เคยประสบภาวะมีบุตรยาก แท้งลูกมาก่อน สำหรับคู่รักดัง เจมส์ เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ และ ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ แต่ล่าสุดเมื่อครูก้อยตัดสินใจศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง จนสามารถมีลูกได้สำเร็จ อีกทั้งเปิดเพจเพื่อให้คำปรึกษาการมีบุตรยาก ปรากฏว่าส่วนมากประสบความสำเร็จ ทำให้ทั้ง เจมส์-ครูก้อย ดีใจอย่างมาก ล่าสุดทั้งคู่มาเดินสายโปรโมตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Ferty” และ “Ferta” ที่ไทยรัฐออนไลน์ ทั้งคู่จึงได้เล่าถึงเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเล่าถึงแพลนมีลูกคนที่ 2 ด้วย

เห็นว่าเปิดเพจให้คำปรึกษาเรื่องมีลูกยาก?
เจมส์ : เริ่มมาตั้งแต่ที่ผมกับครูก้อย ที่เข้าสู่ภาวะผู้มีบุตรยาก ทำให้ได้เห็นความผิดหวัง ได้เห็นการไม่สำเร็จ จนวันหนึ่งครูก้อยตัดสินใจลุกขึ้นมาหาข้อมูล ค้นคว้างานวิจัย ด้วยความที่ครูก้อยก็เป็นครูวิทยาศาสตร์ สอนฟิสิกส์อยู่แล้ว เลยมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัว หันมาหาความรู้เรื่องนี้แบบจริงจัง ในเรื่องของการมีบุตรยาก เขาก็เริ่มจากการที่ค้นคว้า โพสต์ลงไปในบล็อกในเพจ

ก็มีคนเริ่มติดตามจากร้อยคน จนเป็นแสนคน และครูก้อยก็ได้ค้นพบว่าการดูแลตัวเองจะทำให้เรามีบุตรได้ก่อนที่จะไปถึงกระบวนการทางการแพทย์ ถ้าเรามีการบำรุงอย่างถูกต้องก่อน ก็จะทำให้ผลสำเร็จมันสูงขึ้น มันก็เลยเป็นที่มาของเพจ BabyandMom.co.th คนที่ติดตามก็เป็นแม่ๆ ที่ท้องยาก เขาก็บำรุงตัวเองตามฉบับที่ครูก้อยทำเลย ปรากฏว่าอินบ็อกซ์ในเพจเฟซบุ๊กมีรายงานผลเรื่องท้องแล้ว สำเร็จแล้ว รอมานานหลายปีคราวนี้สำเร็จแล้ว ทุกวันนี้ก็เลยกลายเป็นว่ามีคนมาปรึกษาเยอะมาก

...

คนที่เขามาปรึกษา ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในวัยไหน?
เจมส์ : ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่อายุ 33 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีสภาวะมีบุตรยาก คนในปัจจุบันจะแต่งงานช้า และอายุก็จะแปรผันในเรื่องของโอกาสในการเริ่มที่จะมีลูก ยิ่งสูงขึ้นโอกาสยิ่งน้อยลง

ครูก้อย : พูดง่ายๆ ว่ายิ่งอายุมาก ความเสื่อมของเซลล์ไข่ก็อ่อนลง จำนวนไข่ก็ลดลง ด้อยทั้งจำนวนและคุณภาพ วัตถุดิบหลักของคนที่จะท้องก็คือ ไข่ต้องสวย สมบูรณ์ ผนังมดลูกก็ต้องพร้อมที่จะฝังตัว บางคนผนังมดลูกบาง หรือฮอร์โมนไม่สมดุล ถ้าฮอร์โมนไม่สมดุลไข่ก็จะไม่ปกติ ประจำเดือนก็ไม่ปกติ

