
บก.น.7 นำร่องนำแอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” เครื่องมือตรวจสอบจับกุมผู้ต้องหา และตรวจยึดยานพาหนะของกลาง ตอบโจทย์ตำรวจสายตรวจ ช่วยจนท.ลดขั้นตอนการทำงาน คาดอีกไม่นานใช้ทั่วพื้นที่นครบาล...
วันที่ 24 ก.ย. 59 พล.ต.ต.อุทาสิน ฤทธิ์เรืองเดช ผบก.น.7 เผยถึงผลการดำเนินการใช้แอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” บนมือถือสมาร์ทโฟนมาใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบจับกุมผู้ต้องหาและตรวจยึดยานพาหนะของกลาง นำร่องในพื้นที่ บก.น.7 สามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญๆ ได้ 5 ราย ตรวจยึดรถจักรยานยนต์ยานพาหนะของกลางได้จำนวน 2 คัน ตามโครงการ Smart Police ที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.เป็นประธานเปิดงานเอาไว้ โดยผลการปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.-24 ก.ย.59 ระยะเวลา 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ ตำรวจสายตรวจในสังกัด บก.น.7 ใช้ แอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” บนมือถือตรวจสอบข้อมูลหมายจับและตรวจสอบยานพาหนะของผู้ต้องสงสัยตามสถานที่สำคัญและบนท้องถนนจนนำมาสู่การจับกุมได้ดังนี้
รายที่ 1 สายตรวจ สน.ตลิ่งชัน สามารถจับกุม นายนรินทร์ มาอยู่ อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดชลบุรี เลขที่ 21/59 ข้อหากระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ในท้องที่ สภ.บางละมุง และหมายจับศาลแขวงสระบุรี เลขที่ 13/59 ข้อหายักยอกทรัพย์ ในท้องที่ สภ.พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยจับกุมผู้ต้องหารายนี้ได้ขณะเดินเตร็ดเตร่อยู่ในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่)
รายที่ 2 สายตรวจ สน.ตลิ่งชัน จับกุม นายธีระพงษ์ ฮวดสุนทร อายุ 27 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดมุกดาหาร เลขที่ 151/59 ลงวันที่ 29 ก.ค.59 ข้อหา เป็นทหารกองเกินหลีกเลี่ยงไม่มาทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร โดยจับกุมตัว นายธีระพงษ์ ได้ขณะแฝงตัวเข้ามาปะปนกับประชาชนในพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) เช่นเดียวกัน
รายที่ 3 สายตรวจ สน.ตลิ่งชัน ร่วมกันจับกุม นายวสันต์ หรือเปรียว เปียสา อายุ 21 ปี พร้อมของกลาง รถจักรยานยนต์ฮอนด้า รุ่นโซนิค สีเหลือง ในสภาพแต่งซิ่ง ติดป้ายทะเบียนปลอม ได้คาด่านตรวจบนถนนพุทธมณฑล สาย 1 โดยการตรวจสอบฐานข้อมูลหมายเลขเครื่องยนต์จาก แอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” พบว่า เป็นรถที่เจ้าของแจ้งหายเอาไว้ในพื้นที่ สน.บางกอกน้อย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.58 จึงแจ้งข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรแก่ นายวสันต์ ก่อนประสานพนักงานสอบสวนมาดำเนินการตามกฎหมาย
รายที่ 4 สายตรวจ สน.บางยี่ขัน จับกุม นายณัฐพงษ์ บุญมี อายุ 27 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดพระโขนง เลขที่ จ.635/2558 ลงวันที่ 29 ธ.ค.58 ข้อหายักยอกทรัพย์ ท้องที่ สน.หัวหมาก โดยจับกุมตัวได้ขณะขับขี่ รถจักรยานยนต์ผ่านเข้าด่านตรวจบนถนนอรุณอมรินทร์ ในลักษณะต้องสงสัยและมีพิรุธ จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ดำเนินการตามหมายจับ
รายที่ 5 สายตรวจ สน.บางกอกน้อย ตั้งด่านบริเวณกลางซอยอิสรภาพ 49 ก่อนทำการจับกุม นายกบ กระต่ายทอง อายุ 27 ปี พร้อม รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า สีขาว ทะเบียน 5 กฆ 5231 กรุงเทพมหานคร ที่ต้องสงสัยใช้ก่อเหตุ อีก 1 คัน โดยนายกบ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี เลขที่ 479/2554 ข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป เหตุเกิดในท้องที่ สน.บุปผาราม
จากการสอบถาม พ.ต.ท.ดร.เศรษฐหาญ เศรษฐภากรณ์ สวป.สน.บางกอกใหญ่ วิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องแอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” กล่าวว่า สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเพิ่งมีการนำมาใช้ในพื้นที่ บก.น.7 เป็นการนำร่องแห่งแรกในประเทศไทยโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลระบบ ส่วนตนเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ข้าราชการตำรวจที่จำเป็นต้องใช้ แต่เดิมการตรวจสอบข้อมูล สำคัญ 4 ประการ คือ ข้อมูลหมายจับ ข้อมูลทะเบียนรถ ข้อมูลใบขับขี่ และข้อมูลประวัติอาชญากรนั้น จะต้องเช็กผ่านระบบ POLIS ทางเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ PC ที่มีอยู่ตามสถานีตำรวจเท่านั้น ซึ่งอุปสรรคก็คือทราบผลช้า ต้องใช้กำลังพลมากในการตรวจสอบ อีกทั้งยังประสบปัญหาระบบล่มอยู่ค่อนข้างบ่อย
แต่ขณะนี้ บก.น.7 ได้มีการนำร่อง เอาแอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” มาดาวน์โหลดลงในสมาร์ทโฟน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระดับรอง สวป.ของแต่ละโรงพัก เพื่อความสะดวกในการใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบฐานข้อมูลสำคัญๆ ได้ทันที ทั้งนี้เนื่องจาก รอง สวป.เหล่านี้ ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ตามจุดล่อแหลมในความรับผิดชอบอยู่แล้ว เพื่อพบบุคคลต้องสงสัยหรือยานพาหนะต้องสงสัยก็สามารถ Login เข้าระบบตรวจสอบด้วย Username และ Password ของแต่ละบุคคลที่แจ้งไว้กับ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เลยถือว่าเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน และลดกำลังพลที่จะใช้ในการปฏิบัติได้มาก
ที่สำคัญทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ป้องกันปัญหาข้าราชการตำรวจนำเอาแอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” มาใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ผิด ใช้ในทางทุจริต หรือนำมาใช้ทางธุรกิจเอาไว้แล้ว โดยทุกครั้งที่ตำรวจนายใด Login เข้าระบบตรวจสอบข้อมูลสำคัญเหล่านี้ ก็จะมีการบันทึกประวัติการเข้าระบบเอาไว้ หากพบว่า การตรวจสอบเป็นเพื่อประโยชน์อื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับทางราชการก็จะทำเดินการทางวินัยกับเจ้าของ Username และ Password รายนั้นได้ทันที
“ขณะนี้ตำรวจระดับ รอง สวป.ทุกโรงพักในความรับผิดชอบของ บก.น.7 ได้ดำเนินการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้ทั้งหมดแล้ว ผลการปฏิบัติงานในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถิติการจับกุมน่าสนใจ จำนวน 5 คดี เบื้องต้นทาง บก.น.5 และ บก.น.3 ก็กำลังดำเนินการนำแอพพลิเคชั่นไปใช้ คาดว่า อีกไม่นานตำรวจระดับหัวหน้าสายตรวจทั่วกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็จะต้องมีแอพพลิเคชั่น “Capsule workspace” นี้เอาไว้ใช้ในสมาร์ทโฟนครบทุกคนเช่นกัน” พ.ต.ท.ดร.เศรษฐหาญ กล่าว