นโยบายนายกรัฐมนตรี มุ่งเน้น เป้าสำคัญในการพัฒนา “เด็กอาชีวะ”...“ให้คนทำงานได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น”

กระทรวงแรงงาน พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งขานรับกำหนดให้การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้มีมาตรฐานสากล พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

นอกเหนือจากฝีมือ ทักษะที่เพิ่มมากขึ้น ผลปลายทางที่จะตามมาประการสำคัญก็คือ “อัตราค่าจ้าง” ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

ความคืบหน้าในวันนี้ประกาศแล้ว 67 สาขา โดยอัตราค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 320 บาทต่อวัน และสูงสุด 815 บาทต่อวัน โดยเฉพาะมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ

“ส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทัดเทียมระดับสากลได้อย่างมีคุณภาพ”

พลเอก ศิริชัย บอกอีกว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกระบวนการพัฒนาทักษะเด็กอาชีวะ ทั้งการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมกันไปด้วยเพื่อมีความพร้อมก่อนทำงาน

ที่ผ่านมา กพร.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งแต่ปี 2557 ใน 5 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก...เป็นการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. ปวส. ปีสุดท้าย เพื่อฝึกอบรมภาคปฏิบัติในด้านทักษะฝีมือ

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2559 มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 1,822 คน

ประเด็นที่สอง...การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. และ ปวส. ปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 มีผู้ผ่านการทดสอบ 12,681 คน ประเด็นที่สาม...หน่วยงานของ สอศ.ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 166 แห่ง จำนวน 48 สาขา เพื่อ
ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. ปวส. และประชาชนทั่วไป

...

ประเด็นที่สี่...กพร.ร่วมเป็นคณะทำงานของ สอศ.ในการนำมาตรฐาน ฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร สาขาช่างซ่อมรถยนต์ สาขาช่างเชื่อมแม็ก และสาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ ไปปรับเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และได้รับการจ้างงานในตลาดแรงงาน

และ ประเด็นสุดท้าย...การให้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานกับสถานประกอบการที่รับนักศึกษา ปวช.เข้าฝึกงาน รวมทั้งการฝึกอบรมหลักสูตรการสอนงานให้กับครูฝึก ในสถานประกอบการในโครงการทวิภาคี

น่าสนใจว่า...ค่าใช้จ่ายในการฝึกงานให้กับนักศึกษาเหล่านี้ สามารถนำมาขอรับรองกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อใช้หักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 100 ก่อนนำไปคำนวณภาษีได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กพร.ได้ร่วมเป็นคณะทำงานของ สอศ.ในการนำมาตรฐาน ฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร สาขาช่างซ่อมรถยนต์ สาขาช่างเชื่อมแม็ก และสาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ ไปปรับเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของ สอศ.ให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน

“เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และได้รับการจ้างงานในตลาดแรงงานด้วย”

โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่ตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 มีการจัดอบรมเด็กอาชีวะเพิ่มทักษะก่อนจบการศึกษาไปแล้วกว่า 800 คน และมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติอีกกว่า 700 คน

พุ่งเป้าไปที่...สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานวันละไม่ต่ำกว่า 400 บาท และมีอีกหลายสาขา ที่มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

อาทิ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ช่างฉาบปูน อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฯ ...ระดับ 1 อยู่ที่ 385 บาทต่อวัน ช่างเชื่อมทิก อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฯ ...ระดับ 1 อยู่ที่ 455 บาทต่อวัน ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ช่างเชื่อมท่อพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฯ ...ระดับ 1 อยู่ที่ 460 บาทต่อวัน ส่วนช่างเชื่อม
แม็ก และช่างประกอบท่อ จะมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฯ...ระดับ 1 อยู่ที่ 400 บาทต่อวัน เป็นต้น

ธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา กพร.ได้เห็นชอบรับรองรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกให้สถานประกอบกิจการที่มีการรับนักศึกษาเข้าทำงาน นำไปใช้ในการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

“การนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการฝึกอบรม สามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ประจำปีเพิ่มเติมในอัตราร้อยละร้อย จำนวนสถานประกอบกิจการ 84 แห่ง จำนวนหลักสูตร 99 หลักสูตร จำนวนนักศึกษาเข้ารับการฝึก 1,773 คน คิดเป็นสิทธิประโยชน์ประมาณ 145 ล้านบาท และเมื่ออบรมเสร็จแล้ว ทุกคนล้วนมีงานทำที่มั่นคงด้วย”

ธีรพล ฝากประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ผู้สนใจทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทุกๆสาขา สามารถติดต่อทดสอบได้ ณ สถาบัน...สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2245-4837 หรือ 0-2245-4035

“ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” โมเดลใหม่ปฏิรูป เศรษฐกิจประเทศ มุ่งการพัฒนาไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน”

ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไก “ประชารัฐ”

อุตสาหกรรมยุคใหม่ ต้นน้ำ...กลางน้ำ...ปลายน้ำ ต้องรวบมาอยู่ในมือเรามากขึ้น โดยอาศัยนวัตกรรม การเพิ่มผลิตภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น บนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

...

นี่คือหัวใจของ “การพัฒนาอุตสาหกรรมยุค 4.0”

แน่นอนว่าการพัฒนา “ฝีมือแรงงาน” ให้พร้อมรับมือกับ “กระแสภาคอุตสาหกรรม” ที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งจำเป็น และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบาย ชัดเจน มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะของนักศึกษาในทุกระดับ ทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและตอบสนองนโยบายในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ท่ามกลางภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

ปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง สร้างหนทางพัฒนาประเทศให้เจริญ สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว...รุนแรงในศตวรรษที่ 21 ได้

“ประเทศไทย 4.0” ทุกองคาพยพจำเป็นต้องเดินหน้าไปพร้อมๆกัน อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าตกขบวนแล้ว ไม่รู้อีกนานแค่ไหนจะก้าวทันโลก...อนาคตชาติไทยคงต้องฝากไว้กับลูกหลานไทยในวันนี้.