คนที่มีปัญหาก็ไปทำเด็กหลอดแก้ว แต่พอไปทำก็ไม่สำเร็จ หลายคนทำไป 8 ครั้ง หมดหลายล้าน เพราะลืมโฟกัสวัตถุดิบตั้งต้น พวกไข่ ผนังมดลูก ลืมการบำรุงไข่ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ไม่เคยอยู่ในความคิดของเรามาก่อน บางคนคิดว่าไปหาหมอคือจบ แต่บางทีมันไม่จบ

รู้สึกดีใจไหมที่คนที่เขารับคำแนะนำจากเรา แล้วปรากฏว่าเขาสมหวัง?
ครูก้อย : บอกเลยว่าทุกวันนี้มีความสุขและก็มีความภูมิใจจริงๆ เพราะว่าตัวเราเองเดิมเราเป็นครูสอนนักเรียนมา 8 ปี แล้วเราก็ให้ความรู้เด็กๆ ทุกครั้งที่เราเห็นนักเรียนได้เรียนคณะดีๆ หรือว่ามีอาชีพที่ดีๆ แล้วกลับมาหาเรา อันนั้นคือความสุขที่สุดของคนเป็นครู แต่พอถึงวันที่เราต้องลาออกเพื่อที่จะมาอยู่กับครอบครัวของเรา ช่วงปีแรกความภูมิใจตรงนี้ของเราหายไป

จนเราบอกสามีว่า เราไม่ค่อยได้ทำงาน แต่ทำไมเราไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจ พอเปิดเพจอันนี้เพราะว่าตัวเองมีลูกยาก พอค้นหา สืบค้นงานวิจัย ก็เลยเอามาแชร์ มาเล่า ด้วยความที่เราติดนิสัยความเป็นครู มันก็เลยเหมือนเรามีความภูมิใจกับการที่มีลูกยากมันสามารถช่วยสร้างการเติมเต็มของครอบครัวอื่นที่เขาก็มียากเหมือนกัน ให้เขาได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนช่วย 10-20 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่เรามีความรู้สึกว่าเราได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จนั้น

ตอนนั้นท้อไหม กว่าจะมีลูกคนแรก?
ครูก้อย : บอกเลยว่ากว่าจะมาถึงทุกวันนี้ มีการลองการผ่านอะไรมาเยอะมาก ตอนเริ่มแท้ง คือร้องไห้ ถึงขั้นผวา คนแท้งจิตใจก็สลาย แต่ตอนนั้นเราไม่มีความรู้เลยว่าทำไมเราถึงแท้ง แต่พอเรามีความรู้ เราก็ย้อนกลับไปว่า เราร้องไห้เพราะอะไร ไม่ควรที่จะร้องไห้ เราแท้งเพราะว่าไข่มันไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น มันจึงฝ่อ

เราก็เลยมองเป็นวิธีแก้ไขว่าถ้าครั้งต่อไปเราต้องท้องแบบไม่แท้ง ต้องแข็งแรงตอนครบ 9 เดือน แล้วคลอดออกมา หลังจากวันนั้นไม่มีคำว่าท้อ เพราะว่าเราต้องยืนให้กับแม่ๆ อีกหลายคนที่เขาต้องมานั่งร้องไห้เหมือนเรา ร้องไห้เพราะว่าไม่มีความรู้ ถ้ามีความรู้จะไม่ร้องไห้ จะรู้ว่าเพราะอะไร และก็ทำเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

สำเร็จลูกคนแรก ลูกคนที่ 2 หลายคนก็ลุ้นว่าจะได้เห็นเมื่อไหร่?
ครูก้อย : คนที่ 2 เราค่อนข้างจะสบายๆ ตอนนี้เรามีขั้นตอน รอแค่เวลาที่เหมาะสม คือต้องให้เวลากับลูกคนแรกให้เพียงพอด้วย เพราะการที่เรามีลูกคนแรกแล้ว การที่จะทำลูกคนที่ 2 เป้าหมายต้องอิงกับลูกคนแรกด้วย เพราะเขาจะได้ไม่รู้สึกว่าแม่ทอดทิ้ง ไม่ต้องไปสนใจน้องมากกว่า ก็ต้องเป็นช่วงที่เขาเกือบ 2 ขวบ พูดรู้เรื่อง เข้าใจ เราต้องรอให้ลูกหย่านม ให้น้ำนมหมด 100 เปอร์เซ็นต์ก่อน เราถึงจะสามารถกระตุ้นไข่ ทำเด็กหลอดแก้วได้อีกครั้ง

