• การแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นระหว่างปี 1950-1990 ก่อนจะสิ้นสุดลงเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และหันมาร่วมมือกันในช่วงหลังปี 2000 จนกระทั่งปีนี้ สองประเทศได้กลับมาแข่งกันอีกหน ผ่านไอเดีย ‘การสร้างภาพยนตร์กลางอวกาศ’

  • โดยฝั่งอเมริกาได้ นาซา (NASA) องค์กรที่รับผิดชอบโครงการอวกาศของสหรัฐฯ, ทอม ครูซ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง และ SpaceX บริษัทเอกชนด้านการขนส่งทางอวกาศของนักธุรกิจแนวหน้าอย่าง อีลอน มัสก์ มาร่วมกันเพื่อสร้างหนังแนวแอ็กชั่นผจญภัยที่น่าจะดุเดือดไม่แพ้ Mission: Impossible

  • ขณะที่ฝั่งรัสเซียก็ได้ Roscosmos องค์กรด้านอวกาศของรัสเซีย และโทรทัศน์ช่อง Channel One มาจับมือกันสร้าง Challenge หนังดราม่าสุดอลังการที่ว่าด้วยแพทย์คนหนึ่งผู้ออกเดินทางไปช่วยชีวิตนักบินอวกาศที่ป่วยหนัก โดยจะแสดงให้เห็นถึงการเดินทางในอวกาศแบบครบถ้วนและสมจริงที่สุด ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่มีทีท่าว่าอาจเสร็จก่อนฝั่งอเมริกาเสียด้วย


การแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นระหว่างปี 1950-1990 ซึ่งประเทศมหาอำนาจทั้งสองได้ระดมทั้งเงินทุน, ทรัพยากร, บุคลากร และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องโครงการอวกาศต่างๆ (เช่น ยานอวกาศ, ดาวเทียม, สถานีอวกาศ, การส่งสิ่งมีชีวิตเดินทางไปในอวกาศ) ซึ่งในท่ามกลางความพยายามเอาชนะคะคานกันเหล่านี้ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงของชาติแล้ว มันยังเป็นการประกาศศักดาให้เห็นถึงความเป็น ‘มหาอำนาจ’ ที่เหนือกว่าอีกประเทศด้วย

แต่การแข่งขันดังกล่าวก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 โดยช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา อเมริกากับรัสเซีย (อดีตสหภาพโซเวียต) ได้หันมาจับมือร่วมกันพัฒนาโครงการอวกาศแทน

จนกระทั่งปีนี้ การแข่งขันทางอวกาศระหว่างสองประเทศได้กลับมาคึกคักอีกหน ซึ่งครั้งนี้เป็นการแข่งขันผ่าน ‘การสร้างภาพยนตร์’ ว่าประเทศไหนจะสามารถสร้างหนังฟิกชั่นขนาดยาวในอวกาศ (ที่ไม่ใช่หนังสารคดี หรือหนังสั้น จากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านอวกาศ) ได้สำเร็จเป็นประเทศแรกกันแน่

...

ฝั่งอเมริกา : NASA x SpaceX x ทอม ครูซ

มีประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2020 ว่า NASA (National Aeronautics and Space Administration) องค์กรที่รับผิดชอบโครงการอวกาศของสหรัฐฯ, ทอม ครูซ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง และ SpaceX บริษัทเอกชนด้านการขนส่งทางอวกาศของนักธุรกิจแนวหน้าอย่าง อีลอน มัสก์ กำลังร่วมมือกันสร้างภาพยนตร์ที่จะถ่ายทำบนสถานีอวกาศนานาชาติ

จิม ไบร์เดนสไตน์
ผู้บริหาร NASA ยืนยันข่าวนี้ผ่านข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาว่า “เราต้องการใช้สื่อที่ได้รับความนิยม ในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรุ่นใหม่ เพื่อให้แผนการอันทะเยอทะยานของ NASA ได้กลายเป็นจริง” และเขายังให้สัมภาษณ์กับ Variety ในเวลาต่อมาด้วยว่า “ตอนผมเป็นเด็ก ผมดูหนังเรื่อง Top Gun (1986) ที่ครูซแสดงนำแล้วทำให้ผมอยากเป็นนักบิน ผมต้องการให้หนังเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจกับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขาสนใจเกี่ยวกับอวกาศเช่นเดียวกับที่ Top Gun สามารถทำได้กับคนรุ่นผม”

โดยหนังเรื่องนี้จะเป็นแนวแอ็กชั่นผจญภัยที่มีฉากใหญ่เกิดขึ้นกลางอวกาศจริงๆ ซึ่งได้ ดัก ไลแมน (Edge of Tomorrow ที่ครูซแสดงนำ) มานั่งแท่นผู้กำกับ และ คริสโตเฟอร์ แมคควอร์รี (ผู้กำกับ/เขียนบท Mission: Impossible ภาค 5-6) มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์และผู้ให้คำปรึกษาด้านเนื้อหา

นอกจากนี้ เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ยังมองว่า ครูซถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะไม่เพียงสถานะการเป็นซูเปอร์สตาร์ที่การันตีความสำเร็จเรื่องรายได้สำหรับหนังฟอร์มใหญ่แล้ว แต่เขายังกล้าเล่นฉากเสี่ยงตายด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่โดยไม่พึ่งสตั๊นต์แมน (เห็นตัวอย่างได้จากหนังชุด Mission: Impossible) นั่นจึงทำให้ครูซเหมาะแก่การรับบทนำในหนังเรื่องนี้ ซึ่งต้องการนักแสดงที่ผ่านการฝึกฝนร่างกายอย่างหนักและสามารถรับมือกับสภาวะเสี่ยงอันตรายในอวกาศได้

ครูซกับไลแมน รวมถึงทีมงานคนอื่นๆ จะเดินทางไปพร้อมกับกระสวยอวกาศ Almanac ในเดือนตุลาคมปีนี้ เพื่อถ่ายทำหนังในช่วงเวลานั้น โดยคาดการณ์ว่าหนังจะใช้ทุนสร้างประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนครูซจะได้ค่าตัวราว 30-60 ล้านเหรียญฯ สำหรับการรับบทนำและเป็นโปรดิวเซอร์ และแม้ในตอนนี้จะยังไม่มีสตูดิโอสำหรับจัดจำหน่ายหนัง แต่ก็มีการเปิดประมูลกันแล้ว ซึ่งสตูดิโอสาย สตรีมมิ่ง เซอร์วิส ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม เนื่องจากผู้สร้างหนังต้องการให้หนังกลายเป็น ‘ประสบการณ์ทางภาพยนตร์’ ที่ต้องดูบนจอใหญ่ๆ ในโรงหนังเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้จะใกล้กำหนดถ่ายทำเต็มที แต่กลับยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าของหนังเรื่องนี้มากเท่าที่ควร เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูซยังติดภารกิจถ่ายทำหนัง Mission: Impossible ภาค 7 อยู่ ซึ่งระหว่างนี้ความหวังของการเป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำในอวกาศจริง ก็ได้ถูกท้าทายจาก ‘คู่แข่ง’ ที่กำลังเดินหน้าอย่างเต็มสูบเพื่อแย่งชิงสถิตินี้เช่นกัน

ทอม ครูซ กับบทนักบินอวกาศใน Oblivion (2013)
ทอม ครูซ กับบทนักบินอวกาศใน Oblivion (2013)


ฝั่งรัสเซีย : Roscosmos x Channel One


รัสเซียได้ประกาศโปรเจกต์หนังที่จะถ่ายทำในอวกาศเมื่อเดือนกันยายน 2020 ซึ่งช้ากว่าฝั่งอเมริกา 3 เดือน แต่โปรเจกต์ของรัสเซียกลับมีความคืบหน้ามากกว่า และมีแนวโน้มที่จะสร้างเสร็จและออกฉายก่อนหนังทางฝั่งอเมริกาเสียด้วย

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นมาจากไอเดียของ ดิมิทรี โดโกซิน ผู้บริหาร Roscosmos องค์กรด้านอวกาศของรัสเซีย โดยเจ้าตัวกล่าวว่า “หนังมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้กิจกรรมทางอวกาศของรัสเซียได้รับความนิยมมากขึ้น และเพื่อเชิดชูผู้คนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอวกาศ” ซึ่งทางองค์กรได้จับมือกับ Channel One เครือข่ายสื่อโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของรัสเซียเพื่อผลักดันโปรเจกต์นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังมีการแถลงเพิ่มเติมด้วยว่า หนังเรื่องนี้จะมีชื่อว่า Challenge (Vyzov) และจะกำกับโดย คลิม เชเพนโก ผู้เคยกำกับหนังอวกาศยอดฮิตเรื่อง Salyut 7 (2017) ส่วนผู้รับบทนำจะได้แก่ ยูลิอา เพเรซิลด์ นักแสดงหญิงวัย 36 ปี ที่โด่งดังมาจากหนังสงครามอย่าง Battle for Sevastopol (2015) โดยเธอเอาชนะคู่แข่งคนอื่นๆ ที่มาแคสติ้งนับร้อยคนได้ เนื่องจากความสามารถทางการแสดงและสภาพร่างกายที่แข็งแรงมากพอ เหตุเพราะต้องเข้าร่วมฝึกในหลักสูตรนักบินอวกาศอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับผู้กำกับและทีมงาน

การฝึกซ้อมดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน และเบื้องหลังการฝึกของพวกเขาจะกลายเป็นสารคดีสำหรับออกอากาศทางทีวีช่อง Channel One ด้วย ซึ่งพวกเขาจะต้องเดินทางไปยังสถานีอวกาศด้วยยาน Soyuz MS-19 ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึง (อันเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับทีมงานหนังฝั่งอเมริกา) โดยใช้เวลาถ่ายทำนานหนึ่งสัปดาห์ ก่อนเดินทางกลับโลกด้วยยาน MS-18 ในทันที

คอนสแตนติน เอิร์นส์
ผู้บริหาร Channel One ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าว RIA ของรัสเซีย เมื่อเดือนกันยายน 2020 ว่า หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังไซ-ไฟ หรือหนังแอ็กชั่น แต่เป็นหนังดราม่าที่เล่าเรื่องราวของแพทย์คนหนึ่งผู้ออกเดินทางไปผ่าตัดนักบินอวกาศที่ป่วยเกินกว่าจะกลับมายังโลกได้ ซึ่งหนังจะแสดงให้เห็นถึงการเดินทางในอวกาศแบบครบถ้วนและสมจริงที่สุด

...

จาก ‘พันธมิตร’ หวนคืนสู่ ‘คู่แข่ง’ อีกครา

ด้วยความที่โปรเจกต์หนังฝั่งรัสเซียคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สุดท้ายแล้ว โปรเจกต์ที่ประกาศสร้างทีหลังนี้ อาจสร้างเสร็จและได้ออกฉายก่อน ซึ่งก็ชวนให้คิดถึงบรรยากาศในช่วงสงครามเย็นยุค 60 ที่รัสเซียสามารถแซงหน้าอเมริกาโดยการส่งมนุษย์คนแรก (ยูริ กาการิน) ขึ้นไปบนอวกาศได้

และเมื่อการแข่งขัน Space Race 2021 นี้เกิดขึ้นในบริบทที่ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับรัสเซียกำลังมีความตึงเครียด มันจึงยิ่งส่งผลให้รัสเซียมีแนวโน้มจะยุติความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อ NASA ของอเมริกาในการร่วมมือในโครงการอวกาศต่างๆ (อาทิ การเดินทางสำรวจอวกาศ, การสร้างสถานีอวกาศ) ที่เคยมีมาตลอด 20 ปี แล้วเปลี่ยนไปสร้างความร่วมมือกับจีนแทน

นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า ‘อวกาศ’ ไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเกี่ยวพันกับการแข่งขันทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงระหว่างสื่อบันเทิงระดับชาติอย่างแยกไม่ออกด้วย.


อ้างอิง: SlashFilm, NBC News, LRM, Deadline, NME, IndieWire, Variety

...