
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 15 รายได้ไปพบกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอระบายความทุกข์ใจต่อปัญหาที่ผู้ประกอบการเผชิญอยู่ และอยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล และ คสช.โดยเร่งด่วนที่สุด
หลังจากพบปะหารือแล้ว ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลดังกล่าว ก็ได้มอบหนังสือขอความเป็นธรรมผ่าน ดร.วิษณุไปถึงท่านนายกฯด้วยหนึ่งฉบับ แต่ข่าวมิได้แจ้งรายละเอียดว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง
แม้ในเนื้อข่าวจะมิได้ระบุข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอขอความเห็นใจจากผู้ประกอบการดิจิตอลทีวีในครั้งนี้
แต่จากข้อเรียกร้องที่ผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ใน 15 ราย ที่ไปพบ ดร.วิษณุนี่แหละเคยยื่นไว้ ต่อ คสช. เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม มีหลายประการด้วยกัน
มีตั้งแต่ขอให้ขยายเวลาใบอนุญาต ไปจนถึงการผ่อนคลายการชำระค่าธรรมเนียม งวดที่ 3 ที่มาถึงกำหนดในเดือนพฤษภาคม ฯลฯ
เรื่องการชำระค่าธรรมเนียมดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ที่บรรดาผู้ประกอบการดิจิตอลทีวีทั้งหลาย เผชิญอยู่ในขณะนี้ อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย งบโฆษณาของบริษัทห้างร้านน้อยลง ไปจนถึงคนไทยยังดูดิจิตอลทีวีได้ไม่ตามเป้าหมายพื้นที่ที่กำหนดไว้ ทำให้เรตติ้งไม่สูงนัก โฆษณาจึงไม่เข้า ฯลฯ
จึงได้มีข้อเรียกร้องที่จะขอผ่อนผันในงวดที่ 3 ให้ยาวออกไป เพื่อที่ทีวีดิจิตอลจะได้มีแรงต่อสู้อีกยก
เพราะในการทำรายการทีวีนั้น ไม่ว่ารายการประเภทไหนก็ตามจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง...การจะฮึดสู้ให้มีคนดูมากขึ้นทางหนึ่งและสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องลงทุนผลิตรายการที่ดีมีคุณภาพหรือมีความบันเทิงมีความสุข ซึ่งจะต้องใช้เงินใช้ทองจำนวนมาก
เมื่อต้องจ่ายทั้ง 2 ด้านพร้อมๆกันจึงทำให้ผู้ประกอบการเหน็ดเหนื่อยอย่างแสนสาหัสไปตามๆกัน และเป็นที่มาของการขอความเป็นธรรม ขอความเห็นใจรวมไปถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็มาจาก กสทช.ด้วยเช่นกัน
คือไม่ควบคุมเรื่องโครงข่ายการส่งสัญญาณภาพให้เป็นไปตามเป้าหมาย และได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการแจกกล่อง ซึ่งไม่ครอบคลุมและขาดตกบกพร่อง ฯลฯ ดังที่มีเรื่องกล่าวหากันอยู่
ครับ! ต้องยอมรับว่าเมื่อตอนที่จะเปิดประมูลทีวีดิจิตอลกันนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความคาดหวังที่ดี รวมทั้งเชื่อว่าทางภาครัฐคงพร้อมจะดำเนินการทางเทคนิคต่างๆ และการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง--บรรดาผู้ประกอบการจึงลงสนามเข้าร่วมประมูลกันอย่างเต็มที่
แต่พอกาลเวลาผ่านไป ความหวังที่แจ่มใสเริ่มมืดมัวลงด้วยเหตุแห่งปัจจัยหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ ทั้งด้านความไม่พร้อมของการบริหารจัดการภาครัฐ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธได้
ดังนั้น หากจะหาทางช่วยเหลือผ่อนปรนที่เรียกกันว่าเยียวยาอย่างไรได้ ก็น่าจะทำเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ต่อไป
ผมเองก็เห็นใจ กสทช.เพราะเรื่องเงินเรื่องผลการประมูลตลอดจนข้อตกลงต่างๆเป็นเรื่องที่ท่านต้องทำตามกฎหมาย ไม่มีทางที่จะหลบเลี่ยงไปได้แต่อย่างใด
ถึงเวลาท่านก็จะต้องทวงต้องเรียกเก็บ เพราะถ้าไม่ทวงไม่เรียกก็จะกลายเป็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่เสียอีก...มีความผิดอีก
จึงขึ้นอยู่กับว่าท่านนายกฯ ซึ่งมีสิทธิใช้กฎหมายพิเศษหรือมาตรา 44 นั่นแหละครับที่จะตัดสินใจช่วยผ่อนปรนหรือที่เรียกกันว่าต่อลมหายใจยืดอายุทีวีดิจิตอลออกไปอย่างไรหรือไม่?
ช่วยอะไรได้ก็ช่วยเถอะครับ เพราะไม่ใช่ความผิดของใครในเรื่องนี้ เพราะมันเริ่มจากความคาดหวังที่สดใสและงดงามของทุกๆฝ่ายในช่วงโน้นทั้งสิ้น และเมื่อช่วยแล้วรัฐก็มิได้เสียรายได้อะไร ยังได้ทุกบาททุกสตางค์เท่าเดิม เพียงแต่ได้ช้าออกไปเท่านั้น
เท่าที่ผมได้ยินมาผู้ประกอบการทุกบริษัทที่ไปยื่นเจอปัญหาหนักหนาสาหัสจริงๆ หากไม่มีการช่วยเหลือใดๆเกิดขึ้น อะไรกันบ้าง เราอาจจะได้เห็นทีวีจอดำล้มหายตายจากไปอีกหลายช่องในไม่นานนี้.
“ซูม”