ตอนนี้น้องยังไม่ได้หย่านมใช่ไหม?
ครูก้อย : หย่าแล้วค่ะ ตอนนี้ก็กำลังคัดตึงเต้านม เพราะนมมันไม่ได้ระบาย จนกระทั่งต้องปล่อยให้มันแห้งหายไป ซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณ 2 เดือน แต่เราก็มีการเตรียมการบำรุงไข่ไว้แล้ว นมหมดเมื่อไหร่ปุ๊บ ก็คือกระตุ้นเลย เพราะว่าถ้าน้ำนมมันมี ก็คือฮอร์โมนน้ำนม ฮอร์โมนโพรแลกตินมันจะสูง ถ้าฮอร์โมนตัวนี้สูงมันจะกระตุ้นไข่ของเราให้ไม่ค่อยโต ก็จะมีผลทำให้เราที่อาจจะมีไข่จำนวนเยอะๆ ก็ถูกกดให้มีจำนวนที่น้อยไป เพราะฉะนั้นเราจะรอบำรุงเต็มที่ รอฮอร์โมนเต็มที่ ทีเดียวแล้วท้องเลย เป๊ะตามที่เราแพลนไว้

...

ขอบคุณภาพจากไอจี @natcha_loychusak
ขอบคุณภาพจากไอจี @natcha_loychusak

คาดว่าปีนี้น่าจะมีข่าวดีให้เราได้ยิน?
ครูก้อย : ใช่ค่ะ น่าจะปีนี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด

ลูกคนที่สองอยากได้ลูกชายหรือลูกสาว มีแอบคิดไว้บ้างมั้ย?
ครูก้อย : อันนี้ให้พี่เจมส์ตอบละกัน (หัวเราะ)
เจมส์ : ตั้งใจไว้ว่าถ้าได้ลูกสาวก็ดี ติดใจลูกสาว ลูกสาวทำให้ชีวิตมีความสุข
ครูก้อย : มีชีวิตชีวา โดนเด็กอ้อน ป๊ะป๋าขอซบหน่อย

ไม่อยากมีลูกชาย หรือรอคนที่สาม จริงๆ อยากมีลูกกี่คน?
ครูก้อย : ปัญหาหลักอยู่ตรงนี้แหละ ลูกคนที่สามต้องรอดูสถานการณ์คุณแม่ว่ายังไหวมั้ย ถ้าไหวโอเคป๊ะป๋าอยากได้ ใส่ไปเลยตัวอ่อน มันไม่ใช่ขั้นตอนกระตุ้นแล้ว แต่ถ้าดูอายุตอนนี้ครูก้อย 37 ถ้าจะกระตุ้นจะท้องอีก 38 คลอด 39 กว่าเด็กจะโตอีก 2 ปี
เจมส์ : คิดว่าลูกชายเอาไว้คนที่สาม จริงๆ ก็อยากมีสองก่อน แต่ถ้ามีไข่เหลือก็อาจจะเก็บไว้ทำคนที่สามอะไรแบบนี้ครับ

...

