“การทำนาแบบที่เราเคยชิน ปล่อยน้ำท่วมขังต้นข้าวนาน ผลที่ตามมาทำให้ผนังเซลล์โคนต้นที่จมน้ำตลอดเวลาจึงอ่อนแอ การแตกกอพลอยน้อยลง แสงแดด ออกซิเจน ก็เช่นกันถูกบล็อกไม่ให้ถึงโคน ทำให้เกิดหอยเชอรี่ ปู เพลี้ย แมลงศัตรูพืชตามมา แต่การทำนาใช้น้ำน้อย ให้น้ำแบบปลูกผักจะไม่มีปัญหาเหล่านี้ ต้นข้าวแข็งแรง ผลผลิตเพิ่ม ประหยัดต้นทุนปราบศัตรูพืช ประหยัดน้ำ แถมอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนตัวการทำโลกร้อนยังต่ำอีกด้วย เพราะไม่เกิดการหมักเหมือนการทำนาทั่วไป”

เป็นข้อดีของการทำนาน้ำน้อยที่ สุพจน์ ทองเสมียน หนึ่งในเกษตรกรร่วมโครงการทดสอบปลูกข้าวน้ำน้อยแบบชาวนามาดากัสการ์ บอกเล่าถึงความสำเร็จในการทดลองปลูกที่ จ.สระแก้ว ได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกมากถึง 6 ตันต่อไร่ โดยใช้น้ำเพียงไร่ละ 500 ลบ.ม. และลงทุนแค่ไม่เกิน 5,000 บาท/ไร่

การทำนาน้ำน้อยแบบนี้ สุพจน์ มองว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด...เริ่มจากการเตรียมดิน ไถกลบพืชที่ขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าตอซัง ฟาง หญ้า ปอเทือง พืชตระกูลถั่ว ถ้าไม่มีใช้ใบไม้ ปุ๋ยอินทรีย์มาหว่านทั่วแปลง ในอัตราไร่ละ 5-10 กระสอบ จากนั้นราดด้วยจุลินทรีย์หน่อกล้วย 5-10 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ไถกลบทิ้งไว้ 20-30 วัน ขั้นตอนนี้ถ้าดินไม่ดีต้องทำหลายรอบ

จากนั้นไถคราด ทำคันนา เดินท่อระบบเทปน้ำพุ่ง ซึ่งจะเหมาะมากกับนานอกเขตชลประทาน นำกล้าอายุ 15 วัน จากแปลงเพาะลงปลูกห่างกัน 40×40 ซม. (อาจใช้เชือกขึงทำแนวเพื่อความสะดวก)...ถ้าเป็นข้าวพันธุ์ที่แตกกอเยอะ ให้ปลูกหลุมละต้น แต่ถ้าเป็นพันธุ์แตกกอน้อย ให้ปลูกหลุมละ 2-3 ต้น

พื้นที่ 1 ไร่ จะลงกล้าได้ทั้งหมด 6,400 หลุม และพึงระลึกเสมอว่า...ต้นกล้า 1 หลุม แตกกอ 200 ต้น เราจะได้ข้าวเพิ่ม 200 รวง

การรดน้ำ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำท่วมขังตามความเชื่อเดิมๆ แต่ให้พอชุ่มเหมือนปลูกผัก และการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไร่ละ 6 ตัน สุพจน์ เปิดน้ำรดต้นข้าวแค่วันละ 10 นาที เฉพาะในช่วงที่ดินดูแห้ง หากฝนตกไม่ต้องรดน้ำ นอกจากจะประหยัดน้ำ ยังบริหารจัดการง่าย ไม่เปรอะเปื้อนดินโคลนเวลาเดินเข้านา

...

มาถึงตรงนี้ คงต้องมาติดตามกันต่อ เขาบริหารจัดการ ดูแลรักษาระหว่างการปลูกยังไง มีเทคนิคอะไรดีๆ ที่ชาวนาจะเอาไปประยุกต์ใช้
กับการทำนาของตัวเองได้.

สะ–เล–เต