ในช่วงเดือนเมษายนแบบนี้ หลายๆ คนคงกำลังคิดถึงวันหยุดยาวประจำปี นั่นคือ "วันสงกรานต์" ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของไทย คนส่วนใหญ่มักจะสนุกเพลิดเพลินกับการสาดน้ำคลายร้อน ในปีนี้ได้หยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน คนกลุ่มหนึ่งคงเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้โอกาสนี้ในการทำกิจกรรมกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ หรือทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต
ก่อนที่ทุกคนจะไปเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานนั้น ทางทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปรู้จัก 5 โรคสำคัญ ที่ต้องระวังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากปี 59 อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความแปรปรวนของอากาศ บางพื้นที่อาจมีอากาศร้อนสลับกับฝนตก ฉะนั้นใครที่ออกไปเล่นสาดน้ำประแป้ง ลองเช็กสุขภาพของตนเองซะหน่อยว่า คุณกำลังเป็นโรคเหล่านี้อยู่รึเปล่า?
เริ่มต้นด้วย โรคไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้วจำนวนกว่า 36,823 ราย เสียชีวิต 2 ราย อาการจะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ทั้งนี้อาการจะทุเลาลงภายใน 5-7 วัน แต่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ การป้องกันโรคดังกล่าว ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม และสวมใส่เสื้อผ้าให้พอเหมาะกับสภาพอากาศ
...
ถัดมาคือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี พบผู้ป่วยแล้วกว่า 13,411 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบได้ทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะมี ไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา หรือจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันยุงกัด ทายากันยุง เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง รวมถึงปิดที่เก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายวางไข่
ต่อด้วย โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ในช่วงเทศกาลแบบนี้หลายคนคงไม่พลาดงานปาร์ตี้หรือเลี้ยงฉลอง จึงควรระมัดระวังเรื่องของอาหารการกินเป็นพิเศษ เนื่องจากหน้าร้อนเชื้อโรคในอาหารจะเจริญเติบโตรวดเร็ว ควรเลี่ยงอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อยดิบ รวมถึงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ สำหรับอาหารเหลือค้างคืนต้องเก็บแช่ตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนกิน หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรกินเด็ดขาด ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ การช่วยเหลือเบื้องต้นคือ ให้สารละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ที่สำคัญควรยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ"
อีกโรคที่หลายๆ คนคงกังวลเป็นอย่างมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นั่นคือ โรคปอดบวม พบผู้ป่วยจำนวน 55,409 เสียชีวิต 72 ราย ผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยอาการไข้ ไอจาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หากไม่รักษาจะเริ่มหายใจเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว อ่อนเพลีย และอาจอาเจียน หากพบลักษณะอาการเช่นนี้ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ พร้อมทั้งดูแลร่างกายของตนเองด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญควรล้างมือบ่อยๆ
ต่อกันด้วยโรคสุดท้าย ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ ฮีตสโตรก หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า โรคลมแดด ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกาย อาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจจะช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจถึงขั้นเสียชีวิต ควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายความร้อนได้ดี เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย
...
หากพบอาการผิดปกติตามลักษณะของโรคข้างต้น ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ก่อนที่เทศกาลแห่งความสุข จะไม่ได้นำความสุขที่แท้จริงมาให้ เพราะร่างกายเป็นสิ่งเดียวที่ต่อให้เรามีเงินมากมาย แต่ก็ไม่สามารถซื้อหรือซ่อมแซมให้กลับมาใช้อย่างเดิมได้ ฉะนั้นหมั่นดูแลและตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกัน กรณีหากพบโรคร้าย จะได้รักษาได้ทันท่วงที
ในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน นอกจากจะเพลิดเพลินกับการเที่ยวแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพทั้งตัวเรา รวมถึงคนรอบข้างด้วยเช่นกัน
...
ข้อมูลจาก : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข