ทุกวันนี้ การโปรโมตนักร้องหรือเพลงสักเพลง ทำได้ค่อนข้างง่าย หากพลาดก็ไม่เจ็บตัวมาก ต้นทุนในการผลิตต่อหนึ่งเพลง ไม่น่าจะเกินเลขห้าหลักต้นๆ
มีกล้องดีๆ หรือมือถือไฮเทคสักเครื่อง โปรโมตผ่านสื่อออนไลน์ ก็จะกลายเป็นเจ้าของค่ายเพลงได้แล้ว
จังหวะเหมาะโชคช่วย เพลงฮิตติดหูติดตาผู้บริโภคขึ้นมา ก็เท่ากับถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งชุดใหญ่!!
เพลงอินดี้จากค่ายโนเนมหลายเพลง ก็เคยแหวกตลาด จนกลายเป็นเพลงระดับร้อยล้านวิว ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ตะลึงตึงๆ ตาค้างมาแล้ว
แต่สิ่งที่น่าห่วง...คือสื่อหลักก็นำไปขยายผลให้เพลงเหล่านั้น จะโดยตามน้ำ รู้เท่าไม่ถึงการณ์และหรือโดยเจตนา
เพลงบางเพลง เนื้อหาค่อนข้างฉวัดเฉวียน เกาะแกะอยู่เรื่องราวใต้สะดือ เนื้อร้องละม้ายไปทางวรรณกรรมปกขาว
ชื่อเพลงก็ค่อนข้างลามก สองแง่สองง่ามไปทางการร่วมประเวณีของมนุษย์ หรือส่อเสียดไปในแนวนั้น!!
แต่ก็เอามาโปรโมต มาเชียร์กัน บางทีสื่อโทรทัศน์บางสำนัก ก็เอาไปพูดถึง เชียร์ทั้งทางตรงทางอ้อม?
ข้อสังเกตคือเพลงเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะใช้เนื้อร้องเป็นภาษาอีสาน แล้วนำมาใส่ทำนองโจ๊ะๆที่โดนหูโดนใจวัยรุ่น
ไม่อยากจะเรียกคนแต่งเหล่านี้ว่า “ครูเพลง” แต่อยากเรียกว่า นักเขียนปกขาวสอดใส่ทำนองเพลงประกอบมากกว่า
หน่วยงานของรัฐที่เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ตื่นขึ้นมาทำงานให้สมกับเงินเดือนบ้างก็ละกัน!!
“สันติพงษ์ นาคประดา”.
‘‘แจ๋วริมจอ’’
jaewrimjor@gmail.com