย่างไรบ้าง มีแต่พูดๆ ซอฟต์พาวเวอร์ Soft Power แต่รัฐไทยเข้าใจกระบวนการทั้งหมดมั้ย เช่น ถ้าจะทำซีรีส์ละครใหญ่ๆ ก็ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เอาง่ายๆ อย่างเรื่องใหญ่ สมรสเท่าเทียม ก็ยังไม่ผ่านร่างออกมาเป็นกฎหมาย มีแต่ปากพูดๆ แต่ไม่ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
อย่างที่รู้กันว่าในหมวดซีรีส์วาย ไทยเราผลิตกันออกมามาก ปีนี้ก็ร้อยกว่าเรื่องแล้ว เราเป็นศูนย์กลางส่งออกซีรีส์ระดับโลกไปแล้ว แต่ตอนนี้เกาหลี ญี่ปุ่น เห็นแล้วว่าตลาดซีรีส์วายมีเยอะมากๆ มีฐานแฟนคลับอยู่ทั่วโลก ไทย ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ ฯลฯ เขาก็ทำเริ่มตีตลาดแล้ว อีกไม่นานวงการซีรีส์วายไทย น่าจะสั่นสะเทือนก็ได้

ละครซีรีส์ไทยในวังวนเดิมๆ ซ้ำๆ?
ดารา-บุคลากรในวงการบันเทิงไทย ดีเด่นมีคุณภาพจริงมานานแล้ว แต่ด้วยกรอบความคิด ที่หลายค่ายหลายช่อง ชอบอ้างว่า คนดูชอบแบบนี้ เลยต้องทำออกมาซ้ำๆ บ่อยๆ โดยเฉพาะแนวผัวเมีย ชิงรักหักสวาทตบตีแย่งกัน
กระแสละครซีรีส์เกาหลี และละครซีรีส์จากหลายประเทศ นับวันยิ่งบุกเข้ามาในไทยมากขึ้นๆ เพราะคนไทยกลุ่มใหญ่มากขึ้นๆ ที่ต้องการดูอะไรที่ดีมีคุณภาพจริงๆ ที่ไม่ใช่ให้แค่ความบันเทิงเท่านั้น! แต่ต้องมีสาระประโยชน์ระเบิดสมอง ที่เข้มข้นมากพอ ที่จะทำให้แตกต่อยอดสติปัญญาไปด้วย
เหล่าดาราคนดัง ล้วนพูดคล้ายๆ กันถึงการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ของไทย คงจะหวังพึ่งพายากอยู่ ที่จะมาช่วยส่งเสริมสนับสนุนละครซีรีส์ บันเทิงไทยให้ก้าวไกล พุ่งไประดับโลกได้ในระยะเวลานี้ เพราะเห็นๆ กันอยู่ กับการทำงานที่อ่อนด้อยไร้ประสิทธิภาพ ขาดวิสัยทัศน์ พอมีกระแสกระตุ้นๆ จากสังคม ก็พากันมาพูดแป๊บๆ เหมือนไฟไหม้ฟาง เหมือนจะดูดีแล้วก็หายไป ส่วนการทำจริงจังต่อเนื่องอย่างมืออาชีพ ที่รู้จริงเป็นรูปธรรม ยังไม่เห็น! ไม่มี!.
นักเขียน : รุ่งโรจน์เรืองรอง
กราฟิก : Varanya Phae-araya