
กระแสวิจารณ์กรณี “กล้องวงจรปิดพิการ” ไม่สามารถใช้งานได้จริง
กลายเป็นอุปสรรคในการติดตามคลี่คลายคดีอาชญากรรมบนโลกยุคปัจจุบัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งานของระบบกล้องโทรทัศน์ วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นฐานข้อมูลตลอดจนวิเคราะห์และกำหนดจุดเสี่ยง หรือจุดสำคัญที่มีความจำเป็นในการติดตั้ง
ส่วนของพื้นที่เมืองหลวง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.มอบให้ พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง ผบช.น. รับผิดชอบสำรวจ จุดเสี่ยง จุดล่อแหลม จุดสำคัญในเรื่องความมั่นคง พร้อมสำรวจกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของภาคเอกชนที่ติดตั้งและหันไปในทิศทางที่เป็นพื้นที่สาธารณะ
กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 ก.พ.2560
พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ เรียกประชุมคณะทำงานสำรวจกล้องวงจรปิด ระดมสารวัตรสืบสวน 88 โรงพักทั่วกรุง ขับเคลื่อนตามแผนนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพในงานตำรวจ
ผลสำรวจพบกล้องของตำรวจกว่า 3,000 ตัว กล้องของเอกชนที่หันหาพื้นที่สาธารณะราว 10,000 ตัว และของกรุงเทพมหานครประมาณ 50,000 ตัว
ตำรวจสามารถเชื่อมต่อเข้าดูภาพได้ทันทีกว่า 13,000 ตัว ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนหารือ
ส่วนจุดเสี่ยงที่จำเป็นต้องติดกล้องวงจรปิดมีความละเอียดสูง เป็น “กล้องอินฟราเรด” มองเห็นในที่มืดได้ชัดเจนเพิ่มอีก 393 จุด
ทั้งหมดอยู่ในมิติด้านการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุ มิติด้านความมั่นคง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย
ช่วยยกระดับ ความปลอดภัยของประชาชน และ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ลบข้อครหา “กล้องดัมมี่” หรือกล้องเสีย คุณภาพไม่ชัด ตั้งจุดไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เอกชนปฏิเสธให้ความร่วมมือ เล่นบทยืดเยื้อล่าช้า ปล่อยเวลาผ่านไปจนยากจะย้อนบันทึกภาพเก่ามาดูจนเป็น “รูโหว่” เปิดช่องผู้กระทำความผิดลอยนวล
ที่ตำรวจร้องคร่ำครวญถึงปัญหาการทำงานมานาน.
สหบาท