- เคยแอนตี้อาชีพนักร้อง แต่สุดท้ายโชคชะตาลิขิตให้ร้องเพลงเหมือนคุณแม่
- ที่มาของการเป็นหนึ่งในสมาชิก "สาว สาว สาว" และการทำงานที่อาร์เอส
- ปัจจุบันของแหม่ม พัชริดา หลังออกจากค่ายเพลงดัง
เป็นที่รู้จักในวงการเพลงมานานเกือบ 40 ปีแล้ว สำหรับนักร้องสาวมากฝีมือ แหม่ม พัชริดา วัฒนา ที่เคยมีผลงานเพลงในฐานะสมาชิกวง “สาว สาว สาว” ภายใต้สังกัดรถไฟดนตรีมานาน 9 ปี 10 อัลบั้ม ก่อนจะมาเป็นนักร้องเดี่ยวในสังกัดอาร์เอส มีทั้งผลงานอัลบั้มเพลง 10 อัลบั้ม รวมถึงการทำงานเบื้องหลังในฐานะครูสอนร้องเพลง และทำแผนกพัฒนาศิลปินของอาร์เอส
เวลาผ่านไปนาน 24 ปี ในที่สุดแหม่มจึงตัดสินใจลาออกจากอาร์เอสกลางเดือน ม.ค. 2561 หันมาเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ของตัวเอง เลือกที่จะมีความสุขกับเสียงเพลงผ่านการเป็นโค้ชรายการเพลง “เดอะวอยซ์ คิดส์” ทางช่อง PPTV และกรรมการรายการ “เพลงเอก” ทางช่องเวิร์คพอยท์ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ชวนเจ้าตัวมาพูดคุยถึงวันวานที่เธอคนนี้เคยต่อต้านอาชีพนักร้อง แต่สุดท้ายก็ต้องจับไมค์ร้องเพลงเดินตามรอยคุณแม่ เม้าท์ สุดา ชื่นบาน มาจนถึงชีวิตปัจจุบันที่เลือกจะมีความสุขแบบเรียบง่ายตามเส้นทางที่เธอเลือกแล้ว

...
แอนตี้อาชีพนักร้อง
ทันทีที่เราชวนคุยถึงเรื่องวันวานก่อนจะมาเป็นนักร้อง เจ้าตัวตอบเสียงสดใส “ได้เลยค่ะ” พร้อมทั้งหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเล่าว่า “เอาจริงๆ ตอนเด็กๆ คือพี่ไม่ชอบเลย พี่ต่อต้านมากๆ เนื่องจากคุณแม่เป็นนักร้องดัง แล้วสมัยนั้นนักร้องดังไม่ได้มีคนชื่นชม มีแต่คนค่อนข้างรังเกียจ
โดยเฉพาะผู้ใหญ่จะมองว่าพวกนักร้องเป็นพวกที่มีอาชีพเต้นกินรำกิน ถ้าเป็นผู้หญิงไม่ให้เอาเป็นลูกสะใภ้ ถ้าเป็นผู้ชายไม่ให้คบ เพราะว่าไม่มีอนาคต แล้วคุณแม่พี่เป็นนักร้องดังและเป็นแม่ม่าย มันก็เลยดับเบิ้ลว่าอาชีพนี้ไม่ดี ถ้าเป็นยุคนี้ก็คงเป็นประมาณซุป'ตาร์ที่พอมีเรื่องชีวิตรักก็เป็นที่เม้าท์มอยของคน พี่เลยรู้สึกว่าทำไมการเป็นลูกนักร้องมันถึงไม่โอเคแบบนี้ ก็จะไม่เคยอยากเป็นนักร้อง”

ก่อนจะขยายความว่า มันคนละเรื่องกันระหว่างการชอบร้องเพลงกับการอยากเป็นนักร้อง ถ้าเป็นการชอบร้องเพลงก็จะชอบตามประสาเด็ก ได้ยินเพลงอะไรเพราะๆ ก็ชอบ และคุณแม่ส่งไปเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ เราก็รู้เรื่องดนตรี โอเคกับมัน ไม่ได้รังเกียจ แต่ต่อต้านเพราะความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับอาชีพของแม่มากกว่า