น้องเมดาใกล้ 2 ขวบแล้วเป็นยังไงบ้าง ดื้อมั้ย?
เจมส์ : ซนครับ แต่ว่าไม่ดื้อขนาดนั้น
ครูก้อย : บางคนเขาเรียกว่าเป็นวัยทอง 2 ขวบ เมดาไม่ถึงขั้นรุนแรงนะ แต่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อะไรที่ไม่เอา เขาก็บอกเลยว่าเขาไม่เอา

มีอะไรที่เป็นห่วงลูกตรงนี้มั้ย?
ครูก้อย : จริงๆ เมดาค่อนข้างที่จะเรียนรู้เร็ว แต่ว่าเราจะคุยกันในเรื่องของการเลี้ยงดูมากกว่า ว่าเราจะเลี้ยงดูเขาไปในทิศทางไหน เพราะว่าพูดง่ายๆ เขาเกิดมาเขาไม่เคยต้องลำบาก เขามีอาหารดีๆ กินอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ลำบาก ก็นั่งคุยกับพี่เจมส์ให้ชัดว่าต่อไปเราจะเลี้ยงลูกยังไง บางทีการได้มาของเราก็ต้องพยายามในยุคของเรา แต่พอในยุคของเขาเกิดมามันจะสร้างความพยายามให้เขาได้มั้ย ตรงนี้เราต้องฝึกต้องเลี้ยง

ตอนนี้ยังรับมือกับลูกได้สบาย?
ครูก้อย : ตอนนี้ยังไม่มีปัญหา ยังเป็นเด็กๆ ตอนนี้เตรียมไว้ให้เขาตอนเป็นวัยรุ่น เราจะวางแผนให้ลูกเรา ต้องไม่ได้ทุกอย่างง่ายเกินไป ต้องมีความพยายาม ต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่ได้ทุกอย่าง หรือสมหวังทุกอย่าง ต้องมีการผิดพลาด การล้มบ้าง เหมือนเราที่เคยผ่านมาตอนเด็กๆ เราไม่ได้ทุกอย่าง เราต้องพยายาม ต้องเรียนให้เก่ง สอบทุนให้ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้มีเงินให้

...

พอเห็นน้องเมดามีแววด้านไหนบ้าง?
ครูก้อย : ตอนนี้อาจจะยังดูยาก แต่จริงๆ เขาชอบร้องเพลง เหมือนช่วงหลังๆ ชอบเล่นเป็นคุณหมอด้วยนะ ชอบเล่นตรวจคนไข้ ชอบระบายสีก็ชอบ ที่สำคัญชอบอ่านหนังสือ อ่านนิทานของเด็กนี่แหละค่ะ แต่คุณพ่อก็จะซื้อให้เกินนิดหนึ่ง เรื่องจะยาวหน่อย หรือบางทีเป็นความรู้รอบตัว 10 มหัศจรรย์ของโลก เริ่มต้องไปขนาดนั้นแล้ว เพราะเมดาตอนนี้เรียนรู้ทวีปแล้ว เรียนรู้จักรวาลแล้ว ก-ฮ เขาได้ตั้งแต่ 10 เดือนค่ะ
เจมส์ : พันธุ์ไดโนโดเสาร์ เขาท่องได้แล้ว

จะโตกว่าเด็กในวัยเดียวกันมั้ยในเรื่องของการเรียนรู้?
เจมส์ : มันเหมือนกับว่าเรามีกฎเหล็กในบ้านด้วยห้ามดูไอแพด ห้ามดูมือถือ ห้ามดูจอ มันเลยทำให้จินตนาการของเขา ไปมุ่งกับการพูด การคิดด้วยตัวเอง เลยทำให้เขาค่อนข้างไว
ครูก้อย : หลังจากคุยกับหลายๆ คนที่ลูกดูมือถือ จากที่เราสังเกต ส่วนใหญ่เด็กจะไม่พูด แต่เด็กจะฟัง ตอบสนองได้ แต่จะไม่พูด แต่ถ้าเมดาเขาจะพูดตอบโต้เป็นประโยคยาวๆ ได้ เพราะเขาไม่ดูจอ

เขาไม่ดูเลยตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้?
เจมส์ : อยากดูแหละ แต่ไม่ให้ดู
ครูก้อย : ให้หลัง 2 ขวบ ไปก่อนละค่อยๆ ทีละนิดๆ ค่ะ เพราะยังไงสุดท้ายเขาก็ต้องดูอยู่แล้ว อยู่ในโลกของความเป็นจริง แต่ช่วงที่เขายังเป็นเด็ก รักษาความเป็นเด็กตรงนั้นเอาไว้ก่อน

พยายามเลี่ยงไม่ให้ลูกเห็นไอแพด?
ครูก้อย : ใช่ค่ะ คนในครอบครัวของเราที่ลูกอยู่ด้วย เราก็ต้องคุยทุกคนไม่ใช่เฉพาะเรา แบบบางทียายเอาไปเลี้ยง บางคนเปิดทีวีทั้งวันเลย เลี้ยงเด็ก เขาไม่คิดหรอกว่าเด็กจะดู แต่บ้านนี้ทีวีไม่เปิดเลยค่ะ ไม่ว่าจะคุณยาย คุณป้า
เจมส์ : นอกจากเด็กหลับ เปิดเบาๆ ได้ รอบๆ ข้างก็มีส่วน เพราะต้องเลี้ยงไปในทิศทางเดียวกันครับ

ตอนนี้วางแผนการเรียนของลูกยังไงบ้าง?
ครูก้อย : ตอนนี้เมดาไปเรียนคลาสของ Harrow International School ตอนขวบครึ่งเป๊ะ ซึ่งหลายคนบอกยังเด็กมาก แต่จริงๆ เขาไปเรียนรวมกับพ่อแม่ พ่อแม่นั่งอยู่ในคลาสด้วย เหมือนเปลี่ยนที่เล่นจากบ้าน ไปเล่นที่โรงเรียน เพื่อจะเจอเพื่อนๆ และคุณครู เขาจะเก็บคำในวัยขวบครึ่ง เพราะจะเป็นช่วงที่เขาจำภาษา เขาได้ไปอยู่กับ native speaker เขาจะได้ภาษาเร็ว แต่ยังเป็นวัยที่เขายังเด็กนะคะ ไม่ถึงขั้นว่าไปเรียนหรอก ไปเล่นนู่นเล่นนี่ แต่ทุกคนเป็นภาษาอังกฤษ หูเขาได้ยินได้ฟัง เขาไม่ได้มานั่งสอน ABC อะไร ก็คือนั่งพูดกันไปเรื่อยๆ มีกิจกรรมอะไรก็พูด เรียกว่าเป็นการซึมซับมากกว่า

ขอบคุณภาพจากไอจี @natcha_loychusak
ขอบคุณภาพจากไอจี @natcha_loychusak

ปลายปีที่แล้วลงรูปไปกินข้าวกันครบรอบวันหมั้น 5 ปี?
ครูก้อย : ก็ต้องมีสวีตบ้าง ก็ถือโอกาสครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ เพราะลูกเริ่มโตสามารถฝากไว้กับคุณป้าได้ 2 ชม. แล้วก็กลับบ้านก็ไม่เกิน 3 ทุ่ม คุณพ่อคุณแม่ก็เลยวันนี้ครบรอบป๊ะป๋าเลยพาแม่ไปสวีตนิดนึง

ครูก้อยเขียนถึงเจมส์ซึ้งมาก?
ครูก้อย : เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่เขียนถึงพี่เจมส์ มาจากใจเลย ก็เลยไม่อยากเก็บเอาไว้ บางทีมันจะมีฟีลที่แบบมันล้น ต้องระบายออกมา

เจมส์เห็นแล้วรู้สึกยังไง?
เจมส์ : รู้สึกว่าอยากจะปรินต์ออกมา แล้วก็ใส่กรอบเอาไว้ เสร็จแล้วก็เอามาเคลือบติดไว้ในใจของเรา ค่อนข้างรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจ เรามีความรู้สึกว่าบางทีเราก็ไม่ได้คิด ว่าเขาจะรู้สึกกับเราอย่างงั้น แต่ว่าทุกอย่างที่เรากระทำต่อภรรยาเป็นสิ่งที่เราอุทิศ ทุ่มเทให้อย่างเต็มที่ 100% จริงๆ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรหรอก แต่สุดท้ายเขาสื่อสารออกมา เราก็ดีใจครับ.