มาว่ากันต่อถึงการทำนาแบบ SRI (system of rice intensification) หรือ การทำนาแบบประณีต ใช้น้ำแค่ 500 ลบ.ม. ต่อไร่ พอๆกับปลูกพืชใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลผลิตสูงไร่ละ 6 ตัน...อันเป็นเทคนิคที่ประเทศไทยรับรู้มากว่า 20 ปี แต่ไม่ยอมทำอะไร
จากอดีตเราถูกสอนให้เข้าใจผิดว่า ข้าวเป็นพืชที่ชอบน้ำท่วมขัง...จริงๆ แล้ว ข้าวเป็นพืชตระกูลหญ้าที่สามารถทนน้ำท่วมขังได้มากกว่าหญ้าพันธุ์อื่นๆ เท่านั้นเอง
เมื่อเข้าใจธรรมชาติในหลักการนี้ ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต อธิบายให้ฟังถึงการทำนาแบบนี้ จึงมีความต่างจากการทำนาแบบที่เราเคยคุ้นชินกันมาในหลายเรื่อง
เรื่องแรก เมื่อข้าวมันคือหญ้า การปรับปรุงดินก็ต้องทำให้เหมือนพืชอื่นๆ ทำดินให้ร่วนซุย โดยใช้ใบไม้แห้ง มูลสัตว์ เป็นหลัก
ต้นกล้าก็เช่นกัน จะเอามาปลูกต้องใช้ ต้นกล้าอายุ 15 วัน ไม่เหมือนที่ทำกันมา ใช้ต้นกล้าอายุ 30 วัน...เหตุที่เป็นเช่นนั้น ต้นกล้า 15 วัน ถอนลงแปลงปลูก รากจะไม่ขาด เหมือนใช้ต้นกล้า 30 วัน
ปลูกแบบประณีต เหมือนปลูกผัก แต่ละหลุมไม่ต้องใส่ให้มากต้น (ขึ้นกับพันธุ์ข้าว พันธุ์ไหนแตกกอเยอะ ปลูกหลุมละต้น พันธุ์ไหนแตกกอน้อยปลูกหลุมละหลายต้น) ปลูกเป็นแนวห่างกัน 40-50 ซม. เพื่อให้ข้าวแตกกอได้ง่าย ไม่แย่งอาหารกันเอง และยังช่วยให้การบริหารจัดการแปลงสะดวก กำจัดวัชพืชได้ง่าย...ไม่เหมือนการดำนาของเราที่ใช้ระยะห่าง 20-25 ซม.
ส่วนเรื่อง “น้ำ” พระเอกของเรื่อง ไม่ได้ใช้วิธีไขน้ำมาขังในนา แต่ให้น้ำผ่านระบบท่อรดน้ำตามแนวปลูก ห้ามให้น้ำขังเด็ดขาด ไม่ต้องให้ทุกวัน แต่ให้ดินชุ่มเสมอเหมือนปลูกผัก สังเกตดินเริ่มแห้งเมื่อไรถึงจะให้น้ำ ด้วยการนำท่อพีวีซีปักในดิน แล้วคอยดูว่ามีน้ำขังอยู่ในท่อพีวีซีหรือเปล่า ถ้ายังมีน้ำก็ไม่ต้องให้
...
นี่แหละ หัวใจของการทำนาน้ำน้อย ไร่ละ 500 ลบ.ม. ส่วนการดูแลทำกันยังไงถึงได้ผลผลิตสูงไร่ละ 6 ตัน...มีให้ติดตามกันต่อพรุ่งนี้.
สะ–เล–เต