รณรงค์ติดป้ายทุกวัด เชียร์เสนอสมเด็จช่วง สถาปนาเป็นสังฆราช
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยันการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สิ้นสุดกระบวนการของมหาเถร สมาคม (มส.) แล้ว ขณะที่ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” กำชับไม่ให้ถือสาเอาความกลุ่มที่หมิ่น มส. และพระเถระผู้ใหญ่ ปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรม ด้านเครือข่ายองค์กรพระพุทธศาสนา เริ่มรณรงค์ให้วัดติดป้ายสนับสนุนมติ มส. เสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงส่งไปรษณียบัตรไปสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
ความเคลื่อนไหวกรณีการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ที่ยังคาราคาซังอยู่ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 29 ก.พ. หลังได้รับการเปิดเผยจากนายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)ภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ในวาระปกติ ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ที่มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุม ว่า มส.ไม่ได้หารือประเด็นการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพราะถือว่าสิ้นสุดกระบวนการของ มส.ไปแล้ว ส่วนกระแสข่าวที่ออกมาว่า รัฐบาลจะตีกลับมติ มส.เรื่องดังกล่าวนั้น กระแสข่าวก็คือกระแสข่าว เพราะขณะนี้ไม่มีการส่งเรื่องกลับมาแต่อย่างใด และก็ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อน ส่วนเรื่องที่รัฐบาลขอความเห็นเกี่ยวกับทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต้านในเรื่องนี้ พศ.ยังอยู่ในขั้นตอนสรุปข้อมูล ยังไม่ได้ส่งไปถึงมือรัฐบาลแต่อย่างใด
เมื่อถามว่ากรณีเรื่องรถโบราณที่กำลังเป็นประเด็น อยู่ในขณะนี้ทาง พศ.ได้เข้าไปช่วยดูในข้อกฎหมายหรือไม่ นายชยพลกล่าวว่า ในฐานะที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานคณะสงฆ์ไทย ทาง พศ.จึงได้ประสานกับฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ร่วมกันศึกษาข้อกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ดีเอสไอสรุปว่า ขั้นตอนการจดประกอบผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนการซื้อขาย ขณะที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่ใช่ผู้ซื้อขาย แต่ท่านเป็นเพียงผู้รับการถวายมาเท่านั้น ทั้งนี้ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ทางฝ่ายกฎหมายของวัดปากน้ำฯ จะเข้าชี้แจงต่อดีเอสไอถึงกรณีการครอบครองรถคันดังกล่าวว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร อย่างไร ซึ่งจะยืนยันว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เมื่อถามว่าขณะนี้มีการดูหมิ่นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมากทาง พศ.จะมีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นายชยพล กล่าวว่า ทาง มส.ยืนยันเหมือนเดิมว่า ไม่ให้ดำเนินการอะไรกับกลุ่มที่หมิ่น มส. และพระมหาเถระ ซึ่งสมเด็จ พระมหารัชมังคลาจารย์ได้กำชับอย่างต่อเนื่องว่า อย่าไปถือสาหาความปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรม
นายชยพลกล่าวต่อไปว่า ในการประชุม มส.ได้เห็นชอบที่จะเดินหน้าปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามที่รัฐบาลส่งเรื่องกลับมาให้ มส.และ พศ.พิจารณาดำเนินการ โดยเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการ มส. เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาใน 6 ด้าน 1 องค์ประกอบดังนี้ ด้านการปกครอง มอบสมเด็จ พระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม (มหานิกาย) เป็นประธาน ด้านศาสนศึกษามอบ พระพรหมโมลี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย) เป็นประธานด้าน การเผยแผ่ มอบสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม (มหานิกาย) เป็นประธาน ด้านสาธารณูปการ มอบ พระพรหมมุนี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ธรรมยุต) เป็นประธาน ด้านศึกษาสงเคราะห์ มอบพระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส (มหานิกาย) เป็นประธาน ด้านสาธารณสงเคราะห์ มอบพระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา (มหานิกาย) เป็นประธาน และการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก มอบสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธาน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการแต่ละชุดออกมาพิจารณาร่วมกับผลจากการประชุมระดมความคิดเห็น ทั่วประเทศเกี่ยวกับปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาว่าจะมีการดำเนินการปฏิรูปในเรื่องใดบ้างอย่างไรต่อไป
ด้านนายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. ได้รับการประสานจากเครือข่ายองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วประเทศ ในการรณรงค์ให้แต่ละวัดทั่วประเทศติด ป้ายสนับสนุนมติ มส. ในการเสนอรายชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ขณะเดียวกัน จะมีการรณรงค์ไปยังพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศให้มีการส่งไปรษณียบัตรสนับ-สนุนมติ มส.ดังกล่าวไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย