นักวิจัย 3 สถาบัน เจ๋ง ร่วมคิดค้นนวัตกรรม “PMK Glasses Navigator” แว่นตานำทางให้ผู้ป่วยทางสายตา นำร่องใช้กับทหารใต้ที่ได้รับบาดเจ็บจนสูญเสียการมองเห็น ได้ผลดีเกินคาด โดยอุปกรณ์มีขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก ต้นทุนการผลิตชุดละ 5,000-6,000 บาท ทำให้ผู้ที่มองไม่เห็นกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น
นักวิจัยไทยเก่งไม่แพ้ใคร คิดค้นนวัตกรรมแว่นตานำทางผู้ป่วยทางสายตา โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค. จากการเปิดเผยของ พ.อ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ว่า เนื่องจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีทหารที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้าในบางราย นอกจากบาดเจ็บทางสมองแล้วอาจสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น ตนจึงร่วมกับคณะนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ประกอบด้วย นายเดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นางสาวเบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พ.อ.นพ.สุธี พานิชกุล ผู้ช่วย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า คิดค้นนวัตกรรม “PMK Glasses Navigator” แว่นตานำทางให้ผู้ป่วยทางสายตาขึ้น ซึ่งแว่นตาดังกล่าวจะมีประโยชน์ช่วยพัฒนาทักษะด้านการเดิน เช่น ช่วยฝึกเดินหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ซึ่งผู้ป่วยทางสายตาที่ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด อุปกรณ์แว่นตานำทางจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินและการใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
ด้านนายเดชฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้ออกแบบแว่นตานำทาง “PMK Glasses Navigator” กล่าวว่าแว่นตานำทางชิ้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกเป็นโครงสร้าง หรือฮาร์ดแวร์ ประกอบด้วยกล่องพลาสติกแบบสี่เหลี่ยม ไมโครคอนโทรลเลอร์ ชุดตรวจจับและวัดระยะทางด้วยคลื่นอัลตราโซนิค ชุดบันทึกเสียง แบตเตอรี่ ขนาด 9 โวลต์ ส่วนที่สองจะเป็นซอฟต์แวร์ โดยใช้ภาษาซีในการเขียนควบคุมการทำงานทั้งระบบ ทั้งนี้ หลักการทำงานผู้ป่วยสวมแว่นตานำทาง เมื่อเคลื่อนไหวตนเองด้วยการเดิน เจอสิ่งกีดขวาง คลื่นอัลตราโซนิคจะตรวจจับและวัดสัญญาณสะท้อนกลับมาพร้อมกับมีเสียงบอกระยะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงและสามารถรับรู้ถึงสิ่งกีดขวางด้านหน้าว่าอยู่ที่ระยะเท่าไรจะได้หลบหลีกได้ ซึ่งแว่นตานำทางนี้สามารถวัดระยะได้ไกลถึง 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 0.2 กิโลกรัม สำหรับระยะเวลาในการใช้งานขึ้นอยู่กับผู้ป่วย โดยแบตเตอรี่ขนาด 9 โวลต์ อยู่ได้ประมาณ 2 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านสามารถเลือกใช้กล่องนำทางขนาดเล็กได้ โดยกล่องนำทางขนาดเล็กนี้จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยทางสายตาที่อยู่บ้านไม่ต้องสวมแว่นตา สามารถถือกล่องนำทางขนาดเล็กไว้ด้านหน้า พร้อมกับกดปุ่มทุกครั้งที่ต้องการวัดระยะทาง ทำให้ผู้ป่วย สามารถได้ยินเสียงและรู้ระยะทางว่ามีสิ่งกีดขวางภายในบ้านได้ สำหรับแว่นตานำทางและกล่องนำทางนี้ ทางคณะผู้วิจัยได้เริ่มนำไปใช้กับผู้ป่วยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว ซึ่งต้นทุนในการผลิตชุดละประมาณ 5,000-6,000 บาท ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08- 6882-1475
...
ทั้งนี้ สิบเอกวชิรศักดิ์ พินิจภาสกร ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการเก็บกู้ระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้จนตาบอดทั้งสองข้าง กล่าวว่า เมื่อเข้ารักษาและฟื้นฟูที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทางคณะผู้วิจัยจึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เนื่องจากตนไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด หลังการนำเครื่องมือเข้ามาช่วยทำให้ตนมีความสะดวก สบายในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น เวลาจะเดินไปไหนทำให้รู้ระยะว่าข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางอะไรหรือไม่ ช่วยป้องกันไม่ให้ตนเดินชน ลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะตามมาได้