
โรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำของประเทศฟิลิปปินส์ ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกองกำลังพิเศษออกจากเกาะมินดาเนา ทางใต้ของประเทศให้หมด และชี้ว่าสหรัฐฯ เป็นสาเหตุของเหตุความไม่สงบในฟิลิปปินส์...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต แห่งประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย. ว่า เขาต้องการให้กองกำลังพิเศษของสหรัฐอเมริกา ถอนกำลังทั้งหมดออกจากเกาะมินดาเนาในภาคใต้ของประเทศ และกล่าวโทษสหรัฐฯ ว่าทำให้ความไม่สงบในภูมิภาคดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น ถือเป็นการแสดงความต่อต้านการมีอยู่ของทหารอเมริกันในฟิลิปปินส์อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกของดูเตร์เต
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้าไปในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2002 เพื่อทำหน้าที่ฝึกฝน, แนะนำ และให้ช่วยเหลือด้านข้อมูลข่าวกรองและอาวุธแก่กองทัพฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธ อาบูไซยาฟ ในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากฟิลิปปินส์แล้วเมื่อเดือนก.พ.ปีก่อน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าจะเหลือกองกำลังส่วนหนึ่งเอาไว้ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ทหารฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิธีแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมื่อวันจันทร์ นายดูเตร์เตได้อ้างถึง เหตุการณ์กบฏโมโร ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 ซึ่งชนกลุ่มน้อยโมโรต่อสู้กับทหารสหรัฐฯ ที่ขณะนั้นเป็นเจ้าอาณานิคมของฟิลิปปินส์ ว่าเป็นรากเหง้าของความไม่สงบของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ "ตราบเท่าที่เราอยู่กับชาวอเมริกัน เราจะไม่มีวันมีความสงบในประเทศ"

ดูเตร์เตยังได้แสดงภาพที่เขาระบุว่า เป็นชาวฟิลิปปินส์นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีทั้งเด็กและถูกหญิง ที่ถูกทหารสหรัฐฯ สังหารในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 และถูกทิ้งลงในปากปล่องภูเขาไฟที่ บุด ดาโฮ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาทางใต้ของจังหวัดซูลู "กองกำลังพิเศษ พวกเขาต้องไป พวกเขาต้องไปจากมินดาเนา" ดูเตร์เตกล่าว และย้ำด้วยว่า "ผมไม่ได้ต้องการทำให้เกิดรอยร้าวกับสหรัฐฯ แต่พวกเขาต้องไป" โดยที่เข้าไม่ได้กำหนดเส้นตายใดๆ ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
อนึ่ง โรดริโก ดูเตร์เตมีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีกับสหรัฐฯ นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิ.ย. และกล่าวโจมตีนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย นอกจากนี้เขายังวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ หลายต่อหลายครั้ง ที่ยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาแสดงความกังวลต่อมาตรการกวาดล้างยาเสพติดที่ทำให้มีคนถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 2,800 รายของเขา