• หากพูดถึงงานประกาศรางวัลสำหรับคนในวงการบันเทิงของเกาหลีใต้ ชื่อของ Baeksang Arts Awards หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘แพ็กซัง’ คงผุดขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ เพราะมันคืองานมอบรางวัลที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด โดยจัดกันมาตั้งแต่ปี 1965 เป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

  • แพ็กซังจะถูกแบ่งออกเป็นสาย ‘ภาพยนตร์’ และ ‘โทรทัศน์’ โดยรางวัลสายโทรทัศน์จะคัดเลือกผู้เข้าชิงที่มีผลงานในรอบปฏิทินแพ็กซังจากทุกช่อง ทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวี รวมถึงปีที่ผ่านมาก็ยังเปิดโอกาสให้สตรีมมิง เซอร์วิสอย่าง Netflix เข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรกด้วย โดยมีรางวัลสูงสุดคือ แดซัง (Daesang หรือก็คือ Grand Prize) ที่จะถูกมอบเป็นลำดับสุดท้ายของงาน

  • สำหรับงานแพ็กซัง ครั้งที่ 57 จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ เวลา 21.00 น. (เวลาเกาหลี) หรือ 19.00 น. (เวลาไทย) ถ่ายทอดสดผ่านช่อง JTBC

Vincenzo
Vincenzo

...


หากพูดถึงงานประกาศรางวัลสำหรับคนในวงการโทรทัศน์ หลายคนคงนึกถึง Emmy Awards ของสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ราวกับ ‘ออสการ์สายทีวี’ ส่วนทางฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นมีรางวัลสายทีวีที่น่าเลื่อมใสอย่าง Elan d'or Awards และจีนก็มีรางวัลสายทีวีที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลอย่าง China TV Flying Apsaras ขณะที่ในไทย เราคงนึกไปถึงรางวัลอย่าง ‘โทรทัศน์ทองคำ’ และ ‘นาฏราช’

ในฟากฝั่งเกาหลีใต้ คนที่ติดตามวงการบันเทิง ทั้งแฟชั่น, เพลง, หนัง และซีรีส์มานาน อาจยังไม่รู้ว่า Baeksang Arts Awards หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘แพ็กซัง’ คืองานประกาศรางวัลของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด โดยจัดกันมาตั้งแต่ปี 1965 เป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การมอบรางวัลนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสาย ‘ภาพยนตร์’ และ ‘โทรทัศน์’ (ที่รวมทั้งซีรีส์และวาไรตี้โชว์) ซึ่งหากว่ากันด้วยเวทีรางวัลสัญชาติเกาหลีในสายภาพยนตร์ ก็ยังมีเวทีเฉพาะทางที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลังและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอย่าง Grand Bell Awards และ Blue Dragon Film Awards ซึ่งมีการแบ่งสาขาครอบคลุมทุกส่วนการทำงานที่ใกล้เคียงกับรางวัลออสการ์ จึงทำให้สายภาพยนตร์ในแพ็กซังอาจไม่เป็นที่น่าสนใจมากเท่ากับสาย ‘โทรทัศน์’

สำหรับรางวัลในสายโทรทัศน์จะเป็นการคัดเลือก ‘ผู้เข้าชิง’ ที่มีผลงานในรอบปฏิทินแพ็กซังจากทุกช่อง ทั้งฟรีทีวี (อาทิ MBC, SBS, KBS) และเคเบิลทีวี (อาทิ tvN, JTBC, OCN, MBN, Channel A, TV Chosun) รวมถึงปีที่ผ่านมาก็ยังเปิดโอกาสให้สตรีมมิง เซอร์วิสอย่าง Netflix เข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรกด้วย โดยรางวัลที่มอบกันในแต่ละปีจะมีจำนวนที่ไม่แน่นอน และวนเวียนอยู่ระหว่าง 15-22 รางวัล เนื่องจากมีการเพิ่มหรือลดสาขาอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น รางวัล ‘ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ ที่ถูกยกเลิกไปเมื่อ 10 ปีก่อน, รางวัล ‘เพลงประกอบยอดเยี่ยม’ ที่มีเพียงครั้งเดียว และถูกยกเลิกไปในแพ็กซังครั้งที่ 50, รางวัล ‘นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม’ ที่เพิ่งมอบกันมาแค่ 3 ปี เช่นเดียวกับรางวัลด้านเทคนิค ส่วนรางวัลที่ยังคงไว้เสมอมาก็เช่น ‘ซีรีส์ยอดเยี่ยม’, ‘บทยอดเยี่ยม’, ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’, ‘นักแสดงนำชาย/หญิงยอดเยี่ยม’ และ ‘นักแสดงหน้าใหม่ชาย/หญิงยอดเยี่ยม’

