ผมมีข้อเขียนติดพันจากคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์ที่อยากจะนำมาเขียนต่อเสียให้จบในวันนี้ โดยไม่ต้องรอถึงซอกแซกวันอาทิตย์หน้าอยู่เรื่องหนึ่งครับ
คือเรื่องราวของตุ๊กตาหมีแพนด้าจำนวน 1,600 ตัว ที่มีข่าวว่า กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF จะนำมาเรียงรายโชว์ที่ท้องสนามหลวงด้านติดกับพระบรมมหาราชวัง ในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อโปรโมตกิจกรรมของกองทุนดังกล่าวให้คนไทยรู้จักมากขึ้น
ข่าวแนะนำ
จากนั้นก็จะนำไปเรียงรายโชว์ตามสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งของ กทม. และอยุธยา ก่อนจะไปปักหลักโชว์ยาวระหว่าง 24 มี.ค.-10 เม.ย. ที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเอ็มบาสซี
เหมือนอย่างที่เคยเรียงไว้หน้าหอไอเฟล ทะเลสาบเจนีวา หอนาฬิกาฮ่องกง ฯลฯ เป็นภาพข่าวโด่งดังที่มีการกล่าวขวัญถึงทั่วโลก
ท่านที่อ่านคอลัมน์ซอกแซกของผมเมื่อวันอาทิตย์ คงจะจำได้ว่า ผมเขียนตั้งคำถามไว้ตอนหนึ่งว่า มองสิเออร์ กรองจอง (Paulo Grangeon) ศิลปินเจ้าของความคิดในการจัดโชว์หมีแพนด้า แกสั่งทำหมีทั้งชุดของแกไปจาก Thailand หรือ Taiwan กันแน่?
เพราะเคยอ่านเจอในสื่อ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งว่าไต้หวัน อีกฉบับว่าไทยแลนด์...จึงอยากให้ถามคุณกรองจอง ซึ่งน่าจะมาเมืองไทยพร้อมตุ๊กตาหมีแพนด้า 1,600 ร้อยตัวครั้งนี้ด้วย
ปรากฏว่า พอส่งต้นฉบับไปพิมพ์แล้ว ผมกลับค้นเจอคำตอบด้วยตนเอง คือไปเจอข้อเขียนที่อยู่ในเว็บไซต์ของคุณกรองจองนั่นเอง โดยนักเขียนที่ใช้ชื่อว่า David Osborne
คำตอบคือไทยแลนด์ แดนสยามของเราร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับที่เป็นแหล่งกำเนิดของตุ๊กตาหมีแพนด้าก้องโลกชุดนี้
เนื่องจากผมส่งต้นฉบับไปเรียงพิมพ์แล้ว จึงเติมได้สั้นๆในตอนท้ายเท่านั้นเองว่า ตุ๊กตาหมีแพนด้าชุดนี้ เมคอิน ไทยแลนด์ และตั้งใจจะเก็บไว้เขียนต่อในซอกแซกสัปดาห์หน้า
แต่มานึกขึ้นได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นความสำเร็จ ความน่าภูมิใจที่เกิดขึ้นจากฝีมือคนไทย หรือประเทศไทยเรา ผมมักจะนำมาเขียนในวันปกติอยู่เสมอ จึงขออนุญาตที่จะนำเอามาเขียนเสียเลยครับในวันนี้
ข้อเขียนของคุณเดวิด ออสบอร์น ระบุว่า คุณกรองจองซึ่งเป็นศิลปินนักแกะสลักไม้และปั้นเซรามิก เดินทางมาเมืองไทยบ่อยครั้ง และมาเรียนรู้วิธีทำตุ๊กตาด้วยกระดาษในประเทศไทยนี่เอง
คุณกรองจองเข้าไปคลุกคลีและลงมือทำงานกับชาวบ้านไทยที่เปิดโรงงานเล็กๆว่าด้วยการทำตุ๊กตาสัตว์จากกระดาษอย่างใกล้ชิด จนเขามีความรู้ความเชี่ยวชาญไปด้วย
ดังนั้น ในปี 2008 เมื่อผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกแห่งฝรั่งเศสมาขอให้เขาร่วมโครงการรณรงค์หาทุนให้แก่กองทุน เขาจึงนึกถึงหมีแพนด้าซึ่งเป็นโลโก้ของกองทุนสัตว์ป่าโลกอยู่แล้ว...ขึ้นมาทันที
มันจะสวยงามขนาดไหน ถ้าสร้างตุ๊กตาหมีแพนด้า 1,600 ตัว เท่าจำนวนหมีแพนด้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลกทุกวันนี้ แล้วเอาไปวางเรียงรายตามที่สำคัญๆต่างๆของฝรั่งเศส...โดยเฉพาะที่ หอไอเฟล?
เขาออกแบบตัวหมีเอาไว้หลายแบบ แล้วก็หอบแบบทั้งหมดมาทำในโรงงานพื้นบ้านในประเทศไทยแล้วขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ไปถึงปารีส ทันท่วงทีการแสดงโชว์ครั้งแรก และปรากฏว่าเป็นการแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือล้นในเมืองต่างๆของฝรั่งเศส
จากนั้นมากองทุนสัตว์ป่าแห่งเนเธอร์แลนด์และอิตาลีก็สั่งไปแสดงบ้าง...รวมทั้งสิ้นถึงวันที่คุณออสบอร์นเขียนบทความนี้ (ปี 2011) มีการสั่งหมีแพนด้ากระดาษไปจากประเทศไทยถึง 5,300 ตัว
ออสบอร์นเขียนด้วยว่า คุณเปาโล กรองจอง จะรู้สึกปลาบปลื้มทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะมันเท่ากับว่าเขามีส่วนในการสร้างงานและหาเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ “ผู้คน” ที่เขาชื่นชมและให้ความเคารพนับถือ ในประเทศไทย (Paulo was delighted to help bring some work and money to people he likes and respects in Thailand)
นี่แหละครับศิลปินขนานแท้ที่เคารพและให้เกียรติคนไทยที่เป็นครูสอนวิชาปั้นสัตว์ด้วยกระดาษ (Paper Mache) ให้แก่เขาโดยตรง
ขอต้อนรับ 1,600 หมีแพนด้าไทยกระฉ่อนโลกกลับบ้านนะครับ 4 มีนาคม ถึง 10 เม.ย. จะมาโชว์ในบ้านเราหลายแห่งหลายที่ อย่างที่ผมให้รายละเอียดไว้ในคอลัมน์ซูมซอกแซกแล้ว...อย่าลืมแวะไปร่วมภาคภูมิใจกับแพนด้าฝีมือคนไทยด้วยนะครับ.
“ซูม”