จากต้นฉบับนิยายภาพ Le Transperceneige ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1982 ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์เมื่อปี 2013 ในชื่อ Snowpiercer ยึดด่วน วันสิ้นโลก ที่กำกับโดย บง จุนโฮ (ผู้กำกับออสการ์จาก Parasite) ที่สร้างกระแสอย่างมากในช่วงที่หนังฉาย โดยเฉพาะกับ “แท่งโปรตีน” เมนูเด็ดของเรื่อง จนมาถึงปี 2020 กับล่าสุดในฉบับซีรีส์ของ Netflix ในชื่อ Snowpiercer หรือในชื่อไทย ปฏิวัติฝ่านรกน้ำแข็ง

Snowpiercer เล่าเรื่องราวโลกอนาคตอันใกล้ เมื่อมนุษยชาติหาทางแก้ไขภาวะโลกร้อน ด้วยการใช้เทคโนโลยีทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง ซึ่งมันได้ แต่แล้วก็เกิดความผิดพลาดอย่างหนัก จนอุณหภูมิของโลกลดลงกลับไปสู่ยุคน้ำแข็งที่ยากจะมีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ ทางรอดเดียวของมนุษยชาติคือ รถไฟขนาดยักษ์ที่สร้างขึ้นโดยวิศวกรปริศนานาม “วิลฟอร์ด” รถไฟขบวนนี้ต้องวิ่งรอบโลก เพื่อคงอุณหภูมิและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตนั้นอยู่รอด
...

แต่นั่นก็เพียงเฉพาะผู้ที่มี “ตั๋ว” ซึ่งผู้จะมีตั๋วได้นั้นก็ต้องมีเงินเป็นปัจจัยสำคัญ แต่เมื่อรถไฟจะออกเดินทาง กลุ่มคนที่ไม่ได้มีตั๋วก็หาทางต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจนขึ้นขบวนได้ในที่สุด รถไฟขบวนนี้จึงกลายสภาพเป็นขบวนรถไฟแห่งมนุษยชาติ ที่มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน ด้านหนึ่งอยู่หัวขบวนที่เป็นคนมีฐานะศักดินา มีกินมีใช้ ชีวิตหรูหราไม่ต่างจากสมัยที่โลกยังปกติอยู่ อีกด้านคนท้ายขบวนกลายสภาพเป็นชนชั้นแรงงาน ขาดทุกสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้ชีวิต อยู่รอดด้วยการทำงานแลกอาหาร ซึ่งนี่ไม่น่าจะใช่ระบบสังคมที่มนุษย์ทุกคนจะพอใจ
เรื่องราวในซีรีส์ Snowpiercer เริ่มต้นขึ้น หลังจากรถไฟขบวนนี้แล่นผ่านกาลเวลามาแล้ว 7 ปี ผ่านมุมมองของตัวละครหลัก 2 คน หนึ่งคือ เมลานี คาวิลล์ ที่รับบทโดย เจนนิเฟอร์ คอนเนลลีย์ ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและผู้จัดการรถไฟ ที่ควบคุมกฎระเบียบต่างๆ อีกคนคือ อังเดร เลย์ตัน (เดวีด ดิกส์) ผู้โดยสารชั้น 3 อดีตตำรวจ ที่ได้รับมอบหมายให้มาเป็นสายสืบรถไฟ ตามสืบคดีฆาตกรรมที่ยังหาตัวคนร้ายไม่ได้

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงพอจะรู้แล้วว่าแก่นของซีรีส์ Snowpiercer คือการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น ซึ่งซีรีส์นี้ยังคงมีชื่อของ บง จุนโฮ นั่งในตำแหน่ง Executive Producer ฉะนั้นหากใครเป็นแฟนหนังมาก่อน วางใจได้เลย อะไรที่เคยเป็นจุดขายในฉบับหนัง ซีรีส์ก็มีไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ซีรีส์เหนือกว่า คือการใช้ประโยชน์ด้านเวลา ทำให้เราได้เห็นระดับความตรึงเครียดของสถานการณ์ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่ในหนังไม่เคยมี ผ่านเรื่องราวการสอบสวนคดีฆาตกรรมที่ถือเป็นรสชาติแปลกใหม่ และใช้ประโยชน์จากส่วนนี้มาขยายและแต่งเติมโลกของ Snowpiercer ฉบับซีรีส์ ให้มีมิติความลึกกว่าฉบับภาพยนตร์ได้อย่างแนบเนียน
...

