
กสร. เปิดเวทีแสดงความเห็นแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม มาตรฐานสากล ตั้งเป้าปี 60 มีผลบังคับใช้ พร้อมเตรียมพิจารณาการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้มากยิ่งขึ้น...
วันที่ 21 ก.พ. 60 นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาไตรภาคี เพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ.....ว่า การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยการปรับแก้กฎหมายมีสาระสำคัญ เช่น การปรับเพิ่มอัตราค่าปรับกรณีนายจ้างเบี้ยวจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า กรณีเลิกจ้างหรือปิดกิจการ, หญิงมีครรภ์สามารถมีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ได้เพื่อให้เกิดความชัดเจน, กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน, กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน รวมทั้งการกำหนดเรื่องการย้ายสถานที่ทำงาน หากลูกจ้างไม่ยอม เพราะส่งผลกระทบจะถือเป็นการเลิกจ้าง ตั้งเป้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 60
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ กสร. พิจารณา ในเรื่องของการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้มากยิ่งขึ้น หวังว่าในอนาคตจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ควบคู่กับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งการออกกฎหมายจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะแรงงานในกลุ่มนี้มีการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มงานภาคการเกษตร และกลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น.