(ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม กฎหมายเพื่อปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว...หลังจากบ้านเรา นำระบบนี้มาใช้นานกว่า 40 ปี
เป็นครั้งแรกที่มีการผลักดันเรื่องนี้ได้เป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาบริษัทเอกชนบางแห่ง อาศัยช่องโหว่เข้ามาหากินกับเกษตรกร...ก่อนลงทุนมีการตกลงกันเรียบร้อยดี แต่สุดท้ายพอถึงเวลาขายผลผลิต บริษัทกลับไม่มารับซื้อ กลายเป็นความทุกข์แสนสาหัสของเกษตรกร
ณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ประกาศให้การสนับสนุนรัฐบาลทันที เพราะเป็นประโยชน์เป็นธรรมต่อเกษตรกร และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจของบริษัท
เนื่องจากปัจจุบันระบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ ได้ยึดหลักมาตรฐานสากลตามแนวทางของ UNIDROIT ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก มีการปรับปรุงสัญญาให้มีความโปร่งใส เป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกร บริษัท และผู้บริโภค และยังเปิดให้บุคคลอื่นเข้ามาตรวจสอบวิจารณ์ได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ระบบที่ซีพีเอฟพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และการนำแนวทางสากลมาปรับใช้ มีการปรับปรุงสัญญา เพิ่มการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในบทบาทพันธมิตรธุรกิจ เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรมีส่วนในการตัดสินใจในความเสี่ยงต่างๆ และระบุการจ่ายผลตอบแทนที่มีสิ่งจูงใจเพิ่มเติมให้ด้วย ประชาคมโลกให้การยอมรับ เห็นได้จาก FAO ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของบริษัทไปบรรยายให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ติดต่อกันถึง 2 ปี (2558-2559) และปีนี้การจัดประชุมหัวข้อ Planning and Implementing Contract Farming Operations ทาง FAO ยังได้นำสัญญาคอนแทร็กฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ ไปเป็นแบบฝึกหัดให้ผู้ร่วมอบรม และนำผู้อบรมเข้าเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรตัวอย่างอีกด้วย”
แต่ด้วย พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังเป็นแค่ร่างกฎหมาย ยังจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ ผู้บริหารซีพีเอฟได้แต่หวังว่า สนช.จะช่วยเร่งให้กฎหมายฉบับนี้ได้คลอดออกมาด้วยไว
เพื่อภาครัฐจะได้มีอำนาจจัดการบริษัทที่เอาเปรียบเกษตรกรได้เต็มไม้เต็มมือซะที.
สะ–เล–เต