สำหรับใครที่ดูฉบับซีรีส์เป็นครั้งแรก ต้องบอกเลยว่า คุณคือผู้โชคดี เพราะความไม่รู้อะไรเลย สำหรับซีรีส์นี้ถือว่าสำคัญมาก ทำให้แต่ละฉากแต่ละตอนที่ผ่านไป คนดูจะได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ในการต่อจิ๊กซอว์เรื่องราวที่เกิดขึ้น และหากใครแอบคิดว่า ต้องหาเวลาไปดูฉบับหนังเพื่อจะช่วยให้ทำความเข้าใจฉบับซีรีส์ได้มากขึ้น คำตอบก็คือ ไม่มีความจำเป็น เพราะในรายละเอียดซีรีส์มีให้เกินกว่าหนังไปแล้ว และบางอย่างยังเป็นการตีความใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของ “วิลฟอร์ด” ผู้สร้างรถไฟแห่งมนุษยชาติขบวนนี้ แต่จะเป็นอย่างไร ไปหาคำตอบได้ในซีรีส์เลย

...
ขอเพิ่มรายละเอียดไปอีกนิด นี่ไม่ใช่ซีรีส์ที่ใครก็ดูได้ ภาพความรุนแรง ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาพอสมควร แม้จะมีหลบเลี่ยงอยู่บ้าง แต่ก็ยังปรากฏฉากที่น่ากลัวและสะเทือนอารมณ์อยู่ดี เช่น ฉากจำในหนังที่มีในซีรีส์ด้วย กับบทลงโทษด้วยการให้ยื่นแขนออกไปนอกรถไฟจนกลายเป็นน้ำแข็ง และเอาทุบด้วยค้อนจนแขนแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ ...ใครรู้ตัวว่าไม่พร้อมอย่าฝืน
ในด้านงานออกแบบฉากและสัญลักษณ์ต่างๆ ถือว่าทำได้ในระดับที่น่าพอใจ อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากหนังที่ตีความไว้ได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีอะไรที่แตกต่าง ในส่วนของเทคนิคพิเศษก็จัดว่าอยู่ในระดับมาตรฐานค่อนไปทางสูง และที่ชอบเป็นพิเศษคือ ภาพกว้างที่ให้เราได้เห็นรถไฟที่วิ่งอยู่บนฉากหลังโลกยุคน้ำแข็ง ที่ไม่ได้รู้สึกว่านี่คือรถไฟความหวังเดียวที่จะช่วยให้ทุกคนรอดชีวิต แต่กลับรู้สึกถึงความน่ากลัวราวกับรถไฟสายมรณะ

โดยสรุป ซีรีส์ Snowpiercer ถือว่าสร้างออกมาเป็นที่น่าพอใจ สำหรับคนดูที่เน้นความบันเทิง หนังก็มีให้กับฉากสืบสวนไล่ล่าที่รสชาติไม่เลว หรือไม่ก็สนุกไปกับจินตนาการกับโลกยุคน้ำแข็งที่รถไฟคือ ทางรอดเดียว แต่สำหรับคนที่เป็นแฟนหนังมาก่อนหรือคนที่ชอบการดูไปขบคิดไป ก็น่าจะพอใจกับการต่อสู้ทางชนชั้นที่ค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ Snowpiercer ซีซั่น 1 ซึ่งมีทั้งหมด 10 ตอนนั้น จะมอบบทสรุปแบบใด คนดูจะเดาทางได้หรือไม่ ก่อนจะส่งไม้ต่อไปยัง Snowpiercer ซีซั่น 2 ที่ประกาศสร้างไปแล้ว
...

ชา ตีตั๋วชนโรง