เมื่อถามว่าคุณแม่รู้เรื่องนี้แล้วว่าไงบ้าง นักร้องสาวตอบว่า “เขาไม่ได้บังคับค่ะ เอาจริงๆ แม้แต่ตัวแม่เองเขาเป็นนักร้องเพราะว่าสมัยเขาเด็กๆ ครอบครัวยากจน เขาเป็นนักร้องเพราะเขาร้องดีจริงๆ แล้วเขาก็ประกวดที่ไหนก็ชนะ จนไม่มีใครอยากให้เข้าไปประกวดแล้ว พอเขาตัดสินใจเป็นนักร้องอาชีพ เขาก็รู้ว่ารายได้ดีมากๆ ทำให้เขาช่วยเหลือคุณตาคุณยายได้ แต่รุ่นพี่คือโตมามีเทปเพลงแล้ว มีรายการวิทยุดังๆ แล้ว ทำให้อาชีพนักร้องกลายเป็นไอดอลของวัยรุ่นค่ะ”
ที่มาของหนึ่งในสมาชิก “สาว สาว สาว”
แม้พี่แหม่มจะแอนตี้การเป็นนักร้องอาชีพ แต่สุดท้ายชีวิตของเธอก็ยังหนีไม่พ้นอาชีพนักร้องอยู่ดี เมื่อถามว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลายเป็นนักร้องอาชีพตามคุณแม่คืออะไร เจ้าตัวตอบทันที “อ๋อ พี่ถูกบังคับค่ะ” ก่อนจะขยายความให้ฟังว่า “คือตอนแรกไม่รู้เรื่องอะไร แม่บอกว่าให้ไปร้องเพลงโฆษณา คนในวงการเดียวกันกับแม่หานักร้องเด็กๆ เอาไปร้องโฆษณา เราก็ไปร้องให้ได้ค่าขนมอะ ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย ให้ไปก็ไป มันเลยทำให้มีคนได้ยินว่าเราร้องเพลงได้
จากนั้นคุณระย้า (ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร) ผู้บริหารค่ายเพลงรถไฟดนตรี เขาอยากทำศิลปินของเขาเอง เขามีความคิดค่อนข้างโมเดิร์นมากๆ พอถามกันไปมาแล้วเขาก็แนะนำว่าลูกพี่เม้าท์ ลูกพี่แดง (ฉันทนา กิติยพันธ์) ร้องเพลงได้ ทีนี้วันที่มารวมกันเป็นวงเพื่อออกเพลง พี่ยังคิดว่าเหมือนไปร้องตอนโฆษณา คือร้องแล้วจบได้ตังค์กินขนมกลับบ้านแล้วจบ ไม่คิดว่าจะยืดยาวจนถึงปัจจุบันนี้” พร้อมทั้งหัวเราะเสียงสดใส

...
ก่อนจะขยายความให้ฟังเพิ่มเติมว่า “เขาคุยกับแม่ เขาก็ขอเช็กหน่อยว่าร้องเพลงเป็นยังไง แม่ก็บอกว่าไปหน่อยนะลูก คุณน้าอยากเจอ เผื่อจะได้ร้องเพลงได้สตางค์กินขนม เราก็ไป คือคิดแค่นั้นจริงๆ มันไม่ได้เป็นลักษณะการคุยเพื่อทำอัลบั้ม เหมือนชวนไปร้องเพลง แม่ก็ไม่ได้คิดว่าจะยืดเยื้ออะไร แต่พอดีเห็นว่าไปกับแอม (เสาวลักษณ์ ลีละบุตร) กับปุ้ม (อรวรรณ เย็นพูนสุข) ซึ่งเป็นลูกเป็นหลานของเพื่อนรัก พี่แอมกับพี่ก็โตมาด้วยกัน เล่นกับเขาตั้งแต่เด็กๆ มันก็เหมือนชวนเพื่อนไปคุยกับน้าสนุกๆ
พอเขาเห็นเราก็คงมองว่าเป็นเด็กยุคใหม่ เป็นตัวเอง แล้วร้องเพลงกันได้ดี พี่แอมก็ดูเป็นผู้นำ พี่ปุ้มก็เสียงหวานเสียงเพราะมาก ส่วนพี่เป็นเด็กกะโปโลแต่ร้องเพลงได้ ประสานเสียงกันได้ เขาก็ทึ่งตรงนี้ว่าความเป็นลูกนักร้องทำให้เด็กพวกนี้มีพรสวรรค์ เขาก็ชอบ อีกอย่างพวกพี่ก็เรียนโรงเรียนดีๆ ซึ่งสมัยก่อนมันไม่มีนักร้องแบบนั้น จะเป็นนักร้องอาชีพที่มาร้องเพลงกลางคืน พอมีพวกพี่ซึ่งเป็นนักเรียน พี่เรียน ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย พี่แอมเรียน ร.ร.ราชินี มันดูดี มันน่าจะเป็นไอดอลเด็กรุ่นเดียวกันได้ มันเป็นความมองการณ์ไกลของคุณระย้าด้วยแหละ”

...
พี่แหม่มบอกว่าตอนนั้นพูดง่ายๆ คือไม่รู้เรื่อง คุยเสร็จกลับบ้าน ก็ไม่รู้เรื่อง วันไปอัดเสียงก็ไม่รู้เรื่อง เพราะคิดว่าไปเล่นกันกับพี่ๆ พอมาเป็นนักร้องวงสาวสาวสาว ออกอัลบั้มชุดแรกก็ยังไม่ดัง ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่รู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยน “คือรู้ว่าอัดเทปแล้วออกมาวางขาย แม่ตื่นเต้น ทุกคนตื่นเต้น แต่เราเฉยๆ จนกระทั่งจบชุดแรกไป เขาควรเลิกทำ แต่เขาก็รู้สึกว่ามันโอเคนะเด็ก 3 คนนี้มันเก่งแล้ว แต่เลือกเพลงผิด เพราะชุดแรกเขาไปเอาเพลงผู้ใหญ่มาให้ร้องคัฟเวอร์ ซึ่งไม่ใช่ตัวของเราเอง
ในระหว่างที่ทำงานเขาเห็นว่าเวลาเราอยู่ด้วยกัน เราเหมือนพี่น้องจริงๆ เราร้องเพลงเล่นกัน พี่แอมเล่นกีตาร์ เขาเห็นว่าจริงๆ ตัวเด็กเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่แค่เด็กร้องเพลงเพราะแล้วเอาเพลงอะไรมาร้องก็ได้ ก็เลยเริ่มคุยจริงจัง บอกให้พี่แอมไปแต่งเพลงมา มันก็เลยกลายเป็นชุดที่ดังที่สุดในชีวิตของสาวสาวสาว คือชุด “ประตูใจ” ที่มีเพลง “รักคือฝันไป” ชุดนั้นเขาเปลี่ยนจากการเอาเพลงเก่าของคนอื่นหรือเอานักแต่งเพลงที่ไม่รู้จักตัวเรามาร้อง เป็นให้วัยรุ่นรุ่นเดียวกันที่เป็นแฟนรายการรถไฟดนตรีส่งเพลงเข้ามา ก็ได้เจอนักแต่งเพลงดีๆ ที่แต่งเพลงนี้ให้ค่ะ”
มุมมองที่เปลี่ยนไป
นักร้องสาวเล่าว่าถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังจากอัลบั้มที่ 2 ของวงสาวสาวสาว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แถมยังงงด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น ไปไหนทำไมคนมาดึงแก้ม คนมากรี๊ด “ก็มีตกใจบ้าง ที่แน่ๆ คือไม่ได้ภูมิใจดีใจว่าดังแล้ว อย่างที่บอกว่าก็เหวอค่ะ แต่คุ้นเคยกับความมีชื่อเสียง เพราะว่าเราอยู่กับแม่ที่ดังมาก่อน เมื่อก่อนไปไหนคนก็จะนี่ไง ลูกสุดา ชื่นบาน แต่ตอนนี้บอกว่านี่ไงแหม่ม สาวสาวสาว สรรพนามมันเปลี่ยนก็แค่นั้น
...
และด้วยความที่แม่เป็นนักร้อง แม่จะบอกตลอดว่าเรื่องชื่อเสียงมันไม่อยู่นานนะลูก มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปสนใจมันมาก ก็เลยรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องงานมากกว่า พี่มองว่ามันเหมือนเป็นเรื่องที่มันต้องเป็น มันเซตมาไว้แล้ว เลยรู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดของการเป็นสาว สาว สาว คือพี่ได้อาชีพ ทั้งที่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นนักร้องมาก่อนเลย พอมาทำก็โชคดีที่ว่าโลกมันเปลี่ยน กลายเป็นว่าการเป็นนักร้องเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มุมมองพี่ค่อยๆ เปลี่ยนไป หมายถึงว่าจริงๆ แล้วเรารักการร้องเพลง แต่เราไปติดแค่คำพูดของคนอื่นที่ทำให้รู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่ดี

แต่พี่ก็ยังคงเรียนต่อปริญญาโท หางานอย่างอื่นทำ เพราะพี่รู้ว่ามันไม่แน่นอน แม่ก็ย้ำตลอด แต่แม่ก็ยังคงเป็นนักร้องจนถึงปัจจุบัน อายุจะ 80 แล้ว (ยิ้ม) สิ่งที่สอนกันมาพูดกันมา มันกลายเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรากลัวไปหมดเลย สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จที่สุดกลับเป็นอาชีพนี้แหละ ก็ใช้เวลานานมากค่ะ ต้องบอกว่าพออายุ 26-27 ปีถึงได้รู้ว่าฉันต้องเป็นแบบนี้แหละ
พอความคิดเปลี่ยนถึงได้เข้าใจว่าทำไมแม่ถึงภูมิใจกับอาชีพนักร้องนักหนา แม่บอกเลยว่าใครจะมองเรายังไงไม่รู้ แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่แม่เลี้ยงลูกมาทั้งสองคน แล้วเรามีกินได้ก็เพราะอาชีพนี้ เพราะฉะนั้นต้องภูมิใจกับมัน ให้เกียรติมัน ซึ่งพอมาถึงรุ่นโมเม (นภัสสร บุรณศิริ น้องสาวของแหม่ม) จะเห็นเลยว่าเขาโตมาเพื่ออยากจะเป็นอย่างพี่อย่างแม่ มันเป็นวิวัฒนาการที่เห็น แล้วมันกลายเป็นอาชีพที่คนใฝ่ฝัน”
ชีวิตการทำงานกับอาร์เอส
แม้การทำเพลงกับวงสาว สาว สาว กับแอม เสาวลักษณ์ และปุ้ม อรวรรณ เป็นไปด้วยดี เข้ากันได้ดีมาตลอด แต่สุดท้ายงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา พี่แหม่มเล่าถึงวันที่ตัดสินใจแยกวงให้ฟังว่า “การแยกกันของวงเป็นเรื่องของเวลาค่ะ 10 ปีแล้ว คือตอนนั้นเริ่มไม่ไหวแล้ว เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นบ้างมั้ย พอเราเริ่มโต มันไม่เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราทำอะไรด้วยกันตลอด เริ่มมีกิจกรรมส่วนตัว พี่แอมแต่งเพลง พี่เรียนปริญญาโท พี่ปุ้มไปร้องเพลงกลางคืน มันเริ่มมีความต่าง เราก็เลยคุยกันว่าการเป็นสาว สาว สาว มันดีแล้ว มันพอแล้ว ถ้าเราไม่หยุดตอนนี้ วันนึงถึงวงไม่แตก คนก็ไม่ฟังแล้ว เราก็เลยหยุดกันเองก่อนที่ใครจะมาบอกเราว่าพอได้แล้ว”
ส่วนการมาอยู่อาร์เอส พี่แหม่มเล่าว่า จริงๆ มาจากการทำงานเบื้องหลัง ช่วงที่เรียนปริญญาโทก็รับงานประสานเสียงทั่วไป ทุกคนเริ่มรู้ว่าเป็นอิสระแล้ว ออกมาเรียนต่อแล้ว อาร์เอสก็ให้คนถามมาว่ายังสนใจทำเพลงอยู่มั้ย “ตอนนั้นพี่เกือบจบปริญญาโทที่นิเทศฯ จุฬาฯ อยู่แล้ว ตอนที่เฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) เรียกคุย พี่ก็เลยเข้าไปคุยดู เราก็เห็นว่าเป็นผู้ใหญ่เรียกก็เออ ไปก็ได้ พอเข้าไปคุย เฮียทำให้เราประทับใจ เพราะนี่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ นี่คือเป็นรุ่นพี่เรา เหมือนคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ดูมีวิสัยทัศน์ทันสมัย คุยกับเรารู้เรื่อง สั้นๆ ง่ายๆ

พี่ก็เลยเซ็นสัญญา 4 ปี ตั้งใจว่าแค่เข้าไปร้องเพลง เดี๋ยวเรียนจบแล้วแต่งงาน ปรากฏว่าเข้าไปตั้งแต่อัลบั้มแรก พี่ว่าตอนเป็นสาวสาวสาวก็ประสบความสำเร็จแล้วนะ แต่ด้วยความที่ตอนนั้นลักษณะของผลประโยชน์ยังเป็นระบบดั้งเดิม และหาร 3 เรา 3 คนก็ไม่ได้รวย แค่มีตังค์เก็บสำหรับไปเรียนต่อ มีรถ และทำอะไรนิดหน่อยในอนาคต แต่พอมาทำงานอาร์เอส ช่วงนั้นวงการเทปบูมที่สุด ขายได้ล้านตลับ 6 แสนตลับ ส่วนแบ่งมันเรียกได้เลยว่ารวย พี่ก็ทำไปเรื่อยๆ คือภายใน 2 ปีที่อยู่อาร์เอส มีตังค์มากกว่าอยู่วงสาวสาวสาวมา 10 ปี คือมันเป็นระบบธุรกิจเต็มรูปแบบแล้ว
พอใกล้หมดสัญญาเฮียเรียกต่อสัญญาก็ต่อ ระหว่างนั้นก็ทำงานออฟฟิศไปด้วย เพราะเห็นว่าเป็นคนที่มีประสบการณ์ในวงการ นักร้องอาร์เอสตอนนั้นจะมีเด็กๆ วัยรุ่นหน้าตาดี เขาก็บอกให้มาสอนร้องเพลงให้น้องๆ หน่อยได้มั้ย ช่วยจัดการให้เป็นระบบทีได้มั้ย เราก็โอเค เพราะมันเป็นของบริษัท เราร้องเพลงอยู่แล้ว ทำงานอีกสักหน่อยจะเป็นไร พี่ก็ทำเต็มที่ พอเขาเห็นเราตั้งใจทำงาน งานเราดี เขาก็ไว้ใจ เชื่อใจ ก็ได้รับการส่งเสริมเรื่อยมา

พี่สนุกกับการทำงาน ได้สร้างงานใหม่ๆ ทำแผนกพัฒนาศิลปิน ไม่ได้ทำในตำแหน่งที่มีอยู่แล้ว เหมือนเราเปิดบริษัทเราเอง ลองผิดลองถูก โดยมีเฮียฮ้อให้การสนับสนุน สำหรับพี่การร้องเพลงง่าย แต่พอมาทำงานกับเฮีย มันมีเรื่องความกดดันหลายอย่าง เจอความเครียด เวลาที่บีบมา แต่พี่ไม่เคยรู้สึกว่ายาก เพราะเป็นงานที่เราชอบอยู่แล้ว ก็เคยบอกเฮียว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไล่แหม่มออกแล้วกัน แต่ถ้าทำได้จะลองดู คืออะไรเข้ามาก็ลองดู เป็นคนไม่กลัวกับการต้องทำอะไรค่ะ”
เมื่อถามว่ารู้สึกยังไงที่คนมองว่าเป็นเหมือนโลโก้ของอาร์เอส ทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังมายาวนานมาก นักร้องสาวตอบว่า “ถ้าคนคิดอย่างนั้น พี่ก็รู้สึกขอบคุณมากๆ จริงๆ ต้องขอบคุณอาร์เอสมากกว่า ยังพูดกับสามีว่าที่มีวันนี้ได้ส่วนนึงคืออาร์เอสซัพพอร์ตเรา ถ้าเขาไม่เห็นความสามารถของเรา ไม่ให้เราทำงานผู้บริหาร วันนี้พี่อาจจะเป็นนักร้องคนนึงที่ไม่มีใครหลายคนนึกออกหรือจำได้ เพราะความโดดเด่นของเราจะไม่ถูกส่งเสริมออกมา พี่ภูมิใจว่าอย่างน้อยเรียนจบปริญญาโทไม่ใช่แค่เอาปริญญามาแล้วแต่งงานอยู่บ้าน พี่ได้ใช้จริงและได้รับการยอมรับจากเจ้านายลูกน้อง ถึงพี่ลาออกมาแล้วก็ยังภูมิใจในความเป็นคนของอาร์เอส ทุกวันนี้ยังมีงานต่อเนื่อง ยังมีความเชื่อถือจากคนในวงการเพลง ประชาชนทั่วไปค่ะ”
วันที่ตัดสินใจลาออก
เวลาผ่านไปนานกว่า 24 ปี กับการอยู่ภายใต้ชายคาอาร์เอส ในที่สุดก็ถึงวันที่โบกมือลา พี่แหม่มเล่าถึงวันที่ตัดสินใจออกจากค่ายอาร์เอสว่า เป็นความอิ่มตัวเหมือนสมัยตอนอยู่วงสาวสาวสาว มันไม่มีอะไรที่อยู่กับคนคนนั้นไปตลอด รู้สึกว่าได้ทำทุกอย่างแล้ว พอวันนี้ลักษณะมันเปลี่ยนไป เด็กไม่ได้เกิดจากการที่ค่ายปั้นแล้ว กลายเป็นยูทูบเบอร์ เทปซีดีที่เคยขายได้มันก็ไม่ได้แล้ว บริษัทก็เหนื่อยในการพลิกแพลงกลยุทธ์ต่างๆ
ในความเป็นเราที่เคยสนุกกับการสอนร้องเพลง วางแผนหาเด็ก สร้างเด็กยังไง พอมาช่วงหลังหน้าที่งานมันเปลี่ยน เพราะมันไม่มีเด็กมาให้ปั้น ปั้นออกไปก็ขายไม่ได้ เพราะคนไม่ได้ฟังเพลงแบบเดิมแล้ว ถ้าจะให้อยู่บริษัทไปเรื่อยๆ โดยที่ลักษณะงานมันเปลี่ยน บางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ ถ้าเขาจะใช้งาน จ่ายเงินเดือนให้เรา เขาก็ต้องใช้เราไปทำงานอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าวงการเพลงตันแล้ว คนที่จะอยู่ตรงนี้ต่อไป ต่อให้เป็นนักแต่งเพลงหรือเคยอยู่ออฟฟิศมีตำแหน่งใหญ่โต วันนี้ต้องเฟดตัวเองหมดแล้ว เพราะไม่งั้นจะเป็นภาระของบริษัท และบริษัทก็ลำบากใจ

“พี่เลยตัดสินใจเข้าไปเรียนเฮียตรงๆ ว่าอยากจะออกไปแล้ว เพราะในความเป็นตัวเอง พอพี่เข้ามาอยู่ในอาร์เอส พี่ก็ทิ้งทุกอย่างในความเป็นแหม่ม สาวสาวสาว ไม่รับงานโน่นนั่นนี่ โฟกัสที่งานออฟฟิศ แต่พี่ยังมีความสามารถที่จะไปทำในฐานะนักร้องสาวสาวสาว ตัวเองเอย ซึ่งพี่อยากออกไปทำก่อนที่พี่จะแก่มากไปกว่านี้ ซึ่งเฮียน่ารักมาก เฮียบอกว่าเฮียก็อยากให้แหม่มไปทำอย่างนั้น เพราะโดยความสามารถแหม่มทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้าอยู่อาร์เอสเป็นผู้บริหารก็โอเคแหละ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ความสนุกของแหม่ม
แกก็เข้าใจ และให้อยู่ช่วยทำงานจนถึงสิ้นปี ก่อนจะออกก็มีปาร์ตี้เลี้ยงส่งให้เล็กๆ พี่ก็รู้สึกดี ไม่ต้องรอจนเกษียณ เราเกษียณตัวเองออกมาก่อน ถามว่าใจหายมั้ย ไม่นะ เพราะเราเป็นคนตัดสินใจค่ะ จะมีช่วงที่เอาไงดี มนุษย์เงินเดือนน่ะ มันก็เคยชิน แต่พี่เป็นคนลุยๆ เมื่อก่อนไม่มีบริษัทก็อยู่มาได้ อายุไม่สำคัญหรอก ถ้าเรามีความสามารถ เราต้องเชื่อมั่นตัวเอง ก็เลยตัดสินใจลาออก”
ปัจจุบันของพัชริดา
จากนั้น แหม่ม พัชริดา เล่าถึงที่มาของการเปิดร้านกาแฟ PAT'S Tea Room & Coffee Club หลังจากลาออกว่า “คือในระหว่างนั้นก็คิดว่าเออ ถ้าสิ่งที่เชื่อมั่นมันผิด ไม่มีใครเรียกทำงานจะทำไง พี่ก็เลยหาอะไรทำเล่นๆ ไปเรียนทำกาแฟ แล้วพอดีพี่รู้จักพี่ที่อยู่ตรงที่นึง เขาก็ชวนๆ ว่าพี่แหม่มเอาที่ไปทำอะไรมั้ย ก็เห็นว่าใกล้บ้านดี ถ้าเปิดร้านกาแฟ มีญาติพี่น้องวัยเดียวกันที่กำลังจะเออลี่รีไทร์ ถ้าเอามาทำก็น่าจะสนุกดีนะ เป็นกิจกรรมของครอบครัว และอาจเป็นรายได้เลี้ยงยายแก่อย่างเราได้” ก่อนจะหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
“พี่ก็ลองไปเรียนดู เรียนแล้วต้องเปิดร้านให้ได้ แต่ถามว่าใฝ่ฝันอยากมีร้านกาแฟมั้ย ไม่ค่ะ เหมือนการเป็นนักร้อง ไม่เคยใฝ่ฝัน พี่เป็นคนไม่เคยมีอนาคต (หัวเราะ) มีโอกาสก็ลองคว้าไว้ก่อน แต่โอกาสพี่ก็เลือกนะ อย่างเปิดร้านกาแฟ เราเป็นคนชอบทำกับข้าว ทำของกิน ทำขนม ก็เลยลองดู ตอนแรกก็เช่าแค่ 1 ปี ถ้าเจ๊งก็ไม่ทำต่อ แต่ปรากฏว่าไม่เจ๊งไง ก็เลยรันยาว แต่ไม่ได้ทำให้รวยนะ มันทำให้พี่มีความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ตัวเราเองทำตรงนี้เพื่อเป็น Know How ช่วยให้คนมีงานทำ มีเงินเดือน และร้านพี่กลายเป็นศูนย์รวมของแฟนคลับสาวสาวสาว มันเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ สำหรับพี่ แต่มันกลับสบายใจกว่าคอมมูนิตี้ใหญ่ๆ ในอาร์เอสที่คนเยอะมาก”

จากนั้นเราถามถึงการเป็นโค้ชและกรรมการรายการเพลงว่าเป็นความสุขใช่หรือเปล่า พี่แหม่มตอบว่า “ใช่ค่ะ ก็มี 2 รายการที่รับ ก็มี “เดอะ วอยซ์ คิดส์” เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็รับรายการ “เพลงเอก” ช่องเวิร์คพอยท์ อย่างที่บอกว่าพี่เลือกทำงานกับคนที่รู้สึกโอเค ถ้าทำอะไรเพื่อให้ตัวเองได้ออกสื่อไม่ใช่พี่แล้ว ตอนทำเดอะ วอยซ์ คิดส์ พี่ทำแล้วมีความสุข พอมาทำเพลงเอก พี่ได้รู้จักทีมงานใหม่ๆ ได้รู้จักพี่ก้อง สหรัถ ซึ่งเราอยู่ในวงการมานาน เจอกันยิ้มทักทาย แต่ไม่เคยทำงานร่วมกันเลย เป็นเรื่องที่ดีที่ได้ทำงานกับคนเก่งๆ ทุกคน รู้สึกโชคดีที่เขาเรียกเรามาทำงาน”
เมื่อถามว่าหากคนชวนกลับไปทำงานในวงการเพลงอีกครั้งอยากทำไหม พี่แหม่มตอบทันทีว่า “ที่ผ่านมาปฏิเสธคนที่ติดต่อไปเยอะมาก หนึ่งคืออิ่มตัว สองมันไม่ได้ดีเท่ากับที่เคยทำกับอาร์เอส จะไปทำกับคนอื่นทำไม เขาติดต่อมา เขาคาดหวังอะไรจากเรา เขาแค่ได้เครดิตเราจากอาร์เอส แล้วเขาคิดว่าเราจะไปเนรมิตทุกอย่างให้ มันไม่ใช่ไง ความเป็นพี่กับอาร์เอสมันคือพี่กับคนในองค์กรอาร์เอส และนายของพี่ที่รวมกันแล้วถึงสำเร็จ พี่รู้สึกว่าถ้าแค่มาซื้อตัวไปทำงาน ไปคุยแล้ว ไปดูแล้ว ลองรู้จักแล้ว ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ก็ไม่ทำ

พี่รู้สึกว่าการกลับเข้าไปในวงการเพลงวันนี้มันไม่ใช่เวลาของพี่แล้ว มันเป็นเวลาของคนอื่นแล้วที่ควรเติบโตต่อไป เพลงก็ไม่ได้ฟังในจุดที่วันนี้เขาฮิตอะไรกัน ไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่าง แล้วตอนนั้นพี่ไม่ได้ทำคนเดียว มีทีมงานตั้งกี่สิบชีวิต ดังนั้นจะเอาเครดิตทุกคนมาเป็นของเราเองในการเป็นผู้บริหารที่อื่น มันไม่ง่ายหรอก พี่เห็นหลายคนที่สำเร็จจากอาร์เอส พอไปทำที่อื่น ส่วนผสมไม่ใช่ของเดิม ถ้าคุณไม่เจ๋งไม่ใช่จริง มันไม่เหมือนเดิมหรอกค่ะ ถึงแม้พี่มั่นใจว่าทำงานโอเค แต่ใจพี่ไม่เหมือนสมัยเด็กๆ เพราะตอนทำงานกับอาร์เอสเพิ่ง 20 ปลายๆ มันมีไฟ มีทั้งพลัง ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ตัว เราต้องเฟดค่ะ”
กับคำถามทิ้งท้ายที่ว่าอยากกลับมาทำเพลงของตัวเองรึเปล่า เจ้าตัวตอบว่า รู้สึกเฉยๆ หากอยากฟังก็ให้ไปฟังเวลามีคอนเสิร์ตสาวสาวสาว หรือมีงานจ้าง หรือในรายการ ถ้าจะทำเพลงตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ไม่ได้บอกว่าจะเลิกทำ แต่เท่าที่ดูรู้สึกว่าไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการทำ แต่ถามว่าเลิกร้องเพลงไหม ไม่เลิก ได้ร้องเพลงที่ตัวเองชอบในงานต่างๆ แค่นี้ก็พอแล้ว นาทีนี้ถ้าจะทำก็ทำเพื่อความสนุก ไม่ใช่เพื่ออาชีพอย่างที่ผ่านมา.
ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์
กราฟิก : Sathit Chuephanngam