โดยมีรางวัลสูงสุดคือ แดซัง (Daesang หรือก็คือ Grand Prize) ที่จะถูกมอบเป็นลำดับสุดท้ายของงาน

สำหรับรางวัลแดซังของแพ็กซังจะมีเกณฑ์ในการเลือกผู้ชนะที่พิเศษกว่าหลายๆ เวที ทั้ง Seoul International Drama Awards ที่มอบให้เฉพาะตัวซีรีส์, APAN Star Awards ที่มอบให้เฉพาะนักแสดง หรือรางวัลประจำปีของช่อง SBS, KBS และ MBC ที่จะมอบให้เฉพาะนักแสดงเช่นกัน แต่รางวัลนี้ของแพ็กซังจะให้สิทธิ์ครอบคลุม ‘ทุกภาคส่วน’ ในสายงานโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์, นักแสดง, ผู้กำกับ, ผู้เขียนบท, โปรดิวเซอร์ หรือทีมงานเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ที่ไม่ว่าจะมาจากฝั่งซีรีส์ หรือวาไรตี้ ทุกคนต่างก็มีโอกาสได้รับรางวัลนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

Descendants of the Sun
Descendants of the Sun


ในอดีต มีซีรีส์ที่เคยพิชิตรางวัลนี้ไป ได้แก่ Deep Rooted Tree (SBS/2011), Descendants of the Sun (KBS/2016) และ Stranger (tvN/2017) ที่ไม่เพียงได้รับการยอมรับแค่ในประเทศเท่านั้น แต่บางเรื่องยังโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่แพ็กซังครั้งที่ 57 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดนี้ ก็มีผลงานระดับปรากฏการณ์อย่าง It's Okay to Not Be Okay (tvN/2020) ซีรีส์ที่ใช้เอกลักษณ์ของความโรแมนติก/ดราม่าสไตล์เกาหลี ผนวกเข้ากับแง่มุมด้านจิตเวช เจาะลึกตัวตนของผู้ป่วยแต่ละประเภท พร้อมงานเทคนิคและโปรดักชั่นชั้นเลิศ จนไปเตะตานักวิจารณ์ของ The New York Times และถูกจับเข้าทำเนียบซีรีส์ยอดเยี่ยมแห่งปี

...

นับเป็นครั้งที่ 2 ของซีรีส์เกาหลีที่ได้เข้าไปอยู่ในลิสต์นี้ ถัดจาก Stranger ในปี 2017 อีกทั้งยังเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องที่ 2 ต่อจาก Crash Landing on You (tvN/2019) ที่สามารถติดอันดับใน 250 ซีรีส์ยอดเยี่ยมบนเว็บ IMDb ได้ (ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 183) และในปีที่ผ่านมาก็ยังถูกบันทึกว่าเป็นซีรีส์เกาหลีที่มีผู้ชมทั่วโลกรับชมผ่าน Netflix มากที่สุดด้วย ซึ่งก็คงต้องมาดูกันว่าการส่งต่อทางวัฒนธรรมครั้งนี้ จะยิ่งใหญ่พอที่จะคว้ารางวัลสูงสุดของแพ็กซังไปหรือไม่

ขณะที่ ซีรีส์ยอดเยี่ยม (Best Drama) อันเป็นรางวัลที่ใหญ่รองลงมาจากแดซังนั้น จะมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าชิงทั้ง 5 เรื่อง จากผลงานที่ถูกเผยแพร่ในรอบปฏิทินแพ็กซังเช่นกัน (ซึ่งจะตัดรายชื่อผู้เข้าชิงในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี) โดยเกณฑ์การคัดเลือกจะแตกต่างไปในแต่ละยุค อย่างเช่น ช่วงศตวรรษที่ 20 จะแข่งกันเฉพาะ 3 ช่องฟรีทีวียักษ์ใหญ่ KBS, MBC และ SBS จนกระทั่งในแพ็กซังครั้งที่ 49 ที่มีผลงานจากช่องเคเบิล How Long I've Kissed (JTBC/2012) หลุดเข้ามาชิงเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น แพ็กซังจึงกลายมาเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างสำหรับผลงานทั้งในฟรีทีวีและเคเบิลทีวี เพียงแต่ยังมีความพยายามในการจำกัดโควตาให้เข้าชิงสาขานี้ได้ไม่เกินช่องละ 2 เรื่อง

จนมาถึงแพ็กซังครั้งที่ 56 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อ Kingdom 2 ผลงานจาก Netflix ติดโผเข้าชิงด้วยเป็นครั้งแรก รวมถึงปีล่าสุด แพ็กซังครั้งที่ 57 ที่ช่องเคเบิล tvN ได้สร้างสถิติใหม่ โดยเป็นครั้งแรกที่มีผลงานจากช่องเคเบิลเดียวกันติดโผเข้าชิงถึง 3 เรื่อง ซึ่งหากนับรวมฟรีทีวี ก็คงต้องย้อนกลับไปอย่างน้อย 16 ปี ที่มีผลงานจากช่องเดียวกันสามารถเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมได้ถึง 3 เรื่อง

...

Stranger
Stranger


ส่วนเกณฑ์ชี้วัดหรือแนวทางการคัดเลือกว่าซีรีส์เรื่องไหนจะได้เข้าชิงนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ คุณภาพ, เนื้อหา, เรตติ้ง โดยเฉพาะช่วงจังหวะการปล่อยผลงาน ที่สะท้อนเป็นนัยออกมาผ่านข้อมูลเชิงสถิติ ว่าการตัดรายชื่อผู้เข้าชิงในช่วงเดือนเมษายนนั้น มักทำให้กลุ่มซีรีส์ที่ออนแอร์ช่วงมกราคมถึงเมษายนมีความได้เปรียบพอสมควร เพราะกรรมการจะรู้สึกถึงความสดใหม่และอินมากกว่าเรื่องที่ดูจบไปนานแล้ว คล้ายกับที่บรรดา ‘หนังอยากชิงออสการ์’ ที่มีเนื้อหาและบริบทที่กรรมการชื่นชอบทั้งหลาย มักจงใจเข้าฉายในช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม เพื่อให้เป็นที่เพ่งเล็งและผ่านคุณสมบัติการเข้าชิงออสการ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งในแพ็กซัง 5 ปีหลังมานี้ มีซีรีส์ที่ออนแอร์ในช่วงเวลาดังกล่าวและผ่านเข้าชิงได้ถึง 16 เรื่อง หรือคิดเป็น 64% ที่สำคัญมีถึง 3 เรื่อง ที่เข้าป้ายผู้ชนะซีรีส์ยอดเยี่ยมในช่วง 5 ปีหลังสุด ได้แก่ Signal (tvN/2016), Mother (tvN/2018) และ Hot Stove League (SBS/2019)

...

เรตติ้งโทรทัศน์ หรือ ‘ตัวบ่งชี้ความนิยม’ ของผู้ชมในเกาหลี ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ซีรีส์เข้าชิงสาขานี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเด่นชัดเกิดในแพ็กซังครั้งที่ 54 ที่โดยปกติผลงานที่ได้เข้าชิงควบคู่ทั้งสาขาบทและกำกับ แทบจะการันตีการเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม ยกเว้นกรณีของซีรีส์อย่าง Prison Playbook (tvN/2017) ที่ทำเรตติ้งสูงสุด 11.19% และเฉลี่ยอยู่ที่ 7.56% กับ The Lady in Dignity (JTBC/2017) ที่ทำเรตติ้งสูงสุด 12.06% และเฉลี่ยที่ 6.59% ซึ่งการทำเรตติ้งด้วยเลข 2 หลักถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากสำหรับช่องเคเบิล

ทั้งคู่ต่างเข้าชิงสาขาบทและกำกับ แต่กลับพลาดโควตาสุดท้ายในสาขาซีรีส์ยอดเยี่ยมให้กับ My Golden Life (KBS/2017) ผลงานทางฟรีทีวีที่โกยเรตติ้งถล่มทลายประจำปี ทำเรตติ้งสูงสุดที่ 45.1% และเฉลี่ย 34.8% ซึ่งแม้จะพลาดการเข้าชิงทั้งบทและกำกับ แต่ความเป็นซีรีส์ขวัญใจมหาชน พร้อมพลังขับเคลื่อนของทีมนักแสดงนำ ก็เพียงพอที่จะส่งให้เรื่องนี้เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ เช่นเดียวกับในแพ็กซังครั้งที่ 53 ระหว่างคู่ของ Another Miss Oh (tvN/2016) และ Love in the Moonlight (KBS/2016) ที่ก็มีบริบทที่คล้ายคลึงกัน

My Mister
My Mister
Extracurricular
Extracurricular


ส่วนแพ็กซังครั้งที่ 57 นี้มาพร้อมการประกาศศักดาของช่องเคเบิล เมื่อ tvN กลายเป็นเคเบิลช่องแรกที่ติดโผเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมในปีเดียวกันถึง 3 เรื่อง ได้แก่ It's Okay to Not Be Okay (tvN/2020), Flower of Evil (tvN/2020) และ My Unfamiliar Family (tvN/2020) อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่ไม่มีผลงานจากช่องฟรีทีวีติดโผเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมแม้แต่เรื่องเดียว ที่เหลือเป็นผลงานจากเคเบิลอย่าง Beyond Evil (JTBC/2021) และผลงานจากสตรีมมิง Netflix ที่เข้าชิงเป็นปีที่สองติดต่อกันอย่าง Extracurricular (Netflix/2020) ซึ่งเมื่อเทียบเคียงผู้เข้าชิงทั้ง 5 เรื่อง กับสถิติผู้ชนะในระยะหลังอย่าง My Mister (ปี 2019), Mother (ปี 2018), Dear My Friends (ปี 2017) ที่เป็นกลุ่มซีรีส์น้ำดี พร้อมสารจรรโลงสังคม เหมาะกับผู้ชมทุกวัย ตัวเลือกผู้ชนะที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็น My Unfamiliar Family

อย่างไรก็ดี ทุกเรื่องยังมีความเป็นไปได้ที่จะชนะ เพราะผู้เข้าชิงที่เหลือก็ต่างมีคุณภาพและมีเอกลักษณ์โดดเด่นในแบบของตัวเอง

Beyond Evil
Beyond Evil
My Unfamiliar Family
My Unfamiliar Family


มาดูที่สาขา บทยอดเยี่ยม (Best Screenplay) และ ผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director) อันเป็น 2 หัวใจหลัก ที่ต้องทำงานสอดประสานและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการชี้วัดคุณภาพของผลงาน ซึ่งในเวทีระดับโลกมักให้ความสำคัญกับ 2 สาขานี้มากเป็นพิเศษ อย่างในออสการ์ ผลงานที่จะคว้าหนังยอดเยี่ยมต้องชนะอย่างน้อย 1 สาขา ไม่จากบท (บทดั้งเดิม/บทดัดแปลง) ก็การกำกับ ส่วนแพ็กซังนั้น ตลอด 10 ปีหลังสุด มีผู้เข้าชิงสาขาบทหรือกำกับ ที่มาจากผลงานที่ได้เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมในสัดส่วนที่เท่ากัน 38 เรื่อง หรือสูงถึง 76% แถมผู้ชนะสาขาบทก็มาจากซีรีส์ที่คว้าแดซัง หรือซีรีส์ยอดเยี่ยม จำนวน 8 เรื่อง เรียกว่าถ้าเรื่องไหนเป็นผู้ชนะสาขาบท ก็มีโอกาสสูงมากที่จะคว้า 1 ใน 2 รางวัลใหญ่ที่จะถูกประกาศในลำดับถัดไป แต่สำหรับสาขาผู้กำกับจะมีเกณฑ์การให้รางวัลที่ต่างออกไป เน้นกระจายรางวัลให้ครอบคลุม เพราะตั้งแต่แพ็กซังครั้งที่ 36 ที่ซีรีส์ Kuk-hee คว้าแดซังควบคู่กับสาขากำกับ จนปัจจุบันผ่านมา 20 ปี ก็ยังไม่เคยมีผลงานที่คว้าแดซัง หรือซีรีส์ยอดเยี่ยม ที่ชนะสาขากำกับอีกเลย คงต้องมาดูกันว่าในแพ็กซังครั้งที่ 57 สถิติดังกล่าวจะยังอยู่หรือไม่

ขณะที่สาขาทางการแสดง โดยเฉพาะ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor) และ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนซีรีส์ เพียงแต่การแสดงที่ดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในซีรีส์ที่ยอดเยี่ยมเสมอไป เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าชิงจึงแยกเป็นเอกเทศ ซึ่งในแพ็กซังตลอด 10 ปีหลังสุด มีผู้เข้าชิงสาขานำชายและนำหญิงที่มาจากผลงานที่เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมคิดเป็น 66% และ 56% ตามลำดับ ขณะเดียวกันเมื่อมวลรวมของซีรีส์ออกมายอดเยี่ยม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟันเฟืองชิ้นต่างๆ จะถูกให้ความสำคัญและถูกยกย่องด้วยตัวรางวัล

Flower of Evil
Flower of Evil


แน่นอนว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ผู้ชนะนำชายและนำหญิงที่มาจากผลงานเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม จึงเป็นที่ประจักษ์ในสัดส่วน 90% และ 70% ตามลำดับ ซึ่งแพ็กซังครั้งที่ 57 นำชายที่มาจากผลงานเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม มีด้วยกันถึง 3 คน คือ อีจุนกิ (Flower of Evil), ชินฮาคยุน (Beyond Evil) และ คิมซูฮยอน (It's Okay to Not Be Okay) ส่วนอีก 2 คนที่เหลือ คือ ซงจุงกิ (Vincenzo) และ ออมกีจุน (The Penthouse: War in Life) เรียกว่าอัดแน่นด้วยคุณภาพทุกตำแหน่ง ยากต่อการคาดเดาผู้ชนะ เพียงแต่ อีจุนกิ และ ชินฮาคยุน อาจถูกจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยทักษะการแสดงที่ต้องถ่ายทอดมิติอันซับซ้อนทางอารมณ์ออกมามากกว่าคู่แข่งอีกสามคน

Mr. Queen
Mr. Queen


ขณะที่นำหญิงก็เข้มข้นไม่แพ้กัน แม้จะมีนักแสดงที่มาจากผลงานเข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมเพียงคนเดียวคือ ซอเยจี (It's Okay to Not Be Okay) แต่อีก 4 คนที่เหลือก็มีความโดดเด่นในบทบาทของตัวเอง และมีโอกาสชนะได้เท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ชินฮเยซอน (Mr. Queen), คิมโซฮยอน (River Where the Moon Rises), คิมโซยอน (The Penthouse: War in Life) และ ออมจีวอน (Birthcare Center)

โอจองเซใน It's Okay to Not Be Okay
โอจองเซใน It's Okay to Not Be Okay


ส่วนสาขาอื่นๆ ที่น่าสนใจก็ได้แก่ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor) ที่ โอจองเซ กำลังลุ้นทำสถิติคว้ารางวัลนี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จากบทพี่ชายออทิสติกใน It's Okay to Not Be Okay โดยปีที่แล้วเขาชนะรางวัลนี้จากบทช่างทำแว่นตาหน่ายเมียใน When the Camellia Blooms (KBS/2019) ขณะที่สาขานักแสดงยอดนิยมที่เปิดให้ผู้ชมโหวตผ่านแอป TikTok ก็ยังเปิดกว้างสำหรับตำแหน่งผู้ชนะด้วยเช่นกัน

อนึ่ง ในสาขา TikTok Popularity Star หรือ ดารายอดนิยม ที่เปิดให้ผู้ชมโหวตผ่านแอป TikTok และเพิ่งได้ผลผู้ชนะไปเมื่อคืน ได้แก่ คิมซอนโฮ (Start-Up) ในฝ่ายชาย และ ซอเยจี (It's Okay to Not Be Okay) ในฝ่ายหญิง 

งานแพ็กซังปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 57 จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 21.00 น. (เวลาเกาหลี) หรือ 19.00 น. (เวลาไทย) ถ่ายทอดสดผ่านช่อง JTBC ...ใครที่ชื่นชอบผลงาน หรือนักแสดงคนไหน ก็ไปตามลุ้นและให้กำลังใจกันได้.

คิมซอนโฮ จาก Start-Up หนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คู่แข่งของโอจองเซ
คิมซอนโฮ จาก Start-Up หนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม คู่แข่งของโอจองเซ


อ้างอิง: Wikipedia, IMDb, baeksangawards